เทศกาลลอยกระทง : หรือสิ่งที่เราทำมันไม่ใช่การขอขมาพระแม่คงคา ?

เทศกาลลอยกระทง : หรือสิ่งที่เราทำมันไม่ใช่การขอขมาพระแม่คงคา ?

ภาพผู้คนที่ต่างทยอยมาริมท่าน้ำ ถือวัตถุสิ่งหนึ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาคล้ายภาชนะที่ถูกเย็บด้วยใบตอง มีฐานเป็นต้นกล้วยปักด้วยธูปหอมและเทียนไข เมื่อพร้อมแล้วต่างคนต่างยกสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวขึ้นเหนือศรีษะ บ้างวางอยู่กับพื้นดินแต่พนมมือเสมอหน้าอก กล่าวคำขอขมา และอาราธนาขอพร จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตในสายวารี ก่อนจะลอยสิ่งประดิษฐ์นั้นลงสู่แม่น้ำ 

จากการบรรยายข้างต้นเชื่อว่า ผู้อ่านทุกท่านคงเคยได้เห็นภาพเหล่านี้อยู่เป็นประจำในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งหากหยิบยกประเด็นเรื่อง ‘เทศกาลลอยกระทง’ มาพูดคุยกัน นอกจากประเด็นเรื่องความเชื่อความศรัทธาแล้ว คงต้องพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย พูดถึงประวัติ การลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ โดยจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ของทุกปี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันมายาวนานว่า ประเพณีนี้มีจุดเริ่มต้นในสมัยใดกันแน่ ?

จากข้อมูลที่ถูกระบุในศิลาจาลึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ไม่ได้มีการระบุคำว่า ลอยกระทงแต่อย่างใด มีแต่ ‘เผาเทียน เล่นไฟ’ ที่มีความหมายอย่างกว้าง ๆ ว่าเป็นการทำบุญไหว้พระ ดังนั้นจึงไม่มีหลักฐานยืนยันชัดว่า การลอยกระทงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใด 

ภาพ : https://www.posttoday.com/life/travel/571877

แต่คำว่าลอยกระทงเริ่มเด่นชัดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่โปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีการสำคัญ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร จึงมีพระราชนิพนธ์หนังสือตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ โดยจะสมมุติฉากในเรื่องเป็นสมัยสุโขทัย เมื่อระยะเวลาผ่านไป การทำกระทงด้วยใบตองก็แพร่หลายไปที่ต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน

แม้การลอยกระทงจะไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน แต่กระนั้นเทศกาลลอยกระทงก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เห็นได้จากมหรสพอันคึกครื้น เสมือนเป็นงานเฉลิมฉลองที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน สิ่งหนึ่งที่การันตีความนิยมของเทศการลอยกระทงคือ จำนวนของกระทงในแต่ละปีที่มากมายมหาศาล

ย้อนกลับไปดูสถิติจำนวนกระทงนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 พบว่า หลังคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปี เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกระทงในแม่น้ำ ลำคลอง สวนสาธารณะ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 แสนใบ โดยในปี พ.ศ. 2557 มีจำนวนสูงสุดอยู่ที่ 982,064 ใบ โดยสามารถแบ่งเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ จำนวน 885,995 ใบ กระทงที่ทำจากโฟม 96,069 ใบ

ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนจะมองว่า กระทงส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักจาก ต้นกล้วย ใบตอง หรือกาบมะพร้าว ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดมลภาวะในแม่น้ำลำคลอง 

คุณผู้อ่านลองจินตนาการว่า กระทงธรรมชาติเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาย่อยสลายถึง 14 วัน ซึ่งหากไม่มีการจัดเก็บ กระทงเหล่านี้ย่อมสร้างปัญหาทำให้น้ำเน่าเสีย รวมไปถึงกีดขวางทางไหลของน้ำ และสิ่งที่หลาย ๆ คนมองข้ามข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า กระทงเหล่านี้ไม่ได้ถูกประดิษฐ์ออกมาด้วยวัสดุธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีส่วนประกอบที่เป็น ‘สิ่งแปลกปลอม’ ในระบบนิเวศ อาทิ เข็มหมุน เข็มเย็บกระดาษ ก้านธูป

ดังนั้นกระบวนการต่อมาหลังการเก็บจึงต้องเพิ่มขั้นตอนการแยกขยะเข้าไปด้วยใน ซึ่งหากกระทงเหล่านี้ไม่ถูกเก็บสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ย่อมกลายเป็น สิ่งตกหล่นเหลือค้างอยู่ในธรรมชาติ ที่นี้คงไม่ต้องนึกถึงกระทงที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมในแบบต่าง ๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการที่เข้าใจผิดของมนุษย์ 

ภาพ : https://travel.trueid.net/detail/3dpN8LnJPk3

หลาย ๆ คนมีแนวคิดที่ว่า กระทงที่ทำมาจากขนมปังปอนด์ หรือกระทงที่ทำมาจากน้ำแข็ง จะไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้เขียนมองว่า กระทงดังกล่าวได้สร้างปัญหากับระบบนิเวศโดยที่เราไม่รู้ตัว สำหรับกระทงที่ทำมาจากขนมปัง ตามข้อมูลระบุว่า หากในพื้นที่ที่ไม่มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ หรือมีสัตว์น้ำที่เข้ามากินขนมปังเป็นจำนวนน้อย ส่งผลให้ให้ขนมปังยังคงสภาพเดิม และต้องใช้เวลาย่อย 3 วัน ทำให้แหล่งน้ำเน่าเสีย

เนื่องจากเมื่อขนมปังเปื่อยยุ่ยจะทำให้น้ำมีค่าบีโอดีหรือค่าสารอินทรีย์สูง  ขณะที่กระทงน้ำแข็งเองยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศ ไม่ต้องพูดถึงกระทงที่ทำมาจากโฟมเลยว่า จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน การันตีจำนวนปีย่อยสลาย 50 ปี คงไม่ต้องบอกถึงความเลวร้ายของมันเลย

มาถึงตรงนี้แล้วผู้อ่านคงจะคิดว่า ในเมื่อการลอยกระทงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขนาดนี้ ทำไมไม่ยกเลิกไปเลย สำหรับผู้เขียนมองว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลอยกระทงนั้น อยู่ที่ ‘จำนวนของกระทง’ ที่มากจนเกินไป ทุกคน ๆ เราลองนึกภาพไปพร้อม ๆ กัน ตามข้อมูลจำนวนกระทงปี 2557 พบว่า แค่ในกรุงเทพมหานครมีจำนวนถึง 982,064 ใบ แม้จะเป็นจำนวนกระทงที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติถึง 885,995 ใบก็ตาม ยังมีกระทงอีกจำนวนเท่าไหร่ในจังหวัดอื่น ๆ หรือมีกระทงอีกสักกี่ใบที่รอดพ้นการเก็บของเจ้าหน้าที่กลายเป็น ‘ขยะ’

ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังเชื่อว่าเรากำลัง ‘ขอขมาพระแม่คงคา’ มันจะกลับกลายเป็น ‘การทำลายพระแม่คงคาหรือเปล่า’

อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นความกระตือรือร้นของผู้คน ที่ออกมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และความสมดลของระบบนิเวศ ผ่านแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับเทศกาลประจำค่ำคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง เช่น การเลือกลอยกระทงในรูปแบบออนไลน์ หรือการรณรงค์ให้ลอยกระทง (ที่ทำมาจากวัสดุจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์) หนึ่งใบต่อหนึ่งครอบครัว หรือหนึ่งคณะ เพื่อลดจำนวนขยะในแม่น้ำ

ข้อมูลเชิงประจักษ์อีกหนึ่งชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของผู้คนคือ เทศกาลวันลอยกระทงประจำปี 2563 นี้ กรุงเทพมหานครได้เก็บกระทงได้เป็นจำนวน 492,537 ใบคิดเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ 474,806 ใบ หรือร้อยละ 96.4 และกระทงที่ทำด้วยโฟมจำนวน 17,731 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.6

ภาพ : https://www.posttoday.com/social/general/605982

โดยจากข้อมูลทางสถิติพบว่า ในปี 2563 นี้ ซากกระทงที่พบในคูคลอง สวนสาธารณะ และแม่น้ำเจ้าพระยา มีจำนวนลดลงจากปี 2562 จำนวน 9,487 ใบ (เทศกาลวันลอยกระทงปี 2562 กทม. สามารถเก็บซากกระทงได้ 502,024 ใบ) คิดเป็นร้อยละ 1.89 ข้อมูลข้างต้นถือเป็นสิ่งชี้วัดสำคัญว่า จำนวนขยะในแหล่งน้ำมีน้อยลง เพราะประชาชนต่างให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะมีการนำซากกระทงที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ และย่อยสลายง่าย ไปส่งยังโรงงานผลผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยกรุงเทพมหานครทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ หนองแขม อ่อนนุช และสายไหม ส่วนกระทงโฟมและวัสดุที่ย่อยสลายยากจะถูกนำไปทำลายโดยการฝังกลบ เพื่อรอการย่อยสลายต่อไป

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนคิดว่า เทศกาลวันลอยกระทงยังสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม กระนั้นต้องควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และมุ่งสร้างความตระหนักในการประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเชื่อที่ว่า ‘เราขอขมาพระแม่คงคา’ ไม่ใช่ ‘สร้างภาระให้พระแม่คงคา’


ข้อมูลประกอบ
ถ้าลอยกระทงกลับกลายเป็นประเพณี ‘สร้างขยะ’ แล้วทำไมเรายังต้องมีประเพณีนี้ต่อไปอีก
วัดระดับความกรีนของ 5 กระทงรักษ์โลก
ลอยกระทง เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยจริงหรือ?

บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง รอยเท้าคาร์บอนเบื้องหลังเทศกาลลอยกระทง