แผนที่กับงานอนุรักษ์

แผนที่กับงานอนุรักษ์

หากยังจำกันได้ เมื่อคราวเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 และเหตุการณ์เดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ พ.ศ. 2556 (รวมถึงเหตุการณ์คัดค้านโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อผืนป่าหลายต่อหลายครั้ง) เราจะเห็นภาพศศิน เฉลิมลาภ ออกมาพูดวิเคราะห์ อธิบายเหตุการณ์ สถานการณ์ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ‘แผนที่’

คำอธิบายพร้อมกับการชี้ลงบนแผนที่ทำให้เข้าใจสถานการณ์ได้ง่าย ว่าน้ำอยู่ตรงไหน ไกลหรือใกล้กับเรา หรือในเรื่องเขื่อนแม่วงก์ ก็ทำให้ถึงบางอ้อว่า น้ำท่วมน้ำแล้งถูกอ้างถึงบ่อยๆ นั้นเกิดขึ้นที่ตรงไหน น้ำจากทางไหนที่ท่วมชุมชน แล้วน้ำจากป่าแม่วงก์ไหลไปที่ใด

นั่นเป็นภาพที่ใครหลายคนคงคุ้นเคยในการทำงานจองมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แต่มากไปกว่านั้น แน่นอนว่าในบทบาทของการทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งโดยภาครัฐและองค์กรอิสระต่างนำ ‘แผนที่’ เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน

‘แผนที่’ มีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ชวนมาทำความรู้จักเครื่องมือชิ้นนี้ไปด้วยกัน

ในชีวิตประจำวันเรามักใช้แผนที่ในการค้นหาพิกัด ความใกล้ไกล วางแผนสำหรับการเดินทาง ถ้าสมัยใหม่มีแอพพลิเคชั่นตรวจสอบการจราจรผ่านแผนที่ มีเมนูขีดเส้นเดินทางให้พร้อม (แต่บางทีก็พาหลงออกนอกเส้นทางปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อย)

สำหรับงานอนุรักษ์นั้น เราจะใช้แผนที่ด้วยกัน 2-3 แบบ อาทิ แผนที่ดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ แผนที่ภูมิประเทศ (Topographic Map) เป็นต้น แต่ละแบบจะมีคุณลักษณะ และวิธีการใช้งานแตกต่างกันไป เป็นต้นว่า

แผนที่แบบ ดาวเทียม จะอธิบายลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งแสดงลักษณะผืนผิวดินทำให้เห็นป่าหรือชุมชน มีจุดพิกัดภูมิศาสตร์อ้างอิงได้ เช่นการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเฉพาะด้านการเกษตร ส่วนแผนที่แบบ ภาพถ่ายทางอากาศ จะอธิบายลักษณะของกายภาพพื้นที่ต่างๆ โดยเปรียบเทียบกับภาพถ่ายที่ถ่ายในระยะเวลาที่แตกต่างกันทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนไป เช่น การขยายตัวของชุมชนเมืองเข้าไปในพื้นที่การเกษตร ส่วนด้านอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ ภาพถ่ายทางอากาศทำให้ทราบถึงความหนาแน่นของพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางการอนุรักษ์และวางแผนได้แม่นยำมากขึ้น

สำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า การใช้แผนที่ภูมิประเทศ (Topographic Map) จะช่วยบอกว่า เส้นทางการลาดตระเวนของเขาควรออกแบบอย่างไร เขาไหนสูงชัน หรือแหล่งน้ำอยู่ใกล้ไกล เพื่อช่วยสำหรับการวางแผนการเดินลาดตระเวนต่อไป

นอกจากข้อมูลพื้นฐานแล้ว แผนที่ยังยกระดับความสามารถการใช้งานได้อีก เมื่อมีการบรรจุข้อมูลลงไปบนแผนที่นั้นๆ

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เริ่มนำแผนที่มาใช้อย่างเข้มข้นในงาน โครงการจอมป่า (Joint management of Protected Areas-JoMPA) ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดย เป็นการใช้คนกลางที่เป็น NGO-มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทำงานกระบวนการชุมชนเพื่อจัดการความขัดแย้งในเรื่องป่าไม้ที่ดินโดยเฉพาะปัญหาพื้นที่ชุมชนกลางป่าอนุรักษ์ ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป้าหมายทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจาก 3 ฝ่าย คือ เจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้าน โดยแผนที่จะทำหน้าที่ระบุเส้นขอบเขตชุมชนเพื่อหาความจริงว่าตัวชุมชนเป็นผู้บุกรุกป่าเพิ่มหรือไม่ หรือในทางตรงกันข้ามก็สามารถรู้ได้ว่าตัวชุมชนเองไม่ได้บุกรุกป่าเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ก็ไม่มีสิทธิดำเนินคดีกับชุมชนได้ สิ่งนี้จะทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

นอกจากนี้ยังใช้ในกิจกรรมอื่นๆ อีกเช่นให้ข้อมูลความจริงต่อโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนของพื้นที่ว่า เส้นทางน้ำที่ไหลเข้าท่วม อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ไม่ได้มาจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เพียงแห่งเดียว เพราะจากการเก็บข้อมูลพบเส้นทางน้ำมากกว่า 10 สายไหลผ่านจึงทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งภาพเหล่านั้นจะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อนำมาอธิบายโดยใช้แผนที่ประกอบ

ศศิน เฉลิมลาภ เล่าถึงความสำคัญของแผนที่ว่า สามารถนำมาวางแผนการทำงานได้หลายรูปแบบไม่จำเป็นเพียงเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่นกำหนดที่หมายการเดินทาง การระบุพิกัด การจัดทำฐานข้อมูล และตรวจสอบดูแลทรัพยากร นำเสนองานต่างๆ

ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือกรมป่าไม้ ก็เช่นกัน แผนที่คือเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม และไม่ใช่แค่เพื่อดูว่าป่ามีอยู่เท่าไหร่ แต่ยังหมายถึงการนำไปใช้ในการบริหารจัดการและป้องกันการรุกป่าอีกด้วย เช่น การใช้ในกิจกรรมลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ที่จะนำข้อมูลที่ได้จากการลาดตระเวนมาระบุลงในแผนที่เพื่อดูว่าพื้นที่ตรงไหนพบสัตว์ พื้นที่ไหนมีภัยคุกคามอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ในการเขียนแผนสำหรับการป้องกันในครั้งต่อไป ซึ่งปรากฎบทบาทความสำคัญของการใช้แผนที่เด่นชัดในงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Samrt Patrol)

ในปัจจุบัน แผนที่ถูกพัฒนาระบบรูปแบบเป็นหลายอย่าง โดยเฉพาะการใช้งานในรูปแบบออนไลน์ เช่น ผ่านโปรแกรม Google Earth ได้

การถือกำเนิดของภาพถ่ายดาวเทียมถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการทำแผนที่ และการเชื่อมโยงผ่านระบบอินเทอร์เน็ตทำให้การเข้าถึงแผนที่ทำได้ง่ายขึ้น จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่สำหรับนักสิ่งแวดล้อมยุคปัจจุบันที่ Google Earth ช่วยลดต้นทุนจากการซื้อภาพถ่ายดาวเทียมที่มีราคาสูง และสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงในการดูความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในช่วงเวลาปีต่อปีเท่านั้น โดย Google Earth เข้าถึงได้ง่ายเพียงแค่มีความรู้ภาพถ่ายทางอากาศพื้นฐานก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันที ประกอบกับภาพถ่ายมีความแม่นยำมากเพียงพอด้วยอัตราส่วนความละเอียด ตั้งแต่มาตราส่วนขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดกลาง 1:50,000 และ 1:4,000

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรถือเป็นองค์กรหนึ่งที่นำ Google Earth มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน บนฐานข้อมูล KMZ ซึ่งในปัจจุบัน มูลนิธิสืบฯ กำลังพัฒนารูปแบบการใช้แผนที่เพื่องานอนุรักษ์ผ่านหน่วยงานต่างๆ ทั้งกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ เพื่อสร้างแผนที่ที่เหมาะสมแก่การดูแลและบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศให้คงอยู่สืบต่อไป

 

ร่วมรักษาผืนป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านแอพพลิเคชั่น SCB EASY

 


เรื่อง อาคม พรรณนิกร เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร