วิกฤติค่าครองชีพทำให้การแก้ปัญหาวิกฤติภูมิอากาศถูกมองข้าม

วิกฤติค่าครองชีพทำให้การแก้ปัญหาวิกฤติภูมิอากาศถูกมองข้าม

รายงานโดย World Economic Forum ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือความท้าทายทางเศรษฐกิจระยะยาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่กลับเป็นเรื่องที่โลกนี้เตรียมพร้อมรับมือน้อยที่สุดเนื่องจากสารพัดปัญหาระยะสั้นนำโดยค่าครองชีพ 

รายงานความเสี่ยงโลกโดย World Economic Forum ซึ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้สะท้อนให้เห็นภาพที่น่ากังวล ความท้าทาย อาทิ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ปัญหาอุปทานพลังงานและอาหารที่ขาดแคลน และหนี้สาธารณะที่หนักหนาสาหัส กลายเป็นภัยคุกคามที่ทำให้รัฐบาลหลายแห่งเมินหน้าความร่วมมือที่จำเป็นสำหรับแก้ไขปัญหาวิกฤติภูมิอากาศ

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยง ผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม และผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจำนวนกว่า 1,200 คน รายงานโดย WEF ระบุว่าความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทศวรรษหน้าคือด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในปัจจุบันเบี่ยงเบนความสนใจของผู้นำทั่วโลกซึ่งบางคนอาจได้เข้าร่วมประชุมที่ดาวอส งานประชุมที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไร้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้

“ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะเผชิญกับการแลกได้แลกเสียที่รัฐบาลต้องตัดสินใจเมื่อเผชิญความท้าทายหลากหลาย ทั้งในแง่สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง ความล้มเหลวที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งที่ร้ายแรงที่สุดในระยะสั้น แต่ทั่วโลกกลับแทบไม่พร้อมรับมือกับความล้มเหลวดังกล่าวเลย” รายงานระบุ

จากความท้าทายระยะยาว 10 ประการ ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าความท้าทายที่สำคัญที่สุด 4 ประการแรกต่างเกี่ยวข้องกับภูมิอากาศทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศที่พังทลาย

ความเสี่ยงในระยะสั้นคือการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ซึ่ง “มีช่องว่างระหว่างความจำเป็นในทางวิทยาศาสตร์และความเป็นไปได้ทางการเมือง” Carolina Klint ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงจาก Marsh แสดงความเห็นว่า “เราจำเป็นต้องมีการสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงระยะสั้นกับความเสี่ยงระยะยาว เราจำเป็นต้องตัดสินใจบางเรื่องในปัจจุบันที่อาจรู้สึกขัดต่อความรู้สึก เนื่องจากเราอาจต้องจ่ายต้นทุนราคาแพงในปัจจุบัน แต่มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” หนึ่งในตัวอย่างคือเงินลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานสะอาด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวชะลอลงเมื่อทั่วโลกเผชิญวิกฤติพลังงานหลังเกิดสงครามยูเครน

ความล่าช้าดังกล่าวเกิดขึ้นแม้ว่าแรงกดดันจากวิกฤติภูมิอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ จะทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ฝ่ายบริการนักลงทุนของ Moody ประมาณการความสูญเสียจากการประกันภัยจากภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงห้าปีให้หลังเพิ่มขึ้นถึงราว 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

ความท้าทายในอีกสองปีข้างหน้าอันดับต้นๆ คือวิกฤติค่าครองชีพที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 และสงครามในยูเครนที่ทำให้ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงขึ้น และบีบสถานะทางการเงินของครัวเรือนทั่วโลก นอกจากนี้ ผลพวงของโรคระบาดและสงครามคือสัญญาณเปิดสู่ยุคสมัยใหม่ที่เศรษฐกิจไม่สดใสนัก

รัฐบาลและธนาคารกลางเผชิญกับสองทางเลือกที่ยุ่งยาก นั่นคือการควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่การกระทำเช่นนั้นก็เสี่ยงที่จะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือการจ่ายงบประมาณเพื่อปกป้องประชาชนจากผลลัพธ์อันเลวร้ายจากสถานการณ์ดังกล่าว ในขณะที่หนี้สาธารณะพุ่งตัวสูงลิ่ว

รายงานฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นภาวะย้อนรอยโลกาภิวัตน์ สงครามในยูเครนเน้นให้เห็นความจำเป็นของสหภาพยุโรปที่ต้องพึ่งพาพลังงานน้ำมันและแก๊สธรรมชาติของรัสเซีย ขณะที่การขาดแคลนไมโครชิปซึ่งเกิดจากมาตรการจำกัดการระบาดก็สะท้อนให้เห็นถึงอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขนาดยักษ์ในเอเชีย

“สงครามทางเศรษฐกิจจะกลายเป็นเรื่องสามัญธรรมดา” รายงานดังกล่าวระบุ “ความตึงเครียดจะทำให้มหาอำนาจในโลกใช้นโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาประเทศคู่แข่ง รวมทั้งสร้างข้อจำกัดในประเทศคู่แข่งแห่งใหม่อีกด้วย”

ความแตกแยกทางสังคมและเศรษฐกิจจะกลายสภาพเป็นปัญหาทางการเมืองซึ่งกระทบต่อชีวิตประชาชนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการอพยพย้ายถิ่นฐาน เพศ สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ศาสนา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้ประชาธิปไตยเสื่อมถอยลง

ปัจจัยใหญ่คือข้อมูลผิดและข้อมูลบิดเบือนจากผู้มีอิทธิพลทางการเมืองซึ่งเผยแพร่ความเชื่อสุดโต่ง ปลุกปั่นการเลือกตั้งด้วยโซเชียลมีเดีย ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อนก้อง’

อีกหนึ่งความเสี่ยงคืออาชญากรรมไซเบอร์ และความมั่นคงไซเบอร์ที่เกิดจากการเชื่อมโยงของระบบสาธารณะต่างๆ อาทิ การคมนาคม การเงิน และการประปา ซึ่งทำให้ระบบเหล่านี้เปราะบางต่อการโจมตีทางออนไลน์

การแข่งขันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเช่นปัญญาประดิษฐ์ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ คือทางออกบางส่วนของบางวิกฤติ แต่เทคโนโลยีดังกล่าวอาจยิ่งถ่างกว้างความเหลื่อมล้ำสำหรับประเทศที่ยากจนและไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้นได้

ความเสี่ยงเหล่านี้นำไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่สร้างความเหลื่อมล้ำ สร้างการถดถอยด้านการพัฒนามนุษย์ และมองข้ามความเสี่ยงสำคัญคือวิกฤติภูมิอากาศที่อาจสร้างความเสียหายมหาศาลในหลายทศวรรษหน้า

ถอดความและเรียบเรียงจาก Cost-of-living crisis overshadows ‘unavoidable’ climate action

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก