[ก้าวสู่ปีที่ 31] เริ่มต้นปีที่ 20

[ก้าวสู่ปีที่ 31] เริ่มต้นปีที่ 20

เดือนแรกของปี 2553 ผ่านไปรวดเร็วมาก ความตั้งใจที่จะเรียนรู้เขียนหนังสือลงบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นภาระกิจที่วางเป้าหมายไว้แต่ต้นปีถูกเลื่อนหลายวัน มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นและมีคุณค่ามากมายที่จะเก็บไว้ตั้งแต่ปีใหม่

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ผมเดินทางไปร่วมงานปีใหม่กับคณะกรรมการป่าชุมชนที่บ้านทรัพย์โพธิ์ทอง อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ กับทีมงาน 20 ปี สืบนาคะเสถียร ในงานปีใหม่ของการทำงานย่อมไม่ใช่การสรวลเสเฮเมา แต่หากต้องรับรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นอย่างหลากหลายจากผู้คนที่ร่วมคาดหวังถึงมิติใหม่ในการร่วมกันรักษาทรัพยากรรอบตัวรอบบ้าน และขยายไปสู่ขอบเขตประเทศไทย 

นี่นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่พวกเราต้องรับงานมาทำกันต่อไป แต่สิ่งที่รับความรู้สึกดีๆ ตั้งแต่วันแรกของปีย่อมเป็นกำลังใจจากชาวบ้านที่กลายมาเป็นเพื่อนร่วมงานอนุรักษ์ของเรานั่นเอง

ยามค่ำคืนนั้นแผนการทำงานกับทีมภาคสนามจังหวัดนครสวรรค์และกาญจนบุรีที่ยกคณะไปช่วยได้เริ่มการทำงานตั้งแต่ค่ำคืนแรกของปี ตะวันฉาย หัวหน้าภาคสนามพื้นที่เจ้าภาพเจ้าของเรือนที่เราพักแยกไปพักผ่อนก่อนเพราะต้องเตรียมงานทำบูญในช่วงเช้า ส่วนผมกับพงษ์ศักดิ์แห่งเมืองกาญจน์มีเรื่องราวที่ต้องหารืออีกมาก จนถึงใกล้เช้าก่อนลาจากกัน

หลังจากกลับมาจากนครสวรรค์ ผมรู้สึกกังวลในในงานแรกของวันเปิดทำงานอย่างเป็นทางการของปี ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนามในผืนป่าตะวันตกขับรถนำผมไปประชุมกับทีมงานภาคสนามจังหวัดอุทัยธานี ที่กำลังมีปัญหาในการทำงานหลายเรื่อง ตั้งแต่ขบวนชุมชนจนถึงขบวนคนทำงาน เราค่อยๆ แยกแยะปัญหาออกเป็นส่วนๆ ปัญหางาน ปัญหาคน และปัญหาส่วนตัว ค่อยๆ มองจนถึงรากของปัญหา ถ้าผมประเมินไม่ผิด เราน่าจะยังคงมีหนทางทำงานกับชุมชนในแนวแนวประชิดขอบป่าห้วยขาแข้งต่อไปได้ แม้ว่าในปีนี้ทั้งปีเราจะต้องทุ่มเทความตั้งใจและความรอบคอบเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าก็ตาม

ผมถูกทิ้งไว้กับพาหนะลุยป่าของมูลนิธิ หลังจากที่ภาณุเดช แยกขึ้นรถประจำทางกลับไปปฏิบัติภารกิจที่กรุงเทพฯ ก่อน ทั้งที่ตั้งใจว่าจะทิ้งผมให้ใช้รถของพื้นที่ทำงานต่อ เราจากกันที่ท่ารถอำเภอด่านช้างจังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนที่ผมจะเดินทางย้อนเข้าป่ามาพบนริศ หัวหน้าภาคสนามพื้นที่สุพรรณบุรี ที่นัดหมายให้ผมไปพบเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหน่วยกรึงไกร ที่ปลายลำห้วยขาแข้ง เราขับรถผ่านป่าเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังบ้านไกรเกรียงเพื่อลงเรือต่อไปถึงหน่วยพิทักษ์ป่า

รถของเราที่ดูเป็นปกติดีบนพื้นถนนลาดยาง มีเสียงผิดดังจากช่วงล่างเมื่อล่วงเข้าสู่ถนนดิน เราลงตรวจสอบและมั่นใจว่าเป็นชิ้นส่วนภายนอกที่ไม่สำคัญ นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งเพราะเมื่อใกล้ถึงหมู่บ้านน็อตยึดชิ้นส่วนของปีกนกล้อหน้าหลุดเคลื่อนทำให้ล้อรถแบ่ะแยกจากกัน ทางดินทำให้เราค่อยๆ ขับมาอยู่แล้วทำให้เราหยุดรถทันอย่างปลอดภัย แน่นอนว่าหากเกิดเหตุเช่นนี้บนถนนที่มีความเร็วสูงย่อมหมายถึงอุบัติเหตุใหญ่ที่น่าจะถึงชีวิต ผมนึกถึงภาณุเดชที่เพิ่งเปลี่ยนแผนนั่งรถประจำทางกลับไปเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา นับเป็นเรื่องดีๆ ที่ต้อนรับปีใหม่จริงๆ

ผมเดินขึ้นเนินเพื่อกะระยะที่ต้องแก้สถานการณ์ไปให้ถึงหมู่บ้าน ไม่น่าเชื่อว่ารถเราอยู่ใกล้หมู่บ้านมาก และแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่าบนถนนห่างออกไปไม่กี่สิบเมตรมีรถจอดเสียอยู่ 1 คัน ที่หน้ารถนั้นมีช่างซ่อมจากในเมืองเดินทางมาทำงานอยู่หน้าเรา แน่นอนว่าในเหตุการณ์นี้เป็นความโชคดีซ้อนโชคดีที่สุด เราปรึกษากับช่างจากอู่ตลาดม่วงเฒ่า จนสามารถประคองรถถึงหมู่บ้าน หลังจากเราลงเรือเพื่อไปทำงานเสร็จแล้วอีกหนึ่งวันต่อมารถของเราก็พร้อมพาเราเดินทางกลับด้วยฝีมือของช่างมืออาชีพ หลังจากประชุมกับแกนนำชุมชนไกรเกรียงถึงวิถีชีวิตและการจัดการทรัพยากรที่ต้องทำงานกันในปีนี้ผมกับนริศก็กลับมาถึงสำนักงานที่ท่าลำใยอย่างปลอดภัย

อีกหนึ่งวันต่อมาผมเปลี่ยนเส้นทางไปสู่อำเภอทองผาภูมิ เรามีนัดกับทีมงานกาญจนบุรีที่จะจัดพิธีมอบชุดเสื้อผ้าสำหรับลาดตระเวนให้กับคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านชะอี้ ห้วยเสือ และทุ่งนางครวญ แต่ที่สำคัญคือในงานวันนี้เป็นครั้งแรกที่เสามารถประสานหัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำคลองงูคนใหม่ให้มาทำกิจกรรมอย่างเป็นทางการกับชาวบ้านได้ หลังจากเวทีนั้น แนวทางบนแผนที่ข้อมูลที่เราทำมาหลายปีได้ถูกอธิบายให้หัวหน้าฟังและแผนการปฏิบัติการต่างๆ ก็ถูกวางอย่างชัดเจนในบ่ายวันนั้น

ผมมาพบยุทธชัยหัวหน้าภาคสนามของอุ้มผางในอีกสัปดาห์ต่อมาที่การประชุมเจ้าหน้าที่รวมอย่างเป็นทางการครั้งแรกของปี เราปรึกษาปัญหาตามแนวชายแดนไทยพม่าที่มีผลกระทบจากค่ายพักผู้ลี้ภัยสงคราม 2 ค่ายในพื้นที่อุ้มผาง ปรากฏการณ์ที่ไม่น่าเชื่อคือขบวนชาวบ้านที่เราทำงานด้วยกำลังตื่นตัวและเดินลาดตระเวนเพื่อปกป้องทรัพยากรรอบหมู่บ้านไว้ให้กับลูกหลาน และคนไทยทั้งชาติ ปัญหาในเชิงสิทธิมนุษยชนย่อมต้องคำนึงถึงในการให้ที่พักพิงกับผู้เดือดร้อน แต่กระบวนการป้องกันความเสียหายย่อมต้องพัฒนาเช่นกัน

สามวันที่ผ่านมาเรานัดหมายที่จะอบรมเสริมศักยภาพให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดของมูลนิธิในการปฏิบัติการอย่างเข้มข้นในวาระที่ครบรอบ 20 ปีแห่งการจากไปของพี่สืบ เราหวังว่าในปีนี้การทำงานตลอดมา 20 ปีของมูลนิธิฯ จะสามารถสร้างแนวทางการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกอย่างเป็นรูปธรรมได้ 

ผมหวังว่าพวกเราจะทำสำเร็จเพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นเรื่องที่พี่สืบอยากเห็น และความตั้งใจของพี่สืบย่อมถูกถ่ายทอดต่อมาเป็นความตั้งใจของพวกเราเช่นกัน

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)