เสือปลาอาจหายไปจากพื้นที่ชุ่มน้ำจะนะ หากรัฐยังดึงดันเดินหน้านิคมอุตสาหกรรม

เสือปลาอาจหายไปจากพื้นที่ชุ่มน้ำจะนะ หากรัฐยังดึงดันเดินหน้านิคมอุตสาหกรรม

เสือปลาอาจหายไปจากพื้นที่ชุ่มน้ำจะนะ หากรัฐยังดึงดันเดินหน้านิคมอุตสาหกรรม เปลี่ยนผังเมืองเป็นสีม่วง

.
เสือปลาสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก ที่ไทยถูกปรับสถานภาพให้อยู่ในระดับที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ในขณะที่สถานภาพในระดับโลกตาม IUCN Red List อยู่ในระดับเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) แสดงให้เห็นว่า สถานภาพของประชากรเสือปลากำลังน่าเป็นห่วง และมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธ์ุไปจากธรรมชาติของไทย

เสือปลามักอาศัยบริเวณป่าชายเลนและพื้นที่ชุ่มน้ำ ถิ่นอาศัยแหล่งสำคัญที่ใหญ่ที่สุดของเสือปลา คือ พื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่บางส่วนของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือปลาในบริเวณนี้อาจหายไปตลอดกาล

จากการศึกษาการกระจายของนากในพื้นที่ชุ่มนำ้และป่าชายเลน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สามารถถ่ายภาพสัตว์ทั้งหมดมากถึง 53 ชนิด หนึ่งในนั้นมีภาพถ่ายสัตว์ป่าขนาดเล็กที่สำคัญ ได้แก่ เสือปลา, แมวดาว, พังพอน, อีเห็นข้างลาย, นากเล็กเล็บสั้น, นากจมูกขน, นากใหญ่ขนเรียบ, และอีเห็นธรรมดา เฉพาะพื้นที่ศึกษาในตำบลนาทับ อำเภอจะนะ มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติทั้งหมด 5 จุด สามารถถ่ายภาพเสือปลาได้ 2 จุด

โครงการน้ีเริ่มสำรวจตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ถึง เมษายน 2564 ในจังหวัดสงขลาและพัทลุง ซึ่งประกอบไปด้วยอำเภอต่าง ๆ ได้แก่ จะนะ, สทิงพระ, สิงหนคร, ควนเนียง, ระโนด, เทพา และเมืองสงขลา ในจังหวัดพัทลุงได้แก่ ปากพะยูน, ควนขนุน, และเมืองพัทลุง และครอบคลุมจังหวัดนครศรีธรรมราชบางส่วนในอำเภอชะอวดและอำเภอหัวไทร โดยสามารถติดต้ังกล้องดักถ่ายภาพได้ 63 จุด ใน 33 แปลงศึกษา

นอกจากน้ียังพบสัตว์ป่ากลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มสัตว์มีปีก 32 ชนิด กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน 3 ชนิด และสัตวครึ่งบกครึ่งนำ้อีกหนึ่งชนิด

นิคมอุตสาหกรรมจะนะใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อ.จะนะ จำนวน 16,753 ไร่ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ จากพื้นที่เกษตรกรรม และแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์จะถูกเปลี่ยนเป็นผังเมืองสีม่วงที่มนุษย์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางธรรมชาติได้อีกต่อไป แน่นอนว่าถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือปลาในพื้นที่อำเภอจะนะก็จะหายไปด้วย

 

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


เรื่อง นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพ: กล้องดักถ่ายภาพ Camera-trap บริเวณพื้นที่ศึกษาวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา