จะเป็นอย่างไร หากวันพรุ่งนี้ทุกคนหยุดบริโภคเนื้อสัตว์ ? 

จะเป็นอย่างไร หากวันพรุ่งนี้ทุกคนหยุดบริโภคเนื้อสัตว์ ? 

หากมนุษย์ทุกคนบนโลกหยุดบริโภคเนื้อสัตว์ทุกประเภทในวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับโลกของเราบ้าง?  

คำถามนี้อาจจะเป็นสิ่งที่เกินจินตนาการของเราไปนิด เพราะหากเรามองโลกในปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นค่านิยม เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรมท้องถิ่น อาทิเช่น ในภูมิภาคมองโกเลีย มีสภาพอากาศที่รุนแรงส่งผลให้การเพาะปลูกพืชผลทำได้ยาก ผู้คนจึงต้องบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อความอยู่รอดและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมด้านอาหาร 

หรือการเป็นองค์ประกอบสำคัญของศาสนาอย่าง ชนเผ่ากินปลาแซลมอนในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ (Pacific Northwest Tribes) ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีความเชื่อว่าแซลมอนเป็นสิ่งมีชีวิตศักดิ์สิทธิ์ที่ให้อาหารแก่มนุษย์

ในอดีตโฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) หรือมนุษย์สมัยใหม่อย่างพวกเรานั้นเคยดำรงชีวิตเป็น คนเก็บของป่าล่าสัตว์ (Hunter gatherer) ซึ่งมื้ออาหารส่วนมากจะมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบหลัก หากในทางชีววิทยามนุษย์จัดอยู่ในประเภทที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ (Omnivore) จนกระทั่งการมาถึงยุคปฏิวัติติเกษตรกรรม (Neolithic) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราว ๆ 12,000 ปีก่อน

มนุษย์ได้เรียนรู้การเลี้ยงปศุสัตว์ และการปลูกพืชเพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ที่สำคัญนี้ได้นำไปสู่ความเสื่อมถอยทางสิ่งแวดล้อมของโลกไปตลอดการ ทำให้จุดสมดุลการใช้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายจากการบริโภคเกินความจำเป็น (Overconsumption) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ 

อุตสาหกรรมปศุสัตว์มีอัตราส่วนต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 14.5 เปอร์เซ็นต์ ทั่วโลก อาทิ ก๊าซมีเทนที่เกิดจากวัว มีศักยภาพการทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า 

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ในปัจจุบันจำนวนของวัวที่ถูกเลี้ยงไว้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์จะมีน้ำหนักรวมมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในป่าทั้งหมดบนโลกกว่า 12 เท่า และสัตว์ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์นั้นจะมีจำนวนมากกว่ามนุษย์ทั้งโลกถึง 4 เท่า เท่ากับว่าหากทุกคนร่วมใจกันไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาหารที่เกิดจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์จะหายไปว่า 63 เปอร์เซ็นต์

หากเราดูอัตราส่วนปริมาณแคลอรี่ หรือพลังงานที่ได้รับจากการบริโภคอาหารของประชากรโลกได้รับนั้นจะเห็นได้ว่า กว่า 83 เปอร์เซ็นต์ คืออาหารจากพืช (Plant-based food) ส่วนอีก 17 เปอร์เซ็นต์ คืออาหารที่มาจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ แต่พื้นที่เกษตรกรรมของทั้งโลกกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ใช้ไปกับพื้นที่ปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารปศุสัตว์และพื้นที่เลี้ยงสัตว์ 

ในทางกลับกันแหล่งอาหารที่มอบพลังงานมากกว่าสามในสี่ของทั้งโลกกลับใช้พื้นที่ทางการเกษตรเพียง 16 เปอร์เซ็นต์ โดยจากตารางจะเห็นได้ว่าการเกษตรกรรมจะใช้พื้นที่และน้ำที่น้อยกว่าปศุสัตว์  

การผลิตเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อวัว ต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาล การผลิตเนื้อวัวเพียง 1 กิโลกรัม จะต้องใช้น้ำถึง 15,000 ลิตร ในทางตรงกันข้าม พืชที่เป็นอาหารหลักอย่างมันฝรั่งและข้าวสาลี ต้องการเพียงเศษเสี้ยวของปริมาณน้ำข้างต้นที่ใช้เลี้ยงวัว เมื่อการเลี้ยงปศุสัตว์ไม่มีอีกต่อไปจะทำให้สามารถประหยัดน้ำได้อย่างมาก  

ผู้ส่งออกเนื้อวัวและถั่วเหลืองมากที่สุดในโลกอย่างประเทศบราซิลได้สูญเสียพื้นที่ ป่าฝนแอเมะซอน (Amazon rainforest) ไปเป็นจำนวนมากเพื่อเลี้ยงปศุสัตว์และการทำฟาร์มถั่วเหลือง (อาหารปศุสัตว์) การบริโภคเนื้อสัตว์ที่ลดลงจะนำไปสู่การฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นเมืองที่หลากหลายและได้พื้นที่ป่ากลับคืน

อุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาหารมากกว่าครึ่ง แต่ให้พลังงานแก่คนบนโลกเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ หากเรามองในมุมของเศรฐศาสตร์ ประเทศที่มีรายได้สูง ปานกลาง และต่ำ จะมีการปล่อยก๊าซที่แตกต่างกันสืบเนื่องจากอุปสงค์และอุปทาน (Demand and supply) ของตลาดภายในประเทศ รวมไปถึงขีดความสามารถในการใช้จ่าย  

ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศคาดการณ์ว่า การปล่อยก๊าซของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกควรถึงจุดสูงสุดโดยคำนวณจากจำนวนประชากรและขนาดอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือเร็วกว่านั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้อตกลงด้านสภาพอากาศของปารีสในการจํากัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส

ในประเทศที่มีรายได้สูงและปานกลาง ซึ่งผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์และนมส่วนใหญ่ทั่วโลก การปล่อยก๊าซจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ควรถึงจุดสูงสุด เร็วกว่าในประเทศที่มีรายได้ต่ำ 

เกือบสองทศวรรษที่แล้ว รายงานของสหประชาชาติระบุว่าภาคปศุสัตว์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษมากที่สุดในโลก ตั้งแต่นั้นมามีการวิจัยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความจําเป็นในการลดขนาดการผลิตเนื้อสัตว์ในประเทศที่มีรายได้สูงและปานกลาง 

จากการวิเคราะห์ของสหประชาชาติและ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกจะไม่ถึงจุดสูงสุดยาวไปจนถึงปี ค.ศ. 2075  

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ โดยสร้างรายได้แก่ผู้คนหลายล้านคนที่เกี่ยวข้องกับการทำฟาร์ม การแปรรูป และการจัดจำหน่าย อย่างไรก็ตาม การหยุดบริโภคเนื้อสัตว์อย่างกะทันหันอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง มันจะนำไปสู่การว่างงานในวงกว้างและการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเนื้อสัตว์เป็นหลัก เช่น อเมริกาใต้ (South America) หรือโอเชียเนีย (Oceania) เกษตรกรที่เลี้ยงปศุสัตว์หรือปลูกอาหารสัตว์จะต้องเปลี่ยนมาปลูกพืชหรืออุตสาหกรรมทางเลือก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความท้าทายที่สำคัญ

ภาคธุรกิจอาหารจะต้องปรับห่วงโซ่อุปทานเพื่อตอบสนองความต้องการแหล่งโปรตีนทางเลือกที่เพิ่มขึ้น ผู้ผลิตอาหารจากพืชจะต้องมีการลงทุนจำนวนมากและการขยายตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น 

การบริโภคไก่ แปดหมื่นห้าพันล้านตัว หมู หนึ่งพันห้าร้อยล้านตัว วัว สามร้อยล้านตัว ปลาและหอยสองร้อยล้านตัน ซึ่งให้โปรตีนและสารอาหารที่สำคัญแก่เรานั้นจะไม่มีอีกต่อไป เพื่อชดเชยช่องว่างทางโภชนาการนี้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องเพาะปลูก ผัก ผลไม้ และพืชตระกูลถั่ว (แหล่งโปรตีน) เพิ่มขึ้น  

แม้ว่าการรับประทานอาหารที่มีพืชเป็นหลักสามารถให้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนได้ แต่ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับอาหารเหล่านี้อาจเผชิญกับความท้าทายในช่วงแรก ๆ วิตามินบี 12 (Cobalamin) ธาตุเหล็ก (Iron) กรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega 3) และกรดอะมิโน (Amino acid) บางชนิดหาได้ยากในอาหารที่ทำจากพืช 

แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากอุปทานเพิ่มขึ้นกลไกตลาดก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชถูกลงในอนาคตหากทุกคนบนโลกร่วมใจเปลี่ยนรูปแบบการกินพร้อมกันทั้งหมด 

ลองจินตนาการถึงวันพรุ่งนี้ที่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ถูกทำให้หายไปตลอดกาล ก็จะมีส่วนในการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับอาหารไปกว่าครึ่งในชั่วข้ามคืน นอกจากนี้ ยังส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide) น้อยลงเนื่องจากการใช้ปุ๋ยในพืชอาหารสัตว์ลดลง

สิ่งที่จะตามมาภายหลังทุกคนหยุดกินเนื้อสัตว์คือ อัตราการเป็นโรคหัวใจ มะเร็ง และอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเนื้อแดงลดลง ยิ่งไปกว่านั้น เราจะไม่ติดต่อเชื้อโรคใหม่ ๆ จากสัตว์ป่าที่ถูกล่าเพื่อเป็นอาหาร ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากหมูเลี้ยงในฟาร์ม หรือเชื้อซุปเปอร์บัค (Superbug) ที่ดื้อยาจากวัวที่ได้รับการป้อนยาปฏิชีวนะล่วงหน้า  

เมื่อเวลาผ่านไป ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและการใช้ยาฆ่าแมลงลดลง แนวโน้มเชิงบวกนี้ส่งผลให้มีพื้นที่ป่ามากขึ้น สัตว์ป่าที่เคยถูกฆ่าเพราะคุกคามปศุสัตว์ของชาวบ้านลดน้อยลง ตลอดจนการฟื้นตัวของสัตว์ทะเลหลายชนิดเนื่องจากการหายไปของการประมงเกินขนาด (Overfishing)  

มนุษย์รุ่นหลังที่บริโภคพืชเป็นหลักก็อาจจะกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมให้สามารถนำไขมันจากพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อทดแทนไขมันจากเนื้อสัตว์ กระบวนการเหล่านี้อาจใช้เวลาเป็นเวลาหลายพันปีเพื่อใช้ประโยชน์จากผักให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในทางกลับกัน เราอาจสูญเสียการปรับตัวบางอย่างไป เช่น ความสามารถในการสกัดธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์ 

โดยสรุปแล้วในปัจจุบันแม้ว่าการเป็น วีแกน (Vegan) และมังสวิรัติ (Vegetarian) กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ค่านิยมการบริโภคเนื้อสัตว์ก็เพิ่มขึ้นทั่วโลกเช่นกัน พฤติการณ์เหล่านี้ได้สะท้อนแนวโน้มที่น่ากังวลซึ่งส่งผลเสียต่อสภาพอากาศของโลก

แม้ว่าเราจะพยายามลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทันที แต่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่เกี่ยวพันกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นก็ยังคงส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้ โดยการผลิตเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์นมเพียงอย่างเดียวมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาหารมากกว่าครึ่ง สิ่งที่น่าสนใจคือ เนื้อสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ไก่ มักผลิตก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าอาหารมังสวิรัติที่มีผลิตภัณฑ์จากนม ดังนั้น การลดการบริโภคเนื้อวัว ชีส และนม จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการลดก๊าซเรือนกระจก 

การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปต่อการรับประทานอาหารจากพืช ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้จากการลดขยะอาหาร (Food waste) เหลือทิ้ง และความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนทั่วโลกเพื่อสร้างอนาคตที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น  

แม้ว่าอาจเป็นไปไม่ได้สำหรับทุกคนที่จะหยุดกินเนื้อสัตว์ทันที แต่ค่านิยมการบริโภคอาหารของเราในปัจจุบันจะกำหนดโลกที่เราจะมีชีวิตอยู่ในอนาคต 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia