สรุปเนื้อหา COP27

สรุปเนื้อหา COP27

โลกร้อนลุกเป็นไฟ แต่ผลเจรจา COP27 ยังไม่คืบหน้า

การประชุม COP ครั้งที่ 27 กำลังเดินทางเข้าสู่สัปดาห์ที่สอง และมาพร้อมข่าวร้ายซ้ำซากว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยฝีมือมนุษย์ยังคงเพิ่มสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ Global Carbon Project ระบุว่า การปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลจะสูงมากกว่าปีก่อนๆ โดยมลพิษจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลจะสูงถึง 40.6 พันล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว

แม้ตัวเลข 1 เปอร์เซ็นต์ จะดูน้อยนิดในเชิงสถิติ แต่ผลที่ตามมานั้นกลับมากมายมหาศาล – เพราะด้วยปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ หมายความว่าเรามีโอกาส 50 เปอร์เซ็นต์ ที่จะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงเกิน 1.5 องศาฯ ได้ในอีก 9 ปีข้างหน้า 

ปัจจัยการเพิ่มอย่างทำลายสถิติมาจากความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของนานาประเทศหลังการระบาดของโควิด-19 ตลอดจนวิกฤตขาดแคลนพลังงานที่ทำให้หลายประเทศต้องหันไปพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น (แทนที่จะลดลง) อันเชื่อมโยงกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากการตัดไม้ทำลายป่า อันเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ ที่สำคัญ ยังคงเป็นไปอย่างไม่ลดละ

ซึ่งการสูญเสียพื้นที่ป่าได้ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ราว 10 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ด้วยน้ำมือมนุษย์ทั้งหมด 

และอาจกล่าวได้ว่าคำมั่นสัญญาใน COP26 เรื่องยุติการตัดไม้ทำลายป่า ยังไม่มีความคืบหน้าเชิงรูปธรรมที่ชัดเจนนัก

แต่เมื่อตัดภาพมาที่การประชุม COP27 ตลอดสัปดาห์แรก – ถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีการลงนามข้อตกลงที่ชัดเจนใดๆ ขึ้นเลย

เพื่อบรรลุเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาฯ การประชุมในสัปดาห์ที่สอง เราต้องการความคืบหน้าใดบ้าง – นี่คือบทสรุปที่ต้องเกิด

การจำกัดอุณหภูมิ

การประชุม COP27 ยังไม่มีเป้าหมายในการตั้งเกณฑ์ที่ชัดเจนว่านานาชาติจะตกลงให้คำมั่นสัญญากันอย่างไรในการจำกัดอุณหภูมิ เป็นต้นว่า จะลดก๊าซคาร์บอนฯ ลงเท่าไหร่ จะมีความคืบหน้าต่อเป้าหมายลดก๊าซมีเทนต่อยอดจาก COP26 อย่างไร หรือจะจัดการกับพลังงานฟอสซิลจากถ่านหินในปัจจุบันกันแบบใด

ลดมลพิษ

ขณะนี้ตัวแทนประเทศต่างๆ กำลังรวบรวมข้อมูลโครงการลดมลพิษจากทุกมาตรการมาจัดทำเป็นคำมั่นสัญญา และอาจโฟกัสในภาคส่วนที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เช่น ด้านพลังงานและการขนส่ง 

อย่างไรก็ตาม การโฟกัสในภาคส่วนที่เฉพาะเจาะจงยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบของสหประชาชาติ ซึ่งหมายความว่ายังไม่มีรูปแบบการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้รายงานของแต่ละประเทศยังให้ข้อมูลต่ำกว่าข้อเท็จจริงของมลพิษที่ปรากฏ

และแม้มีการร่างข้อตกลงไปแล้วในการประชุมสัปดาห์แรก แต่เอกสารที่เสนอยังเต็มไปด้วยวงเล็บหมายเหตุนานาที่ยังต้องแก้ไข ซึ่งไม่สามารถนำไปสู่แผนปฏิบัติได้ในเร็ววัน หรือตอนนี้ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่า วาระนี้ควรเป็นแผนงานเร่งด่วนหรือแผนระยะยาว

การสนับสนุนทุน

เมื่อปี 2563 ประเทศร่ำรวยเคยให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนทุน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาและยากจนสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่แผนพลังงานสะอาด แต่ความคืบหน้านั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ปัจจุบันดูเหมือนว่าความต้องการเงินสนับสนุนนั้นกำลังทวีสูงมากขึ้น เพราะไม่เพียงแต่เพื่อปรับปรุงแผนงานด้านพลังงานแก่ประเทศกำลังพัฒนาและยากจนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเงินช่วยเหลือด้านผลกระทบที่บังเกิดขึ้นแล้วจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก และประเทศยากจน ได้เรียกร้องอย่างชัดเจนถึงเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่แผนพลังงานสะอาด ตลอดจนการเยียวยาผลกระทบของวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้อย่างชัดเจนในการประชุมวันแรกๆ 

ผลการเจรจาอื่นๆ 

การประชุมเมื่อปีที่แล้วมีการลงนามในข้อตกลงจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาอย่างเป็นทางการ

เช่นในปีนี้ ประเทศที่ได้รับผลกระทบมองว่า บริษัทผู้ผลิตน้ำมันและเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่ ควรแสดงความรับผิดชอบ เช่น การจ่ายภาษีที่มากขึ้นเพื่อนำรายได้มาช่วยเหลือประเทศยากจนแก้ไขผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

แกสตัน บราวน์ นายกรัฐมนตรีประเทศแอนทีกาและบาร์บิวดา เกาะในทะเลแคริบเบียนตะวันออก กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มีบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล 6 แห่งที่ทำกำไรได้เกือบ 70 พันล้านยูโร ซึ่งนั่นเป็นจำนวนเงินที่มากพอสำหรับช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเผชิญกับความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศ

กลับหน้าแรก