ศักยภาพมหาศาลด้านพลังงานลมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ศักยภาพมหาศาลด้านพลังงานลมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

หลากหลายประเทศต่างแข่งขันกันเก็บเกี่ยวพลังงานที่ไม่มีวันหมดอย่างลม ฟาร์มพลังงานลมปรากฎมากมายทั้งในแผ่นดินและนอกชายฝั่ง ผลิตพลังงานป้อนให้กับประชากรหลายล้านหลังคาเรือน

ฟาร์มพลังงานลมพบได้ทุกที่ตั้งแต่ยุโรปจนถึงเอเชีย ปัจจุบันเอเชียก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านพลังงานดังกล่าวโดยมีผู้เล่นสำคัญคือประเทศจีน

“ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอนาคต” Robert Liew นักวิเคราะห์ด้านพลังงานจากเครือบริษัทที่ปรึกษา Wood Mackenzie แสดงความเห็น “จากการประมาณการของเรา เราคาดว่าต้นทุนพลังงานลมนอกชายฝั่งของจีนนั้นต่ำลงมากๆ จนแทบจะแข่งขันได้กับพลังงานถ่านหินภายในสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมากๆ” 

“เช่นเดียวกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันที่ดูเหมือนกำลังค่อยๆ ลดการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์และถ่านหิน แล้วเปลี่ยนมาเป็นพลังงานลมนอกชายฝั่งซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน”

Orsted บริษัทข้ามชาติจากเดนมาร์กคือหนึ่งในบริษัทที่เข้าสู่ตลาดเอเชียแปซิฟิกโดยเล็งไปที่ตลาดเติบโตสูงอย่างไต้หวัน

ความสำคัญของเอเชียแปซิฟิก

Per Mejnert Kristensen ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Orsted เชื่อว่าภูมิภาคนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เขาระบุว่า “Orsted มีวิสัยทัศน์คือการสร้างโลกใบที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด และถ้าคุณต้องการทำเช่นนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง” 

เขากล่าวเสริมด้วยว่าสภาพแวดล้อมในการติดตั้งฟาร์มพลังงานลมนั้นยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง โดยพิจารณาจากความเร็วลม ไต้หวันมีศักยภาพสูงพอที่จะเป็นแนวหน้าในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน

ลมคือแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดทั่วโลก โดยผลิตพลังงานทั้งสิ้น 8 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก หากรวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ก็จะคิดเป็นสัดส่วน 12 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามเชื้อเพลิงฟอสซิลยังเป็นแหล่งพลังงานหลักโดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าต่อให้พลังงานลมจะเติบโตในระดับเลขสองหลักก็อาจยังเร็วไม่พอ

ความจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนาพลังงานลม

คณะกรรมการพลังงานลมโลกระบุว่ากำลังการผลิตติดตั้งของพลังงานลมจะต้องเพิ่มสี่เท่าตัวภายในทศวรรษนี้เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ขณะที่สถาบันคลังสมองด้านพลังงาน Ember ระบุว่าพลังงานลมจะต้องคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2577 หากเราต้องการบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน

การขยายตัวอาจเป็นหนึ่งในคำตอบของอุตสาหกรรมลม กล่าวคือเราต้องใช้ใบพัดและขนาดฟาร์มพลังงานลมที่ใหญ่ขึ้น ประเทศจีนระบุว่ามีกังหันพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีความสูงกว่า 250 เมตร และใบพัดขนาด 128 เมตรที่กินพื้นที่กว้างราวเจ็ดสนามฟุตบอล แม้ว่ายิ่งใหญ่จะยิ่งดี แต่ก็มีปัญหาตามมาเช่นกัน

ปัญหาของฟาร์มพลังงานลมขนาดใหญ่

ฟาร์มพลังงานลมขนาดยักษ์ติดตั้งและบำรุงรักษาค่อนข้างยุ่งยาก โดยกระบวนการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เรือราคาแพงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เมื่อปีที่ผ่านมา Cyan Renewables ได้เปิดตัวบริการให้เช่าเรือสำหรับฟาร์มพลังงานลมนอกชายฝั่ง “เราช่วยให้ฟาร์มพลังงานลมในเอเชียเกิดขึ้นได้จริง โดยให้บริการทั้งเรือเฉพาะทางสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานลมที่ใช้ทั้งการติดตั้งและบำรุงรักษา” James Chern ผู้บริหารบริษัทระบุ

อย่างไรก็ตาม Cyan Renewables ก็เผชิญปัญหาสำคัญเพราะความต้องการใช้งานเรือเหล่านี้สูงลิ่วหากเทียบกับปริมาณเรือที่มีให้บริการ “ปัจจุบันมีบริษัทต่อเรือรายใหญ่ห้าถึงหกแห่งในเอเชีย และอีกหนึ่งแห่งในยุโรปที่เร่งผลิตเรือดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่แล้วเรือหนึ่งลำต้องใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึงสามปี” Chern อธิบาย “แต่ความต้องการใช้งานมีสูงมาก นี่จึงเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่ยากจะปิดช่องว่างได้ อย่างน้อยก็เร็วๆ นี้”

Liew แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่าเรือล้ำสมัยนี้จำเป็นต้องใช้ในการติดตั้งฟาร์มพลังงานลม แต่ในหลายประเทศก็มีกฎเกณฑ์ที่ห้ามเรือต่างสัญชาติเข้ามาใช้น่านน้ำ “เรามีปัญหาทางเรือที่ไม่เพียงพอ และนโยบายการใช้น่านน้ำซึ่งนำไปสู่ปัญหาคอขวดที่ยากจะแก้ไข”

หรือฟาร์มพลังงานลมแบบลอยน้ำคือทางออก?

แม้ว่าจะมีความท้าทายเหลืออยู่ แต่สำหรับบริษัทอย่าง Orsted ไม่มีสิ่งไหนที่ทำไม่ได้ ปัจจุบันพวกเขากำลังมองหานวัตกรรมใหม่นั่นคือฟาร์มพลังงานลมแบบลอยน้ำ

“ในระยะยาว โลกของเรากำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของฟาร์มพลังงานลมแบบลอยน้ำ มหาสมุทรนั้นกว้างใหญ่และความเร็วลมในมหาสมุทรก็ยอดเยี่ยมมากๆ แต่ไม่ใช่ทุกที่ที่ตื้นพอสำหรับการปักกังหันพลังงานลมนอกชายฝั่ง” Kristensen กล่าว “ผมคิดว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะเริ่มก่อสร้างฟาร์มพลังงานลมนอกชายฝั่งแบบลอยน้ำ”

ถอดความและเรียบเรียงจาก Asia Pacific emerges as frontrunner in race to harness wind power

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก