สรุปเหตุการณ์ ‘ไฟป่าฮาวาย’ ไฟป่าที่เลวร้ายสุดในรอบ 100 ปี 

สรุปเหตุการณ์ ‘ไฟป่าฮาวาย’ ไฟป่าที่เลวร้ายสุดในรอบ 100 ปี 

ไฟป่าฮาวายที่เพิ่งเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นไฟป่าที่รุนแรงมากที่สุดใน 100 ปี ของสหรัฐอเมริกา ด้านทางการฮาวายเปิดเผยรายชื่อผู้สูญหายจากเหตุการณ์ไฟป่าพบจำนวนตัวเลขพุ่งสูงเกือบ 340 คน ถึงแม้ว่าสถานการณ์ไฟป่าจะผ่านมาแล้ว 2 สัปดาห์ก็ตาม 

สถานการณ์ไฟป่าครั้งนี้อุบัติขึ้นในเกาะเมาวี 1 ใน 8 เกาะ ของรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม และกินระยะเวลายาวนานหลายสัปดาห์กว่าที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมเพลิงได้ โดยเพลิงไพรได้เข้าทำลายสิ่งปลูกสร้างสำคัญอย่างโรงพบาล โรงเรียน ตลอดจนสถานที่ทางวัฒนธรรมหลายแห่ง และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 115 คน โดยถือเป็นไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดของสหรัฐฯ ในรอบ 100 ปี นับตั้งแต่ปี 1918 เป็นต้นมา

เจ้าหน้าที่รัฐฮาวายประกาศรายชื่อผู้สูญหายจากไฟป่าแล้วรวมทั้งสิ้น 338 คน ซึ่งมาจากรายชื่อที่สำนักสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ FBI ได้รวบรวมเอาไว้ โดยจะถูกนับเฉพาะผู้สูญหายที่สามารถตรวจสอบชื่อและนามสกุลได้ หรือผู้ที่มีการแจ้งหายเอาไว้ 

ทั้งนี้ จำนวนรายชื่อที่ประกาศไปก่อนหน้าว่าสูญหายไปมากกว่า 1,000-1,100 คนนั้น เป็นความคาดเคลื่อนในการนับชื่อ กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ได้มีการรวมเอาคนที่รู้เพียงชื่อเดียวเอาไว้ หรือก็คือมีการนับซ้ำนั่นเอง ทำให้ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามียอดผู้สูญหายเกินไปกว่าจำนวนจริง แต่ในตอนนี้จำนวนได้ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 จากที่แจ้งไปก่อนหน้า

ไฟป่าในครั้งนี้ไม่ได้ทำลายเพียงพื้นที่ป่า แต่ยังลุกลามเป็นวงกว้างมาถึงเมืองและเขตที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยประกาศจากทางการระบุว่าไฟป่าครั้งนี้ขยายวงกว้างถึง 2,170 เอเคอร์ หรือราว 5,490 ไร่ 

เมืองลาไฮนา เป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุด โดยลาไฮนาถือเป็นเมืองที่สำคัญทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากถึง 2 ล้านคนต่อปีให้กับฮาวาย

สาเหตุของไฟป่าฮาวาย

สาเหตุของไฟป่ายังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าแท้จริงแล้วต้นเพลิงมาจากที่ใดและเกิดขึ้นจากอะไร ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ตัวอย่างเช่น กระแสลมแรงและสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ที่ทางการสหรัฐฯ ได้ออกเตือนไว้ก่อนหน้า ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เปลวไฟรุนแรงขึ้นมากกว่าเดิมด้วย

ส่วนอีกสาเหตุที่คาดการณ์ไว้ เชื่อว่ามาจากฝีมือของมนุษย์ เพราะเกือบ 85 เปอร์เซ้นต์ ของไฟป่าสหรัฐฯ เกิดจากมนุษย์ทั้งสิ้น ส่วนสาเหตุทางธรรมชาติมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ส่วนความรุนแรงของไฟป่าครั้งนี้เกิดจากกระแสลมแรง ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากเฮอริเคนโดรา ทางตะวันตกเฉียงใต้หลายร้อยไมล์ของฮาวาย ทำให้เพลิงพัดปลิวไหม้ไปทั่วเกาะในเวลาไม่กี่วัน 

นอกจากนี้ทางการยังได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุของตัวการที่ทำให้เพลิงไฟรุนแรงขึ้นในอีกหลายทาง อาทิ ความกดอากาศต่ำ พรรณพืชแห้งแล้ง หญ้าสูง ฯลฯ 

ความเสียหายของหายนะในรอบ 100 ปี 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ไฟป่าฮาวายในรอบนี้เป็นครั้งที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 100 ปี คร่าชีวิตผู้คนไปร้อยกว่าราย ยิ่งไปกว่านั้นขั้นตอนการกู้ร่างผู้เสียชีวิตหรือการตามหาผู้สูญหายเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมที่ยังไม่สู้ดี ประกอบกับความร้อนจากไฟและเศษซากปรักหักพังที่ทับซ้อนกันจนยากจะหาร่างมนุษย์ ทำให้ปฏิบัติการต้องใช้สุนัขสำหรับการกู้ร่างผู้เสียชีวิตและตามหาผู้สูญหาย โดยเป็นสุนัขที่ถูกฝึกมาให้ดมหาร่างของมนุษย์โดยเฉพาะ ซึ่งพวกมันสามารถแยกได้ทันทีเลยกว่ากลิ่นไหนเป็นกลิ่นของมนุษย์ 

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพซากเมืองที่มอดไหม้ทำให้สุนัขไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ จนต้องพักหน้าที่อยู่บ่อยครั้ง จึงเกิดความล่าช้าตามมา 

ด้านความเสียหาย ไฟป่าได้เผาทำลายอาคารบ้านเรือนไปกว่า 2,200 หลัง คิดเป็นที่อยู่อาศัย 86 เปอร์เซ็นต์ ด้านสำนักงานจัดการเหตุฉุกเฉินกลาง (FEMA) กล่าวว่า ฮาวายอาจต้องใช้เงินมากถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อฟื้นฟูและคืนสภาพเมืองให้กลับมาอยู่อาศัยและท่องเที่ยวได้ดังเดิม 

หากถามว่าทำไมอาคารบ้านเรือนถึงพังย่อยยับได้มากมายขนาดนี้ ด้าน Karen Clark & Co. บริษัทวิเคราะห์ความเสี่ยงของสหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เมืองถูกทำลายอย่างง่ายดาย เนื่องจกาสภาพอาคารบ้านเรือนค่อนข้างเก่าเป็นทุนเดิม โครงสร้างหลัก ๆ คือ ไม้ จึงไม่แปลกที่ทำให้เพลิงลุกลามไปอย่างรวดเร็ว 

แน่นอนว่าภาวะโลกร้อน (ที่ตอนนี้กลายเป็นโลกเดือดไปแล้ว) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทวีความรุนแรงของเหตุการณ์ไฟป่าในครั้งนี้ให้โหมกระหน่ำมากขึ้นด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ ประเด็นที่ไซเรนเตือนภัยพิบัติของทางฮาวายไม่ทำงานในช่วงที่เกิดไฟไหม้ ทำให้ประชาชนผู้รอดชีวิตไม่พอใจต่อเหตุการณ์นี้เป็นอย่างมาก เพราะนี้ถือเป็นมาตราการป้องกันภัยพิบัติพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ 

ด้านนายเฮอร์แมน อันดายา (Herman Andaya) ผู้บริหารสำนักงานจัดการเหตุฉุกเฉินเมาวีเคาน์ตี ได้ออกแถลงการณ์ถึงข้อผิดพลาดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าที่ไม่เปิดไซเรน เนื่องจากกลัวว่าผู้คนจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสัญญาณเตือนสึนามิและหลบหนีเข้าไปในพื้นที่ไฟป่าได้ เพราะโดยปกติแล้วไซเรนจะเตือนผู้คนเฉพาะคลื่นยักษ์เท่านั้น ทำให้ครั้งนี้ทางการเตือนภัยด้วยการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์และออกประกาศเตือนทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุแทน 

เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของมนุษย์ที่ตอกย้ำเราว่า โลกของเราได้เปลี่ยนไปแล้ว หากไม่รีบแก้ไขให้เร็วที่สุด เราอาจต้องเผชิญกับความสูญเสียและภัยพิบัติที่คาดไม่ถึงในอนาคตอันใกล้ 

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ