นิคมอุตสาหกรรมจะนะ “หายนะ” ที่ไม่ควรเกิด เหตุผลที่ชาวบ้านต้องการหยุด “ผังเมืองสีม่วง”

นิคมอุตสาหกรรมจะนะ “หายนะ” ที่ไม่ควรเกิด เหตุผลที่ชาวบ้านต้องการหยุด “ผังเมืองสีม่วง”

โครงการเมืองต้นแบบ 4 หรือโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ผุดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 .. 62 ครม.อนุมัติให้มีการขยายโครงการฯ ไปสู่เมืองที่ 4 .จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นผลพวงจากการใช้อำนาจของรัฐบาล คสช. อนุมัติโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมอบอำนาจให้ ศอ.บต. เป็นผู้ดำเนินการเมื่อปี 59 

โครงการนี้ใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อ.จะนะ จำนวน 16,753 ไร่ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ โดยอ้างว่าจะจัดสรรพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม 6 ประเภท คือ พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา 4,253 ไร่ พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก 4,000 ไร่ พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ 2,000 ไร่ พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า 2,000 ไร่ และพื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย 500 ไร่

ผังบริเวณพื้นที่ดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

เหตุผลที่ 1 ประชาพิจารณ์หรือพิธีการ เปิดเวทีรับฟังแต่ไม่ฟังเสียงคนคิดต่าง

โครงการถูกอนุมัติแบบปุบปับ ไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แม้แต่เวทีประชาพิจารณ์ยังกีดกันคนเห็นต่าง เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 63 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อของ ศอ.บต. ได้จัดเวทีประชาพิจารณ์ในพื้นที่โรงเรียนจะนะวิทยา มีประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น ดูเหมือนจะราบรื่นดี แต่อีกฟากหนึ่งพบว่าผู้คัดค้านบางส่วนรวมถึงแกนนำคนรักษ์ถิ่นจะนะ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 50 นาย กีดกันไม่ให้เข้าร่วม จึงจำเป็นต้องจัดเวทีคู่ขนานและอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เอาผังเมืองสีม่วง บริเวณสี่แยกวงเวียนจะนะ 

ก่อนหน้าที่ชาวบ้านจะเดินทางมาถึงเวทีประชาพิจารณ์ก็ไม่วายถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม ด้าน iLaw อ้างแหล่งข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 03.00 น. มีบุคคลไม่ทราบฝ่ายขับรถยนต์เข้ามาที่ชุมชนบ้านสวนกงและจอดเฝ้าติดตาม ในเวลาต่อมา มีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาผลัดเปลี่ยนกับกลุ่มแรก ขณะที่ชาวบ้านจากจังหวัดสตูลที่เดินทางมาให้กำลังใจกลุ่มคัดค้านกลับถูกสกัดตลอดเส้นทาง

ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก ใจความตอนหนึ่งระบุว่า การจัดทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้ไม่อาจยอมรับได้ว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การรับฟังความคิดเห็นต้องดำเนินการตามแนวทางที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมประกาศกำหนด แต่ทว่ารัฐบาลโดย ศอ.บต. กลับอาศัยกฎหมายพิเศษดำเนินการ มีการระดมตำรวจและฝ่ายความมั่นคง รวมทั้งการนำกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค4 สน.) ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคง แต่กลับมาขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจที่ผิดหน้าที่ ไม่อาจสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการดังกล่าวได้แต่อย่างใด การจัดเวทีประชาพิจารณ์ครั้งนี้จึงเสียเปล่า ขัดต่อกฎหมาย 

การจัดเวทีประชาพิจารณ์เป็นเพียงฉากบังหน้า ที่ทางภาครัฐพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งที่ตัวเองเชื่อโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน 

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เอาผังเมืองสีม่วง

เหตุผลที่ 2 หากมีการศึกษาผลกระทบจะพบว่า ทะเลจะนะคือแหล่งอาหาร และสายพานแห่งอาชีพที่หล่อเลี้ยงคนจะนะ

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมภาคใต้ ได้กล่าวถึงผลกระทบในระยะยาวหากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรม นั่นคือโอกาสในการประกอบอาชีพอย่างประมงพื้นบ้าน ซึ่งมันจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนจะนะไปอย่างสิ้นเชิง

“นิคมอุตสาหกรรมครั้งนี้ได้กวาดพื้นที่ที่ติดกับทะเลทั้งหมดของอำเภอจะนะ ที่กระทบแน่ ๆ ก็คือการประมงทั้งหมดจะค่อย ๆ หาย ทะเลที่เคยจับปลาได้ก็จะหมดไป การมาของท่าเรือใหญ่ 3 ท่า จะทำให้สัตว์ทะเลต่าง ๆ หนีไปด้วย เพราะมีเรือเข้าออกตลอดเวลา 

คำว่าประมง เป็นสายพานแห่งอาชีพ มันไม่ได้มีแค่ชาวบ้านที่คอยจับปลา แต่ยังมีพ่อค้าคนกลางที่เอาปลาไปส่งตลาด แม่ค้าขายปลาที่อยู่ในตลาด ชาวบ้านที่เอาปลามาทำปลาเค็ม ปลาแห้ง กะปิ มีคนซ่อมเรือ ซ่อมเครื่องยนต์เรือ และชาวบ้านที่ทำอวนปลา คนที่อยู่ติดริมทะเลเป็นคนจับปลาก็จริง แต่คนที่ห่างจากทะเลออกมานิดหนึ่งก็จะเป็นสายพานของการทำประมงพื้นบ้าน คนเหล่านี้ได้รับผลกระทบแน่ ๆ หากมีการสร้างนิคมขึ้นมา”

เหตุผลที่ 3 ปกป้องบ้านเกิด ไม่ใช่หยุดความเจริญของประเทศ

“คนที่ได้ประโยชน์ครั้งนี้ไม่ใช่ชาวบ้านแต่เป็นชนชั้นนำและบริษัทที่รับเหมาโครงการครั้งนี้”

ถ้าภาครัฐมีความเห็นว่าพื้นที่จะนะเหมาะที่จะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม รัฐก็ต้องให้เกียรติคนในพื้นที่ เราควรมานั่งออกแบบและพูดคุยร่วมกัน ไม่ใช่กวาดพื้นที่ริมทะเลไปทั้งหมด แล้วชาวประมงจะอยู่อย่างไร หากหารือแล้วตกลงกันไม่ได้ ต่างคนต่างควรจะกลับไปทำการบ้านแล้วค่อยกลับมาถกด้วยข้อมูลไม่ใช่ด้วยอำนาจที่มี ถ้ามีการพูดคุยกัน นิคมอุตสาหกรรมในครั้งนี้มันอาจจะได้สร้างก็ได้ แต่มันจะเป็นนิคมที่ชาวบ้านรับได้

ชาวบ้านเคยตั้งคำถามกับ ศอ.บต. ว่า การเข้ามาของนิคมอุตสาหกรรมจะสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านจำนวนหนึ่งแสนตำแหน่ง ในจำนวนนี้มีตำแหน่งอะไรบ้างแต่ก็ยังไม่ได้คำตอบ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่านิคมนี้เป็นนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งหน้าอนาคต เป็น SMART City หากเป็นลักษณะนี้ก็จะมีการใช้ AI ซะส่วนใหญ่ แต่การใช้แรงงานจะน้อย 

แรงงานอาจเป็นแรงงานขั้นสูงอย่างวิศวะกร ยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าจะนะ 700 ไร่ มีการจ้างแรงงานเพียงร้อยกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นวิศวะกรและนายช่าง โอกาสที่ชาวบ้านจะเข้าไปทำงานก็ยังมีน้อย เนื่องจากไม่สอดคล้องกับทักษะเดิมที่เขามี

วันนี้รัฐไม่ถอยอยู่แล้ว ชาวบ้านก็ไม่ยอมถอยเหมือนกัน เพราะเขาก็ต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิด ตอนนี้เราทำได้แค่คัดค้านไม่ให้ผังเมืองเปลี่ยนเป็นสีม่วง” นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมภาคใต้

ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป นโยบายจากบนลงล่างคงไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ และหากรัฐไม่ยอมฟังเสียงของคนเล็กคนน้อย ก็รังแต่จะเพิ่มความขัดแย้งมากกว่าเดิม ผลของการต่อสู้ของชาวจะนะเพื่อหยุดผังเมืองสีม่วงวันนี้ ไม่ใช่คำว่าแพ้หรือชนะ แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาต้องการหยุดอำนาจรัฐที่ปราศจากชอบธรรมต่อการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน

 


ที่มา ประชาไท รับฟังความเห็นนิคมฯ จะนะ กลุ่มค้านถูกคุกคามหนักระบุไม่ขอร่วมเวทีไม่ชอบธรรม
iLaw การรับฟังความเห็นนิคมจะนะฯ ด้านกลุ่มค้านถูกคุกคามหนัก ลั่นไม่ขอร่วมเวทีไม่ชอบธรรม
บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร