จิรายุ เอกกุล กับการจัดทริป ชมวาฬบรูด้า และแนวคิดพาวาฬไทยให้เป็นรู้จักในระดับสากล

จิรายุ เอกกุล กับการจัดทริป ชมวาฬบรูด้า และแนวคิดพาวาฬไทยให้เป็นรู้จักในระดับสากล

แหล่งธรรมชาติทางทะเลกลายเป็นพื้นที่รองรับผู้คนที่แสวงหาการพักผ่อน โดยเฉพาะทะเลอ่าวไทยตอนบน ที่มีระยะทางห่างจากเมืองหลวงเพียง 1 – 2 ชั่วโมง

บริเวณดังกล่าวนอกจากจะเป็นแหล่งพักผ่อนและชาร์ตแบตเตอรี่ให้กับผู้มาเยือนแล้วยังเป็นถิ่นอยู่อาศัยสำคัญของสัตว์น้ำใต้ท้องทะเลลึกที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่

มีหลายคนไม่เคยทราบมาก่อนว่าวาฬบรูด้าเป็นสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน หรืออ่าวรูปตัวกอ () ซึ่งบ้านของวาฬเหล่านี้ กลายเป็นแดนสนธยาของชาวเมือง ที่น้อยคนจะรู้ถึงข้อมูลของพวกมัน

รายการ SEUB INSPIRE ชวนจิรายุ เอกกุล ผู้ก่อตั้งบริษัทนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์ Wild Encounter Thailand พูดคุยเรื่องวาฬบรูด้า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในทะเลอ่าวไทย ในฐานะผู้จัดทริปชมวาฬ และช่างภาพสัตว์ป่า กับเป้าหมายพาวาฬไทย ให้เป็นที่รู้จักกับสาธารณชน
.

Photo : facebook Jirayu Ekkul Wildlife Photography

.

ก่อนหน้าที่จะมาทำธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คุณทำอะไรมาก่อนแล้วคุณมีอะไรเป็นแรงบันดาลใจในการเข้ามาสู่เส้นทางบริษัทนำเที่ยวชมวาฬ

เดิมทีผมเป็นเด็กเกเรไม่เรียนหนังสือ ไม่ชอบห้องสี่เหลี่ยม ก็ลองเล่นกีฬามาทุกชนิดจนรู้จักตัวเองเมื่อเรียนดำน้ำ เพราะมันเงียบมันสงบ และทำให้เราได้เห็นโลกอีกใบหนึ่ง จนพอมีประสบการณ์ก็ประกอบอาชีพเป็นครูสอนดำน้ำ ต่อมาก็เริ่มจับกล้องถ่ายภาพสัตว์ป่า ผมจึงตั้งต้นจากสัตว์ที่ผมชอบที่สุดคือวาฬ

เมื่อเข้าสู่วงการถ่ายภาพสัตว์ป่าเต็มตัว ผมก็เริ่มเข้าไปดูนกโดยคำชวนของสมิทธ สูติบุตร และเริ่มเปลี่ยนโลเคชันถ่ายภาพเข้าไปในป่าลึกบ้าง แต่ก็วนๆ อยู่ทั้งป่าทั้งทะเล

ตอนแรกผมก็ถ่ายเอง เที่ยวเอง ให้หลังจึงเริ่มมาคิด ในเมื่อการงานเราก็ไม่ทำ วิชาการเราก็ไม่เก่งอะไรมากมาย แต่เรามีความถนัดด้านการถ่ายภาพ เราผูกพันกับท้องทะเล ก็เลยคิดหาวิธีในการใช้ชีวิตในอนาคต ผมจึงเริ่มทำบริษัททัวร์ท่องเที่ยวชมวาฬ ซึ่งมันก็กลายเป็นจุดเด่นของทริปเราคือ คุณได้ท่องเที่ยวด้วย และคุณก็ได้สัมผัสธรรมชาติ ผ่านการถ่ายภาพสัตว์ต่าง ๆ
.

ทักษะการเป็นนักดำน้ำและช่างภาพสัตว์ของคุณ สามารถนำมาปรับใช้ในการจัดทริปท่องเที่ยวอย่างไร

การจัดทริปเป็นทักษะติดตัวที่ทำให้ผมใช้มันหากินอยู่ในทุกวันนี้ เพราะผมเป็นครูสอนดำน้ำมาก่อน ก่อนหน้านี้ทำทริปดำน้ำเราต้องบริหารงานท่องเที่ยว การบริหารคน  คือมันไม่ใช่แค่คุณจัดทริป เพื่อไปดูสัตว์ชนิดหนึ่งแล้วจบ แต่คุณต้องบริหารทรัพยากรมนุษย์ได้ รวมไปถึงการเป็นช่างภาพสัตว์ป่าที่ค่อนข้างคลุกคลีกับธรรมชาติมาในระดับหนึ่ง จึงเป็นรากฐานให้ทุกอย่างราบรื่นแบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป
.

ลักษณะการนำเที่ยวชมวาฬแบบนี้ มันเกิดขึ้นและเป็นที่รู้จักในเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไหร่

เมื่อก่อนก็มีคนมาดูวาฬบรูด้าอยู่แล้ว ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในคนจำนวนนั้น แต่เป็นลักษณะของการเที่ยวชมด้วยการเช่าเรือของชาวบ้าน ผมเคยไปดูมาหมดทั้งที่เมืองไทยและต่างประเทศ
.

แล้วในต่างประเทศเขามีลักษณะการจัดทัวร์ชมวาฬเหมือนบ้านเราหรือปล่า

บ้านเขามันต่างกับบ้านเรานะ อดีตเมืองไทยเราต้องไปเช่าเรือประมงเพื่อไปดูอย่างเดียว ไม่มีใครให้ข้อมูลอะไรกับเราได้เลย บางทีเรายังไม่รู้เลยว่าตัวที่เจอคือตัวอะไร ในทางกลับกันในเมืองนอก พอขึ้นเรือปุ๊บก็จะมีคนนำเที่ยวที่คอยให้ข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่างที่พบเจอ วาฬชนิดนี้ชื่ออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร จริง ๆ บ้านเราก็มีข้อมูลชุดนี้อยู่ แต่ก็ไม่มีใครนำมาเล่าเป็นเรื่องเป็นราว ผมเลยรู้สึกว่า มันสามารถทำให้เป็นระบบ ทำให้มันเกิดมูลค่าทางความรู้ได้ ผมจึงได้นำระบบจากเมืองนอกเข้ามา และปรับใช้ในทริปของผม
.

Photo : facebook Jirayu Ekkul Wildlife Photography

.

แล้ววาฬบรูด้าในอ่าวไทยเป็นที่รู้จักในบ้านเรามากน้อยแค่ไหน

ถ้าเมื่อก่อนคุณไม่ใช่นักดูนกหรือช่างภาพสัตว์ป่า คุณจะไม่รู้เลยว่าทะเลบ้านเราก็มีวาฬอยู่ ทุกวันนี้คนก็ยังรู้น้อยอยู่ ซึ่งพอเราเริ่มทำบริษัททัวร์ขึ้นมา มันก็เริ่มมีการพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น ทำให้เขาได้รู้ว่าใกล้ ๆ กรุงเทพฯ ก็มีวาฬอาศัยอยู่นะ
.

หมายความว่าการพบเห็นวาฬบรูด้าที่อ่าวไทยจึงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่

ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะเขาอาศัยอยู่พื้นที่ตรงนี้มานานมากเเล้ว ซึ่งวาฬบรูด้าขณะนี้ถือเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 16 อีกด้วย
.

ในมุมมองของคุณคิดว่าวาฬบรูด้ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างไร และการมีอยู่ของวาฬมันแสดงให้เห็นถึงอะไร

นกเงือกเป็นผู้ปลูกป่า เพราะเขาขี้ออกมาเป็นต้นกล้าของไม้ใหญ่ เพราะฉะนั้น ขึ้วาฬจึงไม่ต่างกันมาก ขี้ของเขาอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย เขากินปลาขนาดเล็ก แต่กินในปริมาณมาก เขาจึงต้องขับถ่ายออกมาจำนวนมาก ขี้อันมหาศาลของเขาจึงกลายเป็นอาหารชั้นดีให้กับแพลงก์ตอนในทะเล ซึ่งแพลงก์ตอนก็จะเริ่มวัฎจักรขึ้นใหม่ เป็นอาหารให้กับปลาต่าง ๆ วนลูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

ยิ่งหากดูพฤติกรรมของพวกเขา จะยิ่งรู้ว่าระบบนิเวศของอ่าวไทยตอนบนยังคงสมบูรณ์ เพราะแม่วาฬมาออกลูกเลี้ยงลูกบริเวณนี้เยอะ ดังนั้นอาหารของพวกเขา จำพวกปลาต้องมีมากพอ ปัจจุบันเรามีวาฬกว่าแปดสิบตัว ซึ่งถ้าวาฬมันหายไป แสดงว่าพื้นที่ตรงนั้นต้องไม่มีอาหาร วาฬจึงกลายเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล
.

Photo : facebook Jirayu Ekkul Wildlife Photography

.

สถานภาพของวาฬในทะเลอ่าวไทยตอนนี้อยู่ในทิศทางไหน

เกือบสิบปีที่ออกเรือ ผมว่ามันดีขึ้น รูปของเส้นกราฟที่ไม่ลาดชันมันหมายถึงประชากรเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันเราก็มีการสูญเสีย มีข่าววาฬตายทุกปี แต่เมื่อเอาไปเทียบกับอัตราการเกิดมันก็ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง

เราก็ไม่รู้หรอกว่าบางช่วงมันหายไปไหนแต่ที่แน่ ๆ เราได้เห็นการเกิดใหม่ของวาฬทุก ๆ ปีที่บริเวณอ่าวไทยตอนบน เขาเข้ามาเลี้ยงลูกหากินสม่ำเสมอ วาฬชนิดเดียวที่เรากล้าเรียกว่า เป็นสัตว์ประจำถิ่นเลย คือวาฬบรูด้าเขาไม่อพยพไปไหนเลย
.

คุณคิดว่าพฤติกรรมของวาฬหรือสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ มีความเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีเดิมหรือเปล่า เมื่อการท่องเที่ยวรุกคืบจากชายฝั่งมาสู่ทะเล

มันปฏิเสธไม่ได้ว่าการท่องเที่ยวย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าตัวใหญ่หรือตัวเล็ก แต่ต่างจากเมื่อก่อนที่ทุกคนทำการท่องเที่ยวโดยไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์หรือข้อบังคับ มันต้องรู้ว่าการเคลื่อนที่ของเรือ ต้องทำยังไง จะเข้าไปยังไง ไม่ให้เขาได้รับผลกระทบมากที่สุด

วันนี้ต่างจากเมื่อก่อนมาก อดีตเราใช้เรือชาวบ้านไปดูโดยไม่รู้ว่าต้องเข้ายังไง แต่ตอนนี้กรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และผู้ประกอบการเองก็พยายามสร้างข้อแนะนำต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งมันยังอยู่ในขั้นตอนการเริ่มเท่านั้น แต่ผมคิดว่าอีกไม่นานคงถูกยกระดับเป็นกฎหมาย เพราะผมเชื่อว่าที่อ่าวไทยตอนบน เป็นจุดที่ดูวาฬบรูด้าที่ดีที่สุดในโลก
.

การเว้นระยะห่างระหว่างเรือกับวาฬมันส่งผลกระทบอะไรต่อลูกทัวร์คุณหรือเปล่า

หลาย ๆ คนมีภาพในหัวว่าจ่ายเงินมาแล้วจะต้องเจอ จะต้องเข้าไปใกล้ ๆ เราก็ต้องบอกเขาตลอดว่าเราเข้าใกล้เขาได้แค่นี้ ใจเย็น ๆ ลอยลำรอเดี๋ยว ถ้าวาฬเขามีความเป็นมิตรเขาเข้ามาใกล้เอง อันนี้มันจึงเป็นคอนเซปต์ที่สำคัญมาก เราต้องปรับความเข้าใจในการเข้าหาสัตว์ให้กับนักท่องเที่ยวทั่วไป

หลาย ๆ คน เข้าใจว่าจ่ายเงินไปก็ต้องเจอ อันนั้นก็เป็นความคิดของคนไปเที่ยวสวนสัตว์ แต่สัตว์ในธรรมชาติเราไม่สามารถกำหนดได้ว่า สองโมงแกต้องกระโดดนะ รอบสิบโมงแกต้องขึ้นมาอ้าปากนะ หัวใจของการเป็นผู้ประกอบการที่ดีคือเข้าใจว่าธรรมชาติคืออะไร แล้วส่งทอดความคิดเหล่านี้ไปให้กับคนที่เพิ่งเริ่มต้นเข้ามาหาธรรมชาติ
.

คุณมีวิธีเยียวยาความผิดหวังของลูกค้าอย่างไร

ผมมักบอกตลอดว่าถ้าออกเรือไปแล้วไม่เจอผมก็ผิดหวัง แต่เราก็ต้องบอกเขาเสมอว่าธรรมชาติไม่ได้มีอะไรที่ร้อยเปอร์เซนต์ เราเป็นเพียงตัวกลางที่จะพาผู้คนเข้าไปหาธรรมชาติเท่านั้น แต่อย่างที่บอกว่าสุดท้ายแล้ว มันก็ขึ้นอยู่กับสัตว์ซึ่งทุกคนก็เข้าใ จมีลูกค้าของผมคนหนึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นเขามาล่องเรือกับผมสองปี มาสี่ครั้งไม่เจอแต่เขาก็มาเรื่อย ๆ ซึ่งครั้งสุดท้ายเขาก็ได้เจอวาฬเ ขาอิ่มเอมกับมันและยืนมองพร้อมกับน้ำตาที่ไหลออกมา
.

Photo : facebook Wild Encounter Thailand

.

อยากให้ช่วยขยายความหน่อยว่า การท่องเที่ยงทั่วไปกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

มันต่างกันอยู่แล้ว สมมติคุณอยากไปแคมป์ปิ้ง คุณจ่ายเงินค่าที่พักนำเต็นท์ไปกาง เอาอาหารเข้าไปทำ เหมือนไปปาร์ตี้สนุกสนาน ตื่นมาเจอต้นไม้ จบทริปคุณแฮปปี้กลับบ้าน คำถามต่อมาคือธรรมชาติได้อะไร นอกจากค่าเข้าชมอุทยานแห่งชาติ แต่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มันคือการที่ธรรมชาติต้องได้อะไรจากเราไปด้วย หนึ่งเลยคุณเข้าไปเที่ยวคุณต้องได้รับความรู้กลับไป เพื่อเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ เกิดการเปลี่ยนแปลง มันหมายถึงการเข้ามาเกี่ยวข้องของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (Citizen Science)

อย่างทริปชมวาฬของผม นอกเหนือจากความรู้สึกดี ๆ ที่คุณจะได้เมื่อออกไปเจอวาฬ คุณยังได้ข้อมูลที่การพบเห็น นำไปสู่การทำงานอนุรักษ์วาฬอีกด้วย ซึ่งเราต้องบันทึกสิ่งเหล่านี้ไว้ตลอด ออกเรือร้อยทริป เราก็ต้องจดไว้ร้อยทริป จะเจอตัวหรือไม่เจอ เจอที่ไหนพิกัดใด มันจะกลายเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญที่สามารถใช้ในงานเชิงวิชาการได้
.

ที่ผ่านมาเราเห็นทั้งข่าวดีและข่าวร้ายที่เกิดขึ้นในท้องทะเลไทย คุณช่วยวิพากษ์สถานการณ์ทะเลไทยในปัจจุบันให้ฟังหน่อยว่า ในสายตาของคนทำการท่องเที่ยวอนุรักษ์เห็นภาพมันเป็นอย่างไร

สถานการณ์ทางทางทะเลตอนนี้มันค่อนข้างวิกฤต แต่ก็ไม่ได้แย่มากมันก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ มันดีที่คนเราเริ่มหันกลับมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเลมากขึ้ นแต่ผมมั่นใจว่ามันสามารถดำดิ่งแย่ลงมากกว่านี้ได้อีก

คือเอาง่าย ๆ  ถ้าเราพูดถึงปัญหาขยะ มันเป็น tip of the iceberg ซึ่งภายใต้ภูเขาน้ำแข็งลูกนั้น มันยังมีอะไรที่น่ากลัวกว่าเรื่องนี้อีกเยอะ ยิ่งเรื่องโลกแม้เรามองไม่เห็น แต่ว่ามันค่อย ๆ ร้ายแรงขึ้นทีละนิด ซึ่งหากย้อนกลับไปสิบปีที่ผ่านมาเราจะรู้ว่ามันน่ากลัวมาก ผมไม่แน่ใจว่ามันสายเกินไปไหมที่เราจะมาโฟกัสกันอย่างจริงจัง สิ่งที่ดีคือเราตื่นตัวกันแล้วในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มากพอ ก็ต้องช่วยกันสุดความสามารถ
.

แล้วแนวทางในการรักษาระบบนิเวศท้องทะเลในวันข้างหน้าคืออะไร

แน่นอนว่าผู้ออกกฎหมายก็คือรัฐ รัฐต้องออกแอคชันเชิงนโยบายมากกว่านี้ เขาต้องมองหาวิธีการแก้ไข หรือยับยังโครงการที่ส่งผลกระทบต่อทะเลที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม

คุณต้องเอาการท่องเที่ยวไว้ทีหลังและเอาธรรมชาติไว้ก่อน ผมพูดในมุมมองของคนทำธุรกิจท่องเที่ยวด้วยนะ อย่างการดูวาฬของเราถ้าวันหนึ่งเรารู้ว่าการที่เข้าไปแล้วมันทำให้วาฬเริ่มเครียด เราก็ต้องหยุดเพราะผมเชื่อว่าธรรมชาติอยู่ได้ถ้าไม่มีมนุษย์ แต่กลับกันถ้าไม่มีธรรมชาติมนุษย์เราจะอยู่ไม่ได้
.

Photo : facebook Jirayu Ekkul Wildlife Photography

.

แล้วการก้าวเข้ามาทำธุรกิจนำเที่ยวแบบนี้ มันทำให้คุณมองสัตว์ป่าผ่านเลนส์น้อยลงหรือเปล่า

ผมรู้สึกว่าตัวเองถ่ายหนักกว่าเดิมอีก เพราะนอกจากถ่ายเชิงสวยงามตามความชอบแล้ว เรายังมีหน้าที่ถ่ายภาพในวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น เชิงการวิจัย บางทีเราถ่ายเพื่อนำไปวิเคราะห์ลักษณะ และอัตลักษณ์ของวาฬแต่ละตัวเพื่อจำแนก แต่แทนที่จะถ่ายตอนมันตอนกระโดดแบบย้อนแสง เพื่อเอาแอคชันสวย ๆ ผมก็ต้องมาโฟกัสแต่ครีบหลังของพวกมัน รวมไปถึงถ่ายภาพให้กับลูกค้า เราทิ้งหน้าที่นี้ไม่ได้ เพราะเมื่อทุกคนได้ไป เขาก็อยากจะมีภาพตัวเองเก็บไว้เป็นความทรงจำ มันเลยถ่ายหนักมากกว่าเดิม
.

ความรู้สึกเวลาเฟลเมื่อออกเรือไปแล้วไม่เจอวาฬ มันมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร กับการที่เราเข้าป่าแล้วไม่ได้ภาพสัตว์ป่าที่เราตั้งใจไว้

เหมือนกันครับ แต่มันมีอีกหลายชีวิตที่อยู่ข้างหลัง ตอนเราใส่หมวกช่างภาพสัตว์ป่าเราไม่เจออย่างมากเราก็ผิดหวังกับตัวเอง แต่ออกเรือทีผมต้องพาคนออกไปราวสามสิบกว่าคน แรงกดมันหนักกว่าเยอะ นี่จึงทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องจิตวิทยา ผมเข้าหาคนไม่เป็น แต่พอต้องให้กำลังใจคนอื่น สิ่งเหล่านี้จึงสอนให้ผมได้เรียนรู้เรื่องการปรับสภาพอารมณ์ของมนุษย์ให้ได้
.

แล้วท้ายที่สุดวาฬเหล่านี้ให้อะไรกับคุณ ทั้งในฐานะนักนิยมธรรมชาติและสตาร์ดอัพท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างคุณ

ใครคือครูของผม ก็คงเป็นพ่อแม่อาจารย์ ช่างภาพรุ่นพี่ทั้งหมด แต่ผมก็พูดได้เต็มปากเลยว่า วาฬบรูด้าก็คือครูอีกคน(ตัว)ของผม เขาให้ทุกอย่างกับผม ทั้งชีวิต ครอบครัว ทุกสิ่งทุกอย่าง เขาสอนสัจธรรมในการใช้ชีวิต ไม่ปฏิเสธเลยที่จะบอกว่าวาฬสร้างรายได้ และผมกล้าพูดเลยว่าผมหากินกับสัตว์ ฉะนั้นสิ่งที่ผมจะตอบแทนเขาได้คือการปกป้องเขา และดูแลเขาให้ดีที่สุด เพราะเขาให้ชีวิตผม
.
.

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ