การทำงานคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ของเรา จริงๆ เริ่มตั้งแต่ปี 2549

ตอนนั้น มีเหตุการณ์น้ำท่วมลาดยาว มีการออกข่าวว่าต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรขณะนั้น คือ คุณธีระ สูตบุตร ก็ปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาหลังจากเคยโดนมติกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้หยุดไปตั้งแต่ปี 2546

ผมเพิ่งลาออกจากอาชีพสอนหนังสือ มาเป็นรองเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็หาข้อมูลเก่าๆ ที่รุ่นพี่เขาทำมา และเข้าไปดูพื้นที่ เจอต้นไม้ใหญ่ และป่าสวยๆ ก็ทำข้อมูลเบื้องต้น พาสื่อมวลชนไปดูพื้นที่ จากนั้นขอเข้าพบท่านรองนายกไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม (นี่ก็ล่วงลับไปแล้ว) ไปอธิบายสภาพความสมบูรณ์ของป่า

ผลคือโครงการถูกชะลอไปก่อน

หลังจากทีเรานำเสนอข้อมูลออกสื่อ และเข้าพบท่ารองนายกไพบูลย์ผู้ล่วงลับ รัฐบาลก็ชะลอโครงการเขื่อนแม่วงก์ไปตั้งแต่ 2549 

แต่กรมชลประทานก็ยังเร่งดำเนินการผลักดันเรื่องเขื่อนแม่วงก์ต่อ โดยนำเงื่อนไขของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมาตีความเรื่องที่ให้ทำแผนจัดการน้ำแบบบูรณาการ ก็ใช้วิธีไปบรรจุโครงการในการประชุมแผนลุ่มน้ำสะแกกรัง ในการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำสะแกกรัง และจัดทำโครงการศึกษาการวิเคราะห์การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) โดยให้ทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รับงานนี้ 

ผมจำได้ว่า ชวนผมไปร่วมประชุมด้วย ณ ที่ว่าการอำเภอลาดยาว

ตอนนั้นผมขับรถไปคนเดียว ขึ้นไปบนหอประชุมเจอพี่แห้ง เจ้าหน้าที่กรมชลที่รู้จักกัน แกทักเสียงดังว่า “งานนี้ต้องมีคุณคนสำคัญ”

ผมสังเกตเห็นคนในห้องมองมาเป็นตาเดียว ตอนนั้นขาสั่น ทำตัวไม่ถูก มองไปเห็นแต่ฝ่ายสนับสนุน เดินๆ สั่นๆ ไปนั่งด้านหลัง

ดูจากที่เขานำเสนอก็เห็นว่ามันไม่มีการประเมินทางเลือกจัดการน้ำทางยุทธศาสตร์แบบอื่น แค่ชงข้อมูลว่าจะสร้างเขื่อนตรงไหนดี 

ระหว่าง ท่วมพื้นที่ป่า กับท่วมบ้านคน

ผมรู้คำตอบของงานประชุมดี แต่ด้วยความมือใหม่ ไม่รู้ควรสู้อย่างไร ก็ได้แต่นั่งใจเต้นสักพักแล้วแอบเดินลงมาขับรถกลับบ้าน

หกปีต่อมา

เมื่อวันที่  9 กันยายน 2556 ผมขับรถไปตั้งต้นเดินเท้าจากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยเริ่มออกเดินตั้งแต่เช้าวันที่ 10  กันยายน เวลาตีห้าห้าสิบนาที 

ก่อนหน้านั้นผมไปไหว้ศาลพระภูมิที่ริมน้ำแม่เรวา ที่ตั้งอยู่บริเวณแก่งลานนกยูง และศาลเจ้าแม่เรวาที่ชายป่า ใกล้ป้อมทางเข้าหน่วย เพื่อสักการะขอพร เพื่อเดินรักษาป่าให้รอดจากเขื่อนที่จะสร้างปิดเขาสบกก และมออีหืด พาดทับบนแก่งลานนกยูงทำให้น้ำท่วมป่าหมื่นสามพันไร่ ด้านตะวันตกให้จมอยู่ใต้น้ำ

อาจารย์ณรงค์ แรงกสิกร แห่งบ้านธารมะยม อำเภอแม่วงก์ ผู้รู้เรื่องราวการจัดการน้ำระดับชุมชนที่ธารมะยม และรู้พื้นที่แม่วงก์กับลาดยาว ราวกับสายน้ำทุกเส้นเป็นลายมือของแก มาสมทบตั้งแต่เช้ามืดเช่นกัน เพื่อนผม ในฐานะ นักอนุรักษ์ในท้องที่ แน่นอนว่าการปรากฏตัวเช่นนี้ ย่อมเป็นการแสดงเจตนาให้เห็นว่าปัญญาชนผู้อาวุโสของท้องถิ่นก็ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนในบริเวณนี้  

ผมและอาจารย์ณรงค์เดินมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบอีกสี่ห้าคน ใช้เวลาสี่ห้าชั่วโมงผ่านเช้ามืดมาจนแดดสาย จนถึงบ้านตลิ่งสูง อันเป็นที่หมายพักกินข้าวเช้ารวบกับมื้อเที่ยง

ผมพบน้องๆ ศิษย์เก่าชมรมอนุรักษ์ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรจน์ประสานมิตร 3 คนโบกรถมารออยู่ที่ตลิ่งสูง แนะนำตัวพร้อมทั้งแสดงเจตนาว่ามาเดินด้วย โล๊ะ ทศ และป้อง ทำให้ผมรู้สึกมีกำลังใจขึ้นอย่างประหลาด หลังจากผ่านยี่สิบกิโลเมตรแรกมาในเวลาร่วมสี่ชั่วโมง

พี่กิ้น อดิศักดิ์ จันทวิชานุวงศ์ นักอนุรักษ์ใหญ่แห่งนครสวรรค์ มาสมทบกับเราที่สี่แยกเขาชนกัน ตอนบ่ายๆ  และชวนกันเดินเลยจุดหมายพักแรมในวันแรกที่วังชุมพร เนื่องจากว่าเราถึงจุดพักแรมของเราเพียงแค่เวลาบ่ายเท่านั้น และพี่กิ้นก็ยังไม่ได้เดินเท่าไหร่เลย แน่นอนว่าพวกเราล้วนคล้อยตามเนื่องจากเรียวแรงยังดีในวันแรก

ไม่น่าเชื่อว่า ระหว่างทางเราจะเริ่มมีกำลังใจจากกลุ่มนักธุรกิจเมืองนครสวรรค์มาร่วมเดิน พร้อมทั้งแสดงเจตนาเลี้ยงข้าวปลาอาหารในตอนเย็น

น้ำจัน หนุ่มกรุงเทพ มาพร้อมเพื่อนหลังจากสอบถามทางจากผมในเฟซบุ๊ก นั่งรถประจำทางมาถึงตอนค่ำๆ เจอกันที่วัดวังซ่าน แสดงเจตนาชัดเจนในการร่วมทาง

วันรุ่งขึ้นเราเริ่มขบวนแต่เช้ามืดผ่านชุมชนวังซ่านเข้าสู่พื้นที่แห่งความขัดแย้งชุมชนลาดยาว ขบวนของเราใหญ่ขึ้นเท่าตัวจากทีมเด็กวัดป่า จังหวัดกาญจนบุรี และกลุ่มนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มาพร้อมน้ำแดงเย็นเจี๊ยบกลางบ่ายร้อน 

เริ่มมีสื่อมวลชนมาร่วมเส้นทางของเรามากขึ้น พาขบวนผ่านปัญหาสารพันจนถึงลาดยาวในเวลาหัวค่ำ ไม่มีปัญหาอุปสรรคจากความขัดแย้งมากเท่าที่คาด แต่กลับเจอการต้อนรับของชาวตลาดอย่างน่าประทับใจ

เราเดินเท้าพักแรมตามวัด โรงเรียน และบ้านมิตรสหายผ่านเมืองอุทัยธานี มายังชัยนาท สิงห์บุรี อยุธยา เข้าปทุมธานี และกรุงเทพฯ ด้วยขบวนที่ยาวขึ้นเรื่อยๆ 

จนกระทั่งก่อตัวเป็นภาพอันน่าตื่นตายิ่งนักในการเดินขบวนยาวนับร้อยคน ในเสาร์อาทิตย์ จากอุทัยไปชัยนาท และไม่เคยมีคนน้อยลงเลยในทุกบ่ายบนถนนสายเอเชีย 

และไม่น่าเชื่อว่าขบวนของเราจะเพิ่มปริมาณเป็นหลายร้อย หลายพัน จนถึงหลักหมื่นในวันสุดท้ายของการเดินทาง มีผู้คนหลากหลายจากทุกวงการมาคอยให้กำลังใจ มิเว้นแต่พี่นิคม พุทรา ยังเดินเป็นเพื่อนจากดอนเชียงดาวลงมาเชียงใหม่ เพื่อให้กำลังใจจากแดนไกล

วันที่ 22 กันยายน 2556 มีคนร่วมขบวนเดินทางไกลร่วมกับผมเพื่อทักท้วงการผ่านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือที่ในคราวนั้นผู้คนเริ่มรู้จักชื่อย่อรายงานว่า EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์

จากจุดเริ่มต้นเพียงไม่กี่คน จากจุดที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ ใช้เวลาสิบสามวันจ้ำเท้ามาถึงกรุงเทพฯ ที่สี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แต่มีคนนับหมื่นมารอรับ และร่วมเดินตามรายทาง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้พื้นที่ระบบนิเวศสัตว์ป่าสำคัญมาพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำ และคงมีผู้คนอีกประมาณการจำนวนไม่ได้ที่ติดตามเอาใจช่วยการแสดงออกครั้งใหญ่ครั้งนั้น

ผู้คนส่วนใหญ่ เข้าใจผิดว่าการเดินครั้งนั้นคือการหยุดโครงการเขื่อนแม่วงก์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราต้องต่อสู้บนโต๊ะประชุม และข้อมูลอีกมากมายถึง 4 ปี กว่ากรมชลประทานจะยินยอมถอนการเสนอรายงาน EHIA ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการเมื่อปลายปี 2560 

หรืออีก 4 ปีกว่าๆ ของการต่อสู้เรื่องนี้ด้วยข้อมูลและการเคลื่อนไหวต่อมาในช่วงรัฐบาล คสช. 

นี่ต่างหากที่เป็นการยุติโครงการจริงๆ 

แต่การยุติโครงการแบบนี้ก็ใช่ว่าจะหยุดความคิดสร้างเขื่อนในป่าได้ เพราะแม้จะมีข้อมูลว่าป่าสมบูรณ์ สัตว์ป่ายังเยอะอย่างไร เมื่อคนยังมีปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง กรมชลประทานเขาก็มีบทบาทในการเสนอการสร้างเขื่อนเข้ามาใหม่ได้ โชคดีที่อธิบดีกรมชลประทานที่ผ่านมาสองสามท่านเริ่มฟังคำทักท้วงในมุมอนุรักษ์เข้าใจมากขึ้น และมีแนวทางให้ทำโครงการขนาดเล็กหลายๆ โครงการแทนการทำเขื่อนขนาดใหญ่

แต่อย่างว่า งานราชการมันมีขั้นมีตอนของมัน โครงการ 14 โครงการขนาดเล็กของกรมชลประทานไม่ได้มาครั้งเดียว 14 โครงการเหมือนโครงการเขื่อนใหญ่เขื่อนเดียว ตามขั้นตอนก็เป็นโครงการระดับจังหวัดที่ขอไป บางปีก็ได้หนึ่งโครงการ บางปีก็ได้สองสามโครงการ ไม่แน่ว่าผ่านไปอีกสิบปีอาจจะยังไม่มีอะไรเลยก็ได้ นั่นก็หมายความว่าในที่สุดก็จะมีคนบอกว่าสู้ทำเขื่อนใหญ่เสียทีเดียวดีกว่า

นายช่างชลประทานนครสวรรค์ อธิบายให้ผมฟังว่า “ราชการขอปีนี้ ปีหน้าอนุมัติ ปีโน้นเริ่มทำ” 

นี่แบบเร็วที่สุดนะครับ

นี่คงเห็นภาพว่าอะไรจะเกิดขึ้นจริงได้แค่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ได้ดี

พวกเราเองก็พยายามหาข้อมูลการจัดการน้ำทางเลือกทางอื่นนำเสนอตลอดมา แต่มันก็ไม่ใช่ว่าวิศวกรกรมชลประทานเขาจะมาเห็นด้วยหรือเอาไปออกแบบทำให้ตามนั้น แม้ว่าส่วนใหญ่ก็อยู่ในโครงการย่อยๆ 14 โครงการนั้นแล้ว

มันก็คงค่อยๆ มา กว่าจะถึงโครงการที่ 5 ไม่แน่ว่าโครงการที่ 1-2 ก็พังไปแล้ว เพราะเป็นโครงการเล็กไม่มีคนดูแล ก็กลับมาว่าทำอย่างไรก็สู้เขื่อนใหญ่ในป่าไม่ได้

เราโชคดีที่องค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นพื้นที่ความขัดแย้งเรื่องนี้อย่าง อบต.ตำบลลาดยาว (คนละหน่วยงานกับเทศบาลตำบลลาดยาว) ไม่นิ่งดูดาย หลังจากสำรวจข้อมูลน้ำอย่างละเอียดแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเราอย่างใกล้ชิด ก็ได้ทดลองจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในปีที่ผ่านมาด้วยตัวเอง โดยการปิดทางน้ำที่จะมาท่วมพื้นที่ให้ผันออกไปทางอื่นถึงสองทาง โดยใช้กระสอบทรายและรถขุดของตัวเองอย่างเต็มที่ จนทำให้ลาดยาวรอดพ้นน้ำท่วมมาได้อย่างประจักษ์ชัดว่าเป็นเพราะการบริหารจัดการ ทั้งๆ ที่ปีที่แล้วฝนมาฟ้ามืดพายุเข้าหลายครั้งก็รอดพ้นมาได้ตลอดรอดฝั่ง 

ปีนี้เขาเสนอโครงการทำจริงได้รับการสนับสนุนงบจากหน่วยงานหลายแห่งในการพัฒนาคลองระบายน้ำ และอาคารบังคับน้ำตามโมเดลที่ได้ทดลองทำปีที่แล้ว จนค่อนข้างมั่นใจว่าปีนี้น้ำไม่ท่วม แถมยังขุดแก้มลิงในพื้นที่ได้อีกมากจนมีแหล่งน้ำบรรเทาภัยแล้ง 

บังเอิญปีนี้ฝนน้อยกว่าปกติ เลยยังไม่ได้ทดลองระบบจากฝนจริงน้ำท่วมจริงว่าจะสู้ได้หรือไม่ได้ แต่เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่ดี และเชื่อว่าจะเก็บน้ำฝนปลายฤดูไว้ใช้ได้อีกด้วย

หากสำเร็จ นี่ต่างหากที่เป็นการหยุดโครงการเขื่อนในป่าแม่วงก์ของจริง

แต่อย่างไรก็ตาม ระบบการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายลงเมื่อครั้งรัฐบาลผลักดันการสร้างเขื่อนแม่วงก์ และโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านในครั้งนั้น ก็ยังคงเป็นบาดแผลเรื้อรังทางสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยไม่มีใครสักคนที่เข้าใจเหมือนผมว่า ตั้งแต่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหลังจากปี 2533 เกิดปรากฎการณ์ปฏิรูปกฎหมายและขั้นตอนการผ่านโครงการที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่าทำได้ ถ้ามีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อนนั้น ก็มีแต่ไม่เข้มเหมือนที่ปรากฏใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 และตอกย้ำขยายฐานความสำคัญให้ปรากฎในรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยคิดว่ารายงาน EIA คงทำยาก และมีกลไกตรวจสอบต่างๆ และหากผ่านจะมีมาตรการผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับที่ทุกคนยอมรับได้ 

หน่วยงานที่รับผิดชอบให้มีกลไกต่างๆ คือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ 

1. รายงาน EIA เป็นเสมือน ‘วีซ่า’ ให้เข้าทำโครงการได้เพราะผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ช่วยกลั่นกรองมาแล้ว ดังนั้น ถ้ามีรายงานนี้ ก็ไม่น่าจะมีใครควรมาค้านอีก วีซ่า EIA นี้ใช้ในการขอมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และเป็นดับเบิ้ลวีซ่าไปผ่านมติครม. และได้งบประมาณก่อสร้างจริง

2. เกิดอาชีพบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และสถาบันบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยบางแห่ง มีรายได้มากมายจากการรับจ้างทำรายงาน EIA จากเงินของผู้เสนอโครงการ และช่วยดูแลจนผ่าน คชก. ที่ว่า (ถ้าไม่ผ่าน บริษัทจะไม่ได้รับเงินงวดหลังๆ) 

3. ไปๆ มาๆ พอเสนอรายงานเข้าไปแล้วกลับไม่สามารถหยุดโครงการได้ แต่คชก. สามารถให้แก้ไขข้อมูลและเพิ่มเติมมาตรการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ (เช่น ทำบันไดปลาโจน ปลูกป่าทดแทน ฯลฯ) เจ้าของโครงการตื๊อไปได้เรื่อยๆ เดี๋ยวก็ผ่านจนได้ ยกเว้นจะขอถอนเรื่องออกไปเอง 

4. แม้กระนั้น การดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มักบกพร่องจากรายงานเนื่องจากไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลให้ทำตามนั้นจริงๆ จังๆ ถ้ามีผลกระทบต้องให้มีคนร้องเรียนจึงมีการหยิบรายงานเล่มหนามาตรวจดูว่าเกิดเพราะไม่ได้ทำตามรายงานหรือไม่

5. รัฐธรรมนูญปี 50 ยกระดับให้มีโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง ต้องทำรายงานเพิ่มเติมในเรื่อง ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เหมือนเดิม 

6. เดิมทีเฉพาะตัวรายงานที่ว่าก็มีคุณภาพพอสมควร มีการกลั่นกรองจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ที่มีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนจากองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่มักต่อสู้เพื่อให้มีการปรับรูปแบบ เพื่อให้ผลกระทบเกิดขึ้นน้อยที่สุด และคนที่เป็นประธานจะตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่เป็นกรรมการระดับบอร์ดสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อความเป็นกลางและพ้นจากอิทธิพลของการเมืองที่น่าจะสั่งข้าราชการมาตามสายงานได้ง่ายกว่า 

7. เมื่อมีการแก้ไขมาก หน่วยงานที่เสนอโครงการมักจะโทษว่าที่ทำโครงการล่าช้า ยังไม่ทำเพราะยังไม่ผ่านรายงานนี้ EIA – EHIA กลายสภาพเป็น ‘ผู้ร้าย’ ในการถ่วงการพัฒนาบ้านเมืองทุกเรื่อง ทั้งการก่อสร้างถนนหนทาง โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เขื่อนต่างๆ กำแพงกันคลื่น การผันน้ำข้ามลุ่ม เหมืองแร่ ท่าเรือ แม้แต่คอนโดสูง โรงแรมใหญ่ที่ถูกชะลอโครงการ 

8. เกือบสิบปีที่ผ่านมาบางรายการที่ประกาศให้ต้องทำรายงานเช่น กำแพงกันคลื่นถูกถอดออกจากการต้องมีรายงาน EIA ไปเลย โครงการอื่นยังต้องทำแต่ก็มีการปรับเปลี่ยนเทคนิควิธี ให้รายงานผ่านง่ายขึ้น โดยเปลี่ยนตัวคชก. ไม่ให้มีผู้แทนขององค์กรอนุรักษ์ไปค้าน และไม่มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ โดยตรง ยกเว้นโครงการที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ มีคนพิจารณาหลักๆ คือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มักเป็นอดีตอาจารย์ หรืออดีตข้าราชการที่เคยทำงานด้านนี้ ซึ่งเสนอตั้งโดย สผ. เองเท่านั้น (เปลี่ยนได้ง่ายๆ ต่างจากผู้แทนหน่วยงานไปเปลี่ยนเขายากกว่า) และที่ร้ายกาจมากคือ เปลี่ยนประธาน จากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก มาเป็นข้าราชการที่บริหาร สผ. เอง (เลขาธิการ-รองเลขาธิการ สผ.) กลไกทางเทคนิคที่ทำให้รายงาน EIA-EHIA ผ่านง่ายขึ้น เริ่มเมื่อปี 2555 หรือเมื่อ 11 ปีมาแล้ว และยังดำเนินต่อมาถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การเดินขบวนครั้งนั้นเป็นช่วงเวลาที่ผมจะไม่ลืมตลอดไป ชั่วชีวิตไม่ว่ากระบวนการต่อสู้สันติ อหิงสาของเราในครั้งนี้จะปรากฏผลเป็นเช่นไร ในวาระครบรอบสิบปีการเดินผมขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ร่วมเดินทางบนเส้นทางเดียวกันอีกครั้ง

ผมเชื่อว่าความทรงจำเปี่ยมคุณค่านี้จะไม่อยู่ที่ผมคนเดียว แต่จะอยู่กับผู้คนร่วมเหตุการณ์ไม่ว่าจะเดินด้วยในช่วงไหน ใกล้ไกลเพียงใด 

ไม่สำคัญเท่ากับวันข้างหน้าที่เราจะร่วมเดินกันไปในขนาดหัวใจที่ใกล้ๆ กัน

ด้วยจิตคาราวะ
ศศิน เฉลิมลาภ

10 ปี เดินเท้าคัดค้าน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์

ร่วมรักษาป่าใหญ่และสิ่งแวดล้อมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

สแกนผ่านระบบ Mobile Banking