ผู้นำจาก 173 ประเทศทั่วโลกบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เพื่อจัดการขยะพลาสติก

ผู้นำจาก 173 ประเทศทั่วโลกบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เพื่อจัดการขยะพลาสติก

ผู้นำประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม และผู้แทนรัฐบาลจาก 175 ประเทศได้บรรลุข้อตกลงในการพัฒนาสนธิสัญญาที่มีข้อผูกพันทางกฎหมายเกี่ยวกับพลาสติก นับได้ว่าเป็นห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง

.
ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการรับรองจากที่ประชุม UNEA-5.2 ที่ยาวนานถึงสามวัน โดยมีผู้แทนกว่า 3,400 คนร่วมเข้าประชุมที่กรุงไนโรบี และ 1,500 คนร่วมประชุมทางออนไลน์

ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 (UN environment assembly หรือ UNEA-5) ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา โดยมีการเรียกร้องให้จัดทำสนธิสัญญาที่ครอบคลุมการจัดการพลาสติก “ตลอดวัฏจักรชีวิต” ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการทิ้งทำลาย ซึ่งจะมีการพูดคุยกันในประเด็นดังกล่าวต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติหรือ UNEP ระบุว่าการตัดสินใจครั้งนี้นับเป็นข้อตกลงนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่ข้อตกลงปารีสเมื่อ พ.ศ. 2558

“ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่คุกรุ่น การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติยังแสดงให้เห็นว่านานาประเทศยังพร้อมร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหา” Espen Barth Eide ประธานการประชุม UNEA-5 และรัฐมนตรีด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจากประเทศนอร์เวย์กล่าว “ปัญหามลภาวะพลาสติกได้กลายเป็นเริ่มลุกลามใหญ่โตเหมือนโรคระบาด และข้อตกลงในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในการหายารักษาโรคดังกล่าว”

Inger Andersen ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติทวีตข้อความว่า “พวกเราได้ทำการเคาะมติที่ประชุมที่จะถางทางเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่จะ #เอาชนะมลภาวะพลาสติก นี่นับเป็นข้อตกลงนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่ข้อตกลงปารีส”

“งานของเราเริ่มต้นวันนี้!” เธอเสริม

Inger Andersen อธิบายถึงข้อตกลงดังกล่าวว่าเป็น “ชัยชนะของโลกทั้งใบต่อพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง” รวมทั้งเตือนว่าข้อบังคับนี้ไม่ได้ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย “พักผ่อนเป็นเวลา 2 ปี” ในระหว่างที่รอการเจรจาเพื่อร่างสนธิสัญญาที่มีข้อผูกพันทางกฎหมายในระดับนานาชาติ UNEP จะทำงานร่วมกับรัฐบาลและภาคธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง เช่นเดียวกับขับเคลื่อนเงินทุน พร้อมทั้งขจัดอุปสรรคเพื่อทุ่มทุนวิจัยและพัฒนาทางออกของปัญหาและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)

ชาติสมาชิกของสหประชาชาติที่ร่วมพูดคุยในกรุงไนโรบี อภิปรายรายละเอียดของข้อตกลงและยืนยันว่าสนธิสัญญาดังกล่าวควรครอบคลุมการผลิตและออกแบบพลาสติกด้วย ไม่ใช่เฉพาะการจัดการขยะเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการนับหนึ่งเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลที่ต้องทำหน้าที่ร่างและให้สัตยาบันสนธิสัญญานี้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567

ข้อตกลงครั้งนี้ยังให้ความสำคัญกับคนเก็บขยะ ซึ่งนับเป็น “พัฒนาการที่สำคัญยิ่ง” และอาจส่งผลต่อประชาชนหลายร้อยล้านคนรวมถึงองค์กรไม่แสวงหากำไร อีกทั้งยังระบุถึงบทบาทของชาติพันธุ์ท้องถิ่นอีกด้วย นับเป็นครั้งแรกที่คนเก็บขยะซึ่งเป็นอาชีพรายได้ต่ำของประเทศกำลังพัฒนา ทำหน้าที่เก็บขยะพลาสติกรีไซเคิลได้และสินค้าอื่นๆ ได้รับการกล่าวถึงในข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ

องค์กรไม่แสวงหากำไรระบุว่าข้อตกลงนี้แสดงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของวิธีการทำงานของผู้ออกแบบนโยบายในระดับนานาชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้จะเน้นปัญหาพลาสติกและขยะพลาสติกในทะเล แต่ข้อบังคับให้นี้จะแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางคือการผลิตซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสี่เท่าตัวภายในอีก 30 ปีข้างหน้า และคิดเป็น 10 ถึง 13 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณคาร์บอนที่เราปลดปล่อยได้

“เราอยู่ระหว่างทางเลือกที่สำคัญอย่างยิ่งในหน้าประวัติศาสตร์ การตัดสินใจอย่างกล้าหาญในวันนี้จะป้องกันไม่ให้พลาสติกทำระบบนิเวศของโลกพังทลาย” Marco Lambertini ผู้บริหารจาก WWF International กล่าว “แต่งานของเราก็ยังไม่จบ ผู้นำโลกจะต้องแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการและการนำสนธิสัญญาไปบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาพลาสติกในปัจจุบัน และเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตพลาสติกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน”

ขณะที่ Christina Dixon จาก Environmental Investigation Agency ระบุว่า “การบรรลุข้อตกลงในครั้งนี้เป็นการยืนยันว่าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาพลาสติกในมหาสมุทรและบนผืนแผ่นดินได้โดยไม่จัดการที่ต้นทาง ดังนั้นเราต้องเริ่มจากการหยุดการผลิตพลาสติก หากเราต้องการแก้ไขปัญหานี้จริงๆ”

ปัจจุบัน ขยะพลาสติกปริมาณราว 7 พันล้านตันจาก 9.2 พันล้านตันซึ่งผลิตระหว่าง พ.ศ. 2493 ถึง 2560 ถูกทิ้งกลายเป็นขยะ โดย 75 เปอร์เซ็นต์ของขยะเหล่านั้นถูกฝังกลับไว้ใต้ดินหรือสะสมในระบบนิเวศพื้นดินและใต้น้ำ

สาธารณชนเริ่มแสดงความกังวลต่อมลภาวะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น โดยกว่า 60 ประเทศเริ่มห้ามใช้พลาสติกหรือการกำหนดให้มีการจ่ายภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้งานและพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการขยะ

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


ถอดความและเรียบเรียงจาก World leaders agree to draw up ‘historic’ treaty on plastic waste

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก