สรุปเหตุการณ์ ประกาศ อช.ออบขาน ในพื้นที่จิตวิญญาณชุมชนปกาเกอะญอ 

สรุปเหตุการณ์ ประกาศ อช.ออบขาน ในพื้นที่จิตวิญญาณชุมชนปกาเกอะญอ 

จากการประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำกินของชุมชนชาวปกาเกอะญอ นำมาสู่การประชุมเพื่อหารือและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศดังกล่าว  

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ได้มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ณ ที่ว่าการอำเภอ สะเมิง โดยมีประชาชนจากบ้านแม่ลานคำ หมู่ที่ 6 และบ้านป่าคา หมู่ที่ 11 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ รวมทั้งสิน 9 หมู่บ้าน มีผู้มาเข้าร่วมการประชุมกว่า 300 คน   

ก่อนหน้าการประชุม เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ได้มีการจัดวงพูดคุยกันระหว่างประชาชนในชุมชนบ้านแม่ลานคำและบ้านป่าคา ร่วมกับ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ทนายความ และนักวิชาการ เพื่อมาหารือเกี่ยวกับปัญหาประกาศอุทยานฯ ที่ได้ประกาศทับพื้นที่ป่าชุมชน (หรือที่คนในชุมชนเรียกว่า พื้นที่จิตวิญญาณ) ซึ่งมีขนาดกว่า 24,513 ไร่ 

ชาวบ้านกังวลอย่างมากต่อกรณีพื้นที่ทับซ้อน มีสาเหตุมาจากพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่มีการสำรวจพื้นที่ทำกินของราษฎรตามบทเฉพาะกาลมาตรา 64 และการใช้ประโยชน์จากป่า หรือการเก็บหาของป่า ตามมาตรา 65 ซึ่งจะมีผลต่ออุทยานฯ ที่ประกาศก่อนกฎหมายบังคับใช้เท่านั้น หมายความว่า ถ้าประกาศหลังจากนี้ชาวบ้านในพื้นที่ก็จะไม่ได้รับสิทธิที่พึงได้อะไรเลย ทั้งสิทธิในการเลี้ยงสัตว์หรือหาของป่า เป็นต้น  

ที่ผ่านมาได้มีผลการสำรวจร่วมกันระหว่าง คณะทำงานของพีมูฟและหน่วยงานในพื้นที่ จึงได้พบว่า มีจุดที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์กว่า 300 จุด ทั้งการเก็บของป่าและเลี้ยงสัตว์ อาจกล่าวได้ว่า หากอุทยานฯ ประกาศใช้ประกาศดังกล่าวเมื่อไหร่ จะต้องส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างแน่นอน  

ผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านเรื่องประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน 18 ตุลาคม 2565  

ต่อเนื่องจากการพูดคุยกันเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นำมาสู่การประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เมื่อเวลา 12.30 น. ชาวบ้านผู้มาร่วมประชุม ได้มีการเดินขบวน โดยมีการถือป้ายที่มีข้อความในการเรียกร้องเรื่องการคัดค้านประกาศอุทยานฯ ตั้งแต่เทศบาล ต.สะเมิงใต้ จนถึง ที่ว่าการอำเภอ แล้วจึงเข้าประชุมในเวลา 13.30 น.  

ในการประชุมครั้งนี้ตัวแทนชาวบ้านได้ร่วมกันเสนอความคิดเห็นต่อประกาศของอุทยานฯ โดยมีทิศทางเดียวกัน คือ ไม่เห็นด้วยกับการประกาศอุทยานฯ ตามที่ นันทวัฒน์ เที่ยงตรงสกุล ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่ลานคำ หมู่ที่ 6 ต.สะเมิงใต้ กล่าวว่า “กันพื้นที่ 24,513 ไร่ ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ป่าจิตวิญญาณของชุมชนออกจากการเตรียมการประกาศอุทยานฯ ก่อน เนื่องจากเป็นป่าที่ชุมชนดูแลรักษามานานแล้ว” และศิระ พงศ์วานิช ผู้ใหญ่บ้าน บ้านทรายมูล หมู่ที่ 5 ต.สะเมิงใต้ ได้เน้นย้ำว่า “อยากให้เจ้าหน้าที่มองชาวบ้านเป็นผู้รักษาป่า อย่ามองชาวบ้านเป็นผู้บุกรุกแล้วคิดว่าเจ้าหน้าที่คือผู้พิทักษ์ ถ้ามองเราเป็นผู้บุกรุก เราก็อยู่ในบทผู้ร้าย แต่ถ้ามองเราเป็นผู้รักษาป่า เราจะทำงานร่วมกันได้”  

ทางด้าน นิภาพร ไพศาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน ได้ชี้ให้เห็นว่า ภายในพื้นที่กว่า 141,000 ไร่ของอุทยานแห่งชาติออบขานนั้น ไม่มีพื้นที่ทำกินของประชาชนอยู่แล้ว จากการเตรียมประกาศมาตั้งแต่ปี 2532 ทางอุทยานฯ ก็ได้กันพื้นที่ออกหมดแล้ว ที่สำคัญยังมีป่าอุดมสมบูรณ์อีกเยอะแยะที่ประชาชนยังใช้ประโยชน์ได้  

อย่างไรก็ดี ทางหัวหน้าอุทยานฯ ก็มองว่าเสียงของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญ จึงยืนยันที่จะนำความคิดเห็นและสิ่งที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ไปเสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และอธิบดีต่อไป  

ท้ายที่สุด นันทวัฒน์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่ลานคำ ได้กล่าวคำแถลงการณ์ทิ้งท้าย เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นถึงความสัมพันธ์และความสำคัญระหว่างชุมชนชาวปกาเกอะญอกับป่า แถลงการณ์มีใจความดังนี้  

​“เราขอประกาศต่อสาธารณะว่า พวกเราชาวปกาเกอะญอชุมชนบ้านแม่ลานคำและบ้านป่าคา ต่างได้พิสูจน์ต่อสังคมอย่างชัดแจ้งว่าเป็นผู้ปกป้องสมดุลแห่งการใช้ประโยชน์ ดูแลและรักษาอย่างเกื้อกูลป่าจนมีอุดมความสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งการทำแนวกันไฟ จัดการไฟป่าและหมอกควัน การจัดการพื้นที่ต้นน้ำให้ยังคงมีความชุ่มชื้น ลดปัญหาการพังทลายของหน้าดิน จนเป็นแหล่งพื้นที่ต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่และของประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดนี้พวกเราดูแลจัดการมาตั้งแต่บรรพบุรุษไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วอายุคน แม้กระทั่งผ่านช่วงระยะเวลาที่พื้นที่ของเราถูกนำไปทำสัมปทานป่าไม้โดยรัฐและเอกชน เราก็ยังคัดค้าน และฟื้นฟูจนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งด้วยตัวของชุมชนเอง”  


อ้างอิง  

ภาพประกอบ

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ