รัฐบาลต้องทำตามข้อตกลงกรณีปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะให้ครบถ้วน

รัฐบาลต้องทำตามข้อตกลงกรณีปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะให้ครบถ้วน

6 ธันวาคม ตัวแทนชาวบ้านจาก อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จำนวน 45 คน ได้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามสัญญาจากรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่รับปากว่าจะตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะ หรือโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 

โดยก่อนหน้านี้ ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักเคลื่อนไหวและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อรอคำตอบของ พลเอก ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อตัวแทนชาวบ้าน ในฐานะผู้แทนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเดินทางมาสมทบที่หน้าทำเนียบ หลังอ่านแถลงการณ์เรื่อง “รัฐบาลต้องทำตามข้อตกลงกรณีปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะให้ครบถ้วน” และประกาศเปิด “หมู่บ้านลูกเลจะนะรักษ์ถิ่น” ที่หน้าทำเนียบเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 6 ธันวาคม จากนั้นเวลาประมาณ 21.00 น. กลับมีรายงานว่า ตำรวจ 200 นาย ได้บุกรวบ ชาวบ้านจำนวน 36 ที่หน้าทำเนียบ ตามรายงานของ สำนักข่าวกรีนนิวส์ นอกจากนี้ ยังได้ปิดไฟพื้นที่ และกันสื่อถ่ายทอดปฏิบัติการ

ในเวลา 01.00 น. สำนักข่าวกรีนนิวส์ รายงานเพิ่มเติมว่า ชาวจะนะ 36 ราย ที่ถูกควบคุมตัว ยังไม่ทราบชะตาชัด และยังคงไร้การชี้แจงใดๆ 

แถลงการณ์ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ฉบับที่ 1 

เรื่อง รัฐบาลต้องทำตามข้อตกลงกรณีปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะให้ครบถ้วน

รัฐบาลได้ทำบันทึกข้อตกลงไว้กับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 เพื่อเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา  ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ประการ 

คือ 1. รัฐบาลจะตรวจสอบกระบวนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ถึงความไม่ปกติของโครงการทั้งหมด 

2. รัฐบาลจะจัดให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA. แบบมีส่วนร่วม ที่จะมีคณะศึกษาอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้รัฐบาลมีเหตุผลทางวิชาการประกอบการตัดสินใจเดินหน้าหรือยุติโครงการต่อไป 

และ 3. รัฐบาลสัญญาว่าจะยุติการดำเนินงานทุกอย่างไว้ก่อนจนกว่าการดำเนินการในข้อ 1 และ ข้อ 2 จะแล้วเสร็จ ซึ่งพวกเราทั้งหมดยอมรับในข้อตกลงดังกล่าวและพร้อมให้ความร่วมมือทุกอย่างด้วยดี 

1 ปี ที่ผ่านมา พวกเราพยายามเฝ้ามองการดำเนินงานของรัฐบาลอย่างใจเย็น แต่สิ่งที่พบเห็นคือความหลอกลวง และเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง และข้าราชการภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่ประกาศตนว่าเป็นชายชาติทหาร อุทิศตนทำงานเพื่อบ้านเมืองภายใต้สโลแกนที่ว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

คำสัญญาลมๆ แล้งๆ ของท่านในครั้งนั้น เป็นต้นเหตุให้พวกเราเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นต้องเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในวันนี้ เพื่อจะมาบอกกับนายกรัฐมนตรีว่า ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา พฤติกรรมการบริหารงานของศูนย์อำนายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ยังตั้งอยู่บนฐานผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและนักการเมืองบางคนเป็นที่ตั้ง ไม่เคยสนใจใยดีต่อข้อตกลงที่ทำไว้กับพวกเรา และยังคงสนุกอยู่กับการสร้างความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน โดยใช้วาทกรรมการพัฒนาอันเลื่อนลอยไร้หลักวิชาการเป็นอาวุธทิ่มแทงเสมือนเราไม่ใช่ประชาชนบนผืนแผ่นดินนี้ พร้อมยังหยามเหยียดสำนึกรักบ้านเกิดของพวกเราว่าเป็นการขัดขวางความเจริญของประเทศ ดูหมิ่นความเป็นชาวประมงพื้นบ้านของพวกเราว่าเป็นความล้าหลัง เป็นส่วนเกินของความเจริญในความหมายเฉพาะของพวกท่าน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลปล่อยให้ ศอ.บต. ผลักไสและหวังจะทอดทิ้งพวกเราไว้ข้างหลัง

 การตัดสินใจกลับมาที่ทำเนียบรัฐบาลในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความคับแน่นของความรู้สึกที่เกินจะอธิบาย ที่เกิดขึ้นจากการกดทับของพวกท่านครั้งแล้วครั้งเล่า หากแต่มันกลับแปรเปลี่ยนเป็นพลัง ที่ทำให้พวกเรากล้าพอที่จะเผชิญกับอำนาจชั่วร้ายอย่างไม่หวาดหวั่น และจากนี้ไปเราจะไม่ยอมให้พวกท่านหลอกลวงอีกเป็นครั้งที่สอง สิ่งที่จะทำให้พวกเรากลับบ้านได้มีทางเดียวเท่านั้นคือ รัฐบาลต้องทำตามคำสัญญาที่เคยให้ไว้กับพวกเราเมื่อปีที่แล้วอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และในครั้งนี้พวกเราขอกำหนดรายละเอียดข้อตกลงนั้นให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อมิให้พวกท่านบิดพลิ้วได้อีกต่อไป ดังนี้

1. รัฐบาลต้องตั้งกลไกตรวจสอบความผิดปกติของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะใหม่ โดยจะต้องตรวจสอบในทุกมิติ อย่างเช่น เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมประชาชน เรื่องการใช้แผนปฏิบัติการโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและรังวัดรูปแปลงโฉนดที่ดินให้เป็นมาตรฐานเดียวกันอันมิชอบ และการใช้งบประมาณของ ศอ.บต. ในโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกลไกนี้จะต้องเป็นกลาง เชื่อถือได้ และมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อแล้วเสร็จจะต้องแจ้งผลการตรวจสอบให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการด้วย

2. รัฐบาลต้องจัดการศึกษาโครงการในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA. แบบมีส่วนร่วม และต้องดำเนินการโดยนักวิชาการที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งคณะศึกษานี้ต้องไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ ศอ.บต.  

3. ระหว่างนี้ รัฐบาลต้องสั่งให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้ไว้ก่อน จนกว่าการดำเนินการตามข้อ 1 และ ข้อ 2 จะแล้วเสร็จ 

ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ดังกล่าว จะต้องออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือเป็นมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

 

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code