ผู้บริโภคคิดอย่างไรกับอาหารทะเลจากพืช 

ผู้บริโภคคิดอย่างไรกับอาหารทะเลจากพืช 

ปัจจุบันมองไปทางไหนเราก็เห็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากพืช ไม่ว่าจะเป็นว็อปเปอร์ชิ้นโตไร้เนื้อสัตว์ที่ Burger King หรือข้าวมันไก่จากพืชที่ Prive แม้ว่านี่จะนับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ “โปรตีนทางเลือก” เหล่าผู้บริโภคในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เริ่มมองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่ว่าเนื้อสัตว์อาจไม่ต้องมาจากหมู วัว หรือไก่

แล้วอาหารทะเลล่ะ?

OmniFoods สตาร์ตอัพจากฮ่องกงซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทางเลือกในสิงคโปร์และตลาดหลายแห่งทั่วโลก เริ่มวางจำหน่ายทอดมันปูและเนื้อปลาจากพืชที่ร้าน Starbucks แม้แต่บริษัทอาหารทะเลชื่อดังอย่าง Thai Union ผู้ผลิตทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ยังกระโดดเข้ามาแข่งขันในตลาดดังกล่าว โดยเพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์อย่างลูกชิ้นกุ้งและนักเก็ตปลาจากพืช

ทำไมต้องมีอาหารทะเลทางเลือก ?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความปลอดภัยทางอาหารคือเหตุผลหลักที่ทำให้คนหันมาบริโภคเนื้อสัตว์ทางเลือกเช่นเดียวกับอาหารทะเลทางเลือก

แม้ว่าการผลิตเนื้อปลาจะปล่อยคาร์บอนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับรอยเท้าคาร์บอนขนาดยักษ์ของเนื้อวัว งานวิจัยพบว่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากเรืออวนลากซึ่งเป็นการจับปลาโดยถ่วงอวนขนาดใหญ่ให้ติดกับพื้นทะเลเพื่อจับสัตว์น้ำ เทียบเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากเครื่องบิน

Photo – Duangphorn Wiriya

นอกจากนี้ ทั่วโลกยังกังวลต่อความต้องการซื้ออาหารทะเลซึ่งมากกว่าความสามารถของสัตว์น้ำในการฟื้นจำนวนประชากรกลับมาได้เองซึ่งส่งผลกระเทือนต่อความมั่นคงทางอาหาร รายงานจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติพบว่าหนึ่งในสามของปลาเชิงพาณิชย์กำลังถูกจับในระดับที่ไม่ยั่งยืน โดย 90 เปอร์เซ็นต์ถูกจับในระดับทำลายล้าง

ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทางเลือกมีศักยภาพในการลดแรงกดดันดังกล่าวและยังมีข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น ลดความเสี่ยงจากโรคภัยที่มาพร้อมกับอาหาร ไม่เสี่ยงเรื่องพลาสติกขนาดจิ๋ว และมีอัตราการปนเปื้อนโลหะหนักที่ต่ำกว่า

นักกินดื่มชาวเอเชียอาจไม่สนใจนัก

ความท้าทายสำคัญคือผู้บริโภคชาวเอเชียไม่ให้ความสนใจนักในปัจจุบัน

จากการศึกษามุมมองของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทางเลือกโดย Good Food Institute Asia Pacific (GFI APAC) พบว่านักกินดื่มรู้สึกอยากลองชิมดู แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าอาหารทะเลจากพืชจะสามารถสร้างประสบการณ์ “ความสด” และ “ความเป็นธรรมชาติ” เหมือนกับอาหารทะเลจริงๆ

ความกังวลนี้อาจมาจากการที่ผู้บริโภคเข้าใจเอาเองว่าปลาและปูที่สดที่สุดจะต้องจับมาจากทะเลทุกเช้า แต่หากมองในมุมอาหารปลอดภัย การตัดปัญหามลภาวะปนเปื้อนทางน้ำจากห่วงโซ่อุปทานอาหารถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

Photo – Good Catch

เมื่อพูดถึงอาหารทะเลทางเลือก งานวิจัยของ GFI APAC พบว่าผู้บริโภคชาวเอเชียไม่อาจยอมรับกับรสชาติ รสสัมผัส และประโยชน์ต่อสุขภาพที่ด้อยลงเพื่อแลกกับความยั่งยืน หรือก็คือพวกเขาจะเปิดใจลองกินอาหารทะเลที่ทำจากพืชก็ต่อเมื่ออาหารดังกล่าวส่งมอบประสบการณ์ที่ไม่แตกต่างจากการทานอาหารทะเลแบบดั้งเดิมซึ่งนับเป็นมาตรฐานที่ผู้บริโภคมองว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวยังไม่สามารถทำได้สำเร็จ

นอกจากนี้ อาหารทะเลทางเลือกยังต้องพัฒนาอีกมากเพื่อให้ถูกปากชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คุ้นชินกับการกินปลานึ่งทั้งตัว และเนื้อปูแบบสดๆ จากเปลือก ขณะที่อาหารทะเลจากพืชมักจะอยู่ในรูปปลาทอดหรือก้อนปูซึ่งอาจแตกต่างจากอาหารที่ชาวเอเชียคุ้นลิ้น ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของโปรตีนทางเลือกซึ่งเหล่าผู้ผลิตจะต้องใช้เวลาเพราะหนทางสู่ความสำเร็จคือการตอบความต้องการของผู้บริโภค

เม็ดเงินที่ไหลบ่าสู่อาหารทะเลทางเลือก

แม้ว่าผู้บริโภคจะเรียกร้องมากมายแต่ก็ไม่ได้ทำให้แหล่งทุนบ่ายหน้าหนีจากการผลิตอาหารทะเลทางเลือกที่มองเห็นอนาคตในการทำเงินมหาศาลจากการผลิตอาหารทะเลทางเลือกที่ไม่ต้องจับจากทะเล นักลงทุนยอมทุ่มเงินมหาศาลกว่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 กับบริษัทสตาร์ตอัพด้านอาหารทะเลจากพืช โดยคิดเป็นมูลค่าเกือบสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2020

ปัจจุบัน บริษัทกว่า 120 แห่งทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทางเลือก ตัวอย่างเช่น บริษัท Growthwell ในสิงคโปร์ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจาก Temasek ได้วางแผนเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากคอนญัคไปยังจีนและสหราชอาณาจักร

ดังสุภาษิตโบราณกล่าวไว้ว่า “ลูกค้าถูกเสมอ” หากเป็นเรื่องอาหารทะเลทางเลือก ลูกค้าย่อมต้องการอาหารที่รสชาติ รสสัมผัส คุณค่าทางโภชนาการ และราคาใกล้เคียงกับอาหารทะเลที่พวกเขาคุ้นลิ้น ความต้องการดังกล่าวถือว่าสมเหตุสมผล แต่หากจะตอบโจทย์ทั้งหมดได้ บริษัทยังต้องอาศัยการลงทุนมหาศาลจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อสาธารณะ เงินลงทุนก้อนนี้ควรมุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพ ความหลากหลาย และลดต้นทุนผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทางเลือกให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

เพื่อรับมือกับความต้องการโปรตีนของประชาชนทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทร เราก็ได้แต่หวังว่าอาหารทะเลทางเลือกจะสามารถพัฒนาจนสอดรับกับมาตรฐานสูงลิบของลิ้นผู้บริโภคได้ในเร็ววัน


ถอดความและเรียบเรียงจาก Commentary: Food companies are vying to make the Impossible Beef of the sea

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก