นาฬิกาสภาพอากาศ (Climate clock) นับถอยหลัง 5 ปี สู่หายนะสภาพภูมิอากาศที่ไม่สามารถกลับสู่จุดสมดุลได้อีก 

นาฬิกาสภาพอากาศ (Climate clock) นับถอยหลัง 5 ปี สู่หายนะสภาพภูมิอากาศที่ไม่สามารถกลับสู่จุดสมดุลได้อีก 

ในห่วงเวลาประวัติศาสตร์ของอารยธรรมมนุษย์ได้เริ่มต้นนับเวลามาตั้งแต่ยุคหินหรือประมาณเมื่อ 20,000 ปีก่อน จากหลักฐานการค้นพบกระดูกที่มีร่องรอยสลักของการนับตัวเลขบนวัตถุที่ทำจากกระดูกสัตว์เรียกว่า Ishango bone ที่หุบเขา Semliki สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งคาดว่าเป็นความพยายามครั้งแรกๆ ของมนุษย์ในการนับวันโดยสังเกตจากการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ จากนั้นอีกหนึ่งหมื่นปีถัดมาก็มีการค้นพบหลุมรูปทรงดวงจันทร์ในประเทศสกอตแลนด์ ที่คาดว่าขุดโดยมนุษย์เพื่อบันทึกวงจรจันทรคติ (Lunar Cycle) โดยอิงตามระยะของดวงจันทร์เพื่อเป็นสัญญาณบอกการเริ่มต้นของเดือน  

เมื่อสังคมพัฒนาขึ้น วิธีการคำนวนเวลาได้ปรับการปรับปรุงเพื่อตอบสนองต่อประสิทธิภาพทางการเกษตร แนวปฏิบัติทางศาสนา และการบริหารบ้านเมืองอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยปฏิทินที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือระบบเกรกอเรียน (Gregorian Calendar) ซึ่งปรับมาจากปฏิทินจูเลียน (Julian calendar) อีกทีหนึ่ง  

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 ได้เกิดปรากฏการณ์สมมติ ‘วันสิ้นโลก’ ที่ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนบางกลุ่ม แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้น โดยสมมติฐานนี้อ้างอิงถึงตำนานปฏิทินมายัน (Mayan calendar) ของชาวมายา ที่เคยถูกตีความว่าจะเป็นวันสิ้นโลก แต่ในอีกมุมหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ได้แสดงความคิดเห็นว่า ปฏิทินของชาวมายาไม่ได้จะทำนายว่าเป็นวันสิ้นโลก แต่เป็นการเริ่มต้นนับวงรอบใหม่หรือเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน และการคำนวณด้วยระบบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เรื่องราวของวันสิ้นโลกก็ดูมีเค้าลางของความเป็นจริงอยู่ไม่ใช่น้อย เมื่อการพัฒนาของมนุษย์ได้สร้างผลกระทบให้แก่สิ่งแวดล้อมมากเสียจนไม่สามารถกลับคืนจุดสมดุลได้อีก และหากจะมีสิ่งใดทีสามารถสร้างความตระหนักรู้ถึงความอยู่รอดของเราในเวลานี้ได้อย่างเห็นภาพชัดๆ คงหนีไม่พ้น ‘นาฬิกาสภาพอากาศ’ (Climate clock) ที่กำลังนับถอยหลังเข้าใกล้เส้นตายอยู่ทุกขณะ 

และหากถึงเลขศูนย์ (สูญ) เมื่อไหร่ เผ่าพันธุ์มนุษย์ก็อาจจะสูญสิ้นจากสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนเกินกว่าจะแก้ไขได้ จนเราต้องหาดาวดวงใหม่ใช้อาศัยแทนดาวที่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อีกต่อไป 

Climate Clock คือนาฬิกานับถอยหลังสู่อุณหภูมิโลกที่กำลังจะแตะไปถึง 1.5 องศาเซลเซียส ตั้งสูงตระหง่านเหนือ Union Square ของมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นาฬิกาได้นับถอยหลังสู่วันที่ 21 กรกฎาคม 2029 เวลา 12:00 น. นอกจากนี้ยังถูกติดตั้งในเมืองใหญ่ๆ รอบโลก อาทิ โซล กลาสโกว์ และโรม 

Climate Clock เป็นผลงานความร่วมมือของนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ Gan Golan และ Andrew Boyd ในส่วนของการออกแบบ Art-Fixer นั้น ผู้ออกแบบคือ Katie Peyton Hofstadter และผูู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Adrian Carpenter  

ข้อมูลในนาฬิกาสภาพอากาศ อ้างอิงมาจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Mercator Research Institute on Global Commons and Climate Change (MCC) เวลาที่แสดงไม่ได้นับถอยหลังวันที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่เป็นการประเมินว่าจะมีเวลาเหลืออีกเท่าใด ก่อนที่มนุษย์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากพอที่จะส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1.5 องศาเซลเซียส  

แนวคิดนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘นาฬิกาวันสิ้นโลก’ (Doomsday Clock) ที่อยู่ในการดูแลของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งคือ Bulletin of Atomic Scientists และ National Debt Clock ซึ่งสร้างนาฬิกาในปี ค.ศ. 1947 ในเมืองแมนฮัตตัน สหรัฐอเมริกา มีจุดประสงค์เพื่ออธิบายว่า โลกเราใกล้จะพังพินาศด้วยเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้น การใช้อาวุธเข่นฆ่ากัน การทดลองนิวเคลียร์ตลอดจนอาวุธชีวภาพเพื่อใช้ในสงคราม โดยเลือกใช้สัญลักษณ์นาฬิกาที่บอกว่าโลกเหลือเวลาอีกไม่นาน หากเข็มของนาฬิกาเคลื่อนที่ถึงเที่ยงคืน  

ในปี ค.ศ. 1991 เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น (Cold war) เป็นช่วงที่นาฬิกามีเข็มห่างจากเที่ยงคืนมากที่สุด แต่ไม่กี่ปีมานี้ เข็มนาฬิกากลับเดินเข้าสู่ระยะน่าเป็นห่วงอีกครั้ง เมื่อประชากรมนุษย์มีมากขึ้นก็ส่งผลให้มีการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยจนทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเข้าขั้นวิกฤตเพิ่มเข้ามาอีกสาเหตุนอกจากเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ 

ในปัจจุบันก็ได้มีการปรับนาฬิกาอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคม (มีแถลงปรับเข็มนาฬิกาทุกปีในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์) โดยครั้งล่าสุดนี้ ถ ‘นาฬิกาวันสิ้นโลก’ ถูกตั้งค่าที่ 90 วินาทีก่อนถึงเวลาเที่ยงคืน สาเหตุหลักมาจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ความขัดแย้งของอิสราเอล – ปาเลสไตน์ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการยกระดับอาวุธนิวเคลียร์  

ในช่วง 77 ปีที่ผ่านมา เวลาของนาฬิกาได้เปลี่ยนไปตามที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์กําลังทําลายล้างกันเอง บางปีเวลาเปลี่ยนไป และบางปีก็ไม่เปลี่ยน เวลาของนาฬิกาไม่ได้มีไว้เพื่อวัดภัยคุกคาม แต่เพื่อจุดประกายการสนทนาและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในหัวข้อทางวิทยาศาสตร์ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปลดอาวุธนิวเคลียร์ 

ในปี ค.ศ. 2018 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้ออกรายงานพิเศษเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ 1.5 องศาเซลเซียส โดยเตือนว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเกินนี้อาจส่งผลร้ายแรงต่อโลกอย่างถาวรและแก้ไขไม่ได้ ซึ่งรวมถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การสูญเสียแผ่นน้ำแข็ง ปะการังฟอกขาวอย่างกว้างขวาง และเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เพิ่มขึ้น เช่น ความแห้งแล้ง คลื่นความร้อน และน้ำท่วม 

ในเดือนเมษายน (2024) ที่ผ่านมา มีอุณหภูมิอุ่นกว่าค่าเฉลี่ยเดือนเมษายนในแต่ละปีโดยประมาณ 1.58 องศาเซลเซียส ของค่าเฉลี่ยเดือนเมษายนสําหรับในช่วงปี ค.ศ. 1850-1900 ซึ่งเป็นช่วงอ้างอิงก่อนยุคอุตสาหกรรม (pre-industrial) ที่กําหนดตามชุดข้อมูลของศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป (ECMWF) อย่างไรก็ตาม อุณภูมิที่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ในรายเดือนไม่ได้หมายความว่าเราล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายอุณหภูมิของ ความตกลงปารีส หมายถึงอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในระยะยาวในช่วงหลายทศวรรษ 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายจะต้องปฏิบัติตามนโยบายที่เข้มงวดเท่านั้น การประมาณการนาฬิกาสภาพอากาศคำนวณโดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับงบประมาณการปล่อยคาร์บอนที่เหลืออยู่ของโลก ข้อมูลชุดนี้นี้แสดงถึงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดที่สามารถปล่อยออกมาได้ในขณะที่ยังมีโอกาสที่จะจำกัดภาวะโลกร้อนให้สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมได้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส  

นาฬิกาสภาพอากาศ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2024 เวลา 16:30 สามารถเข้าไปดูนาฬิกาแบบเรียลไทม์ที่ https://climateclock.world

การคำนวณเริ่มต้นด้วยการกำหนดงบประมาณคาร์บอนฯ ทั้งหมดที่อนุญาตภายใต้เป้าหมายนี้ ลบปริมาณคาร์บอนฯ ที่ปล่อยออกมาแล้ว จากนั้นหารส่วนที่เหลือด้วยอัตราการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกในปัจจุบันต่อปี ซึ่งเป็นการประมาณจำนวนปีที่เหลือจนกว่างบประมาณคาร์บอนจะหมดลง นาฬิกาจะอัปเดตการประมาณการเวลานี้ เป็นประจำเพื่อสะท้อนถึงข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนนอกจากนี้ยังสร้างความกดดันให้แก่นักลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ถอนเงินออกจากภาคธุรกิจนี้ไปสู่การลงทุนในพลังงานสะอาดแทน โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงความก้าวหน้าหรือถดถอยลงแบบเรียลไทม์ ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ในปัจจุบันโลกของเรามีอุณหภูมิร้อนกว่ายุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส เนื่องจากการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดคลื่นความร้อน ไฟป่า พายุ และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และเป็นเหตุผลที่ผู้นำโลกต้องตกลงร่วมกันในข้อตกลงปารีส เพื่อป้องกันไม่ให้โลกร้อนมากกว่าที่เป็นอยู่ 

หนทางป้องกันเพื่อไม่ให้โลกมีอุณภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจะแบ่งออกเป็น 6 ด้านได้แก่  

พลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันพลังงานทั่วโลกที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนอยู่ที่ 12.5% และกำลังเพิ่มขึ้น แต่ยังเร็วไม่มากพอ ซึ่งผู้สร้างนาฬิกายังเรียกร้องให้นานาชาติดำเนินการแข่งกับเวลาในการลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ซึ่งยังไม่มีรัฐบาลประเทศใดในโลกเต็มใจที่จะทำ 

การรักษาพื้นที่อาศัยของชนพื้นเมือง ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์ที่สำคัญต่อความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติของโลก 

ความสูญเสียและความเสียหายจากภาวะโลกรวน (Loss and Damage) โดย Loss คือมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไป ส่วน Damage คือความเสียหายต่อทรัพย์สินในเชิงกายภาพ 

กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund (GCF)) เป็นกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) จัดตั้งขึ้นโดย 194 ประเทศ ในปี 2013 เพื่อส่งเสริมประเทศกำลังพัฒนาให้ตอบสนองต่อความท้าทายที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันมีคำมั่นสัญญาที่ได้รับการยืนยันแล้วมูลค่ารวม 9.52 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี 

ความเท่าเทียมทางเพศ ในธรรมาภิบาลแห่งชาติเป็นวิธีแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ โดยปัจจุบันเปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่เป็นตัวแทนในรัฐสภาของประเทศทั้งหมดคือ 26.5% การเคลื่อนไหวของสตรีและการเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศทั่วโลกมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 50% ความต้องการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเจรจาและข้อตกลงทั้งหมด เพื่อต่อสู้กับผลกระทบด้านลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

การถอนการลงทุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนำแรงกดดันทางเศรษฐกิจมาสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน และส่งเสริมให้นักลงทุนปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่ยุติธรรมไปสู่พลังงานหมุนเวียน 

นอกจากนี้ ยังมีการริเริ่ม Climate clock global teams โดยภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคมทั่วโลก ประกอบไปด้วย ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ และนักเคลื่อนไหว ที่รับผิดชอบในการสร้างและดูแลรักษา Climate Clock โครงการริเริ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในวงกว้างเพื่อเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการแสดงเวลาที่เหลือต่อสาธารณะในการดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อจำกัดภาวะโลกร้อน ทีมงานร่วมมือกันในการอัปเดตข้อมูลและวิธีการที่ใช้ในการคำนวณเวลาที่เหลืออยู่ก่อนที่โลกจะหมด ‘งบประมาณคาร์บอน’ 

โดยสรุปแล้ว ความสำเร็จของโครงการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศอย่าง Climate clock ขึ้นอยู่กับความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของสาธารณะเป็นอย่างมาก โดยช่วยลดช่องว่างระหว่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความเข้าใจของสาธารณชนด้วยรูปแบบการนำเสนอสิ่งที่เป็นรูปธรรมถึงความเร่งด่วนของเรื่องนี้ อีกทั้งยังเป็นเครื่องเตือนใจอย่างชัดเจนว่ามนุษยชาติกำลังหมดเวลาในการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส และหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรง 

ภายในปี 2024 เมื่อการนับถอยหลังเหลือไม่ถึง 5 ปี เราจำเป็นต้องปรับใช้การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ในทันที วิกฤตการณ์ในอนาคต ด้านสภาพภูมิอากาศจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพลเมืองโลกในการรวมตัวกันและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกล้าหาญเพื่อรักษาอนาคตที่ยั่งยืน  

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia