ระบบเตือนภัยล่วงหน้า ทางรอดมนุษยชาติจากวิกฤตสภาพอากาศสุดขั้ว

ระบบเตือนภัยล่วงหน้า ทางรอดมนุษยชาติจากวิกฤตสภาพอากาศสุดขั้ว

โลกของเราตอนนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แม้อุณหภูมิจะยังไม่ถึงเส้นตายที่ 1.5 องศา แต่เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ (1.1 องศา) ก็เพียงพอสำหรับการก่อให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วได้อย่างคาดไม่ถึง

โดยนับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา ได้เกิดภัยพิบัติมากกว่าอดีตถึง 5 เท่า

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า ความแห้งแล้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อน และพายุได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 2 ล้านคน และก่อให้เกิดความสูญเสียมูลค่า 3.64 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก

ด้านองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ชี้ว่า จำนวนพายุได้เกิดมากและถี่ขึ้นอย่างที่เราไม่เคยพบมาก่อนในประวัติศาสตร์ ตามข้อมูลล่าสุดของ NOAA พบว่าในปี 2020 ที่ผ่านมาเกิดพายุรุนแรงทั่วโลกถึง 102 ครั้ง มากกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1981-2010 ที่มีพายุจำนวน 85 ลูกต่อปี

นี่คือตัวอย่างสภาพที่โลกเราเป็นอยู่ ณ ขณะนี้ และหมายถึงความเสี่ยงที่พวกเราทุกคนจะต้องเผชิญหน้าในอนาคต

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางความเสี่ยงจากเหตุสภาพอากาศสุดขั้ว เรากลับพบว่า โลกใบนี้ยังขาดระบบเตือนภัยที่ครอบคลุม 

หลายประเทศทั่วโลกยังขาดระบบตรวจวัดสภาพอากาศที่ดี โดยเฉพาะประเทศที่ยากจนและกลุ่มประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็ก แน่นอนว่าทางแอฟริกาถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติเป็นพิเศษ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร (ดังที่เป็นอยู่ตอนนี้ เช่น ในมาดากัสการ์) บางส่วนของทวีปแอฟริกาได้รับผลกระทบบ่อยครั้งจากภัยแล้ง พายุไซโคลน และฝนตกหนัก แต่ 60 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากร หรือราว ๆ 2.6 พันล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ขาดระบบเตือนภัยล่วงหน้า 

ตามรายงานของ Global Commission on Adaptation ปี 2019 ระบุว่า หากโลกมีระบบการเตือนภัยล่วงหน้าที่ครอบคลุมจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุภัยพิบัตินับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา ได้ถึง 76 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงการช่วยปกป้องสภาพทางเศรษฐกิจ เช่น การเตือนพายุ 24 ชั่วโมง สามารถช่วยให้ผู้คนลดความเสียหายได้ประมาณ 30%

แม้ระบบการเตือนภัยล่วงหน้า ให้ครอบคลุมจะเป็นเรื่องที่ลงทุนสูง แต่ทาง WMO เชื่อว่ามันมีความคุ้มค่า และจำเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้

ตามรายงานของ Global Commission on Adaptation ปี 2019 ชี้ให้เห็นว่าการใช้จ่ายเงิน 800 ล้านดอลลาร์ สำหรับระบบเตือนภัยล่วงหน้าในประเทศกำลังพัฒนาเพียงประเทศเดียว จะหลีกเลี่ยงการสูญเสียได้ถึง 16,000 ล้านดอลลาร์ ต่อปี และนี่คือหนึ่งเรื่องที่เราต้องรีบดำเนินการ พร้อมๆ กับการบรรลุเป้าหมาย Net Zero หรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ลงให้เหลือเพียง ‘ศูนย์’

ปัจจุบัน WMO กำลังเริ่มร่างแผนปฏิบัติการระบบเตือนภัยล่วงหน้ากันอยู่

.
เป็ตเตรี ตาลัส เลขาธิการ WMO กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์ในช่วงห้าปีข้างหน้าเพื่อปรับปรุงคุณภาพของบริการและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะประเทศที่ยากจนและกลุ่มประเทศที่เป็นเกาะเล็ก

ในรายงานของ WMO ระบุว่า ระบบเตือนภัยล่วงหน้าแบบบูรณาการจะถูกสร้างขึ้นเพื่อแจ้งเหตุสำหรับน้ำท่วม ภัยแล้ง คลื่นความร้อน หรือพายุ โดยแจ้งเตือนไปถึงผู้มีโอกาสพบกับสภาพอากาศที่เป็นอันตรายก่อนมันจะเกิดขึ้น ทั้งถึงรัฐบาล ชุมชน และบุคคล เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น

จะมีการนำแบบจำลองคอมพิวเตอร์ขั้นสูงมาใช้ ทำให้สามารถตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์ทั้งบนบกและในทะเล นอกเหนือจากนี้ ระบบยังต้องรวมบทเรียนที่เรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีต เพื่อปรับปรุงการตอบสนองในอนาคตได้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ WMO คาดหวังว่ามันจะสำเร็จภายในระยะเวลา 5 ปี ตามกรอบการดำเนินงานที่ทำไว้

การขับเคลื่อนงานด้านนี้ของ WMO ถือเป็นหนึ่งในความคืบหน้าสำคัญที่เกิดขึ้นหลังการประชุม COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศของกลาสโกว์ ด้านหนึ่งได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว เสริมสร้างความยืดหยุ่น และลดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับการจัดทำแผนปฏิบัติการระบบเตือนภัยล่วงหน้านี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก จะนำเสนอแผนในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ที่การประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (COP 27) ที่อียิปต์

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


ภาพเปิดเรื่อง: Photo: NDNews Weather
อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน