วิกฤต ‘แม่น้ำโขง’ ผันผวน กับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถูกซ่อนอยู่ท้ายเขื่อน

วิกฤต ‘แม่น้ำโขง’ ผันผวน กับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถูกซ่อนอยู่ท้ายเขื่อน

‘ลำน้ำโขง’ แม่น้ำสายใหญ่ ที่มีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะ บริเวณที่ราบสูงทิเบตในตอนเหนือของทิเบต และชิงไห่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไหลสู่ประเทศเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และออกสู่ทะเลที่เวียดนามรวมระยะทางกว่า 4,880 กิโลเมตร

ด้วยเส้นทางที่ไหลผ่านหลายประเทศ ทำให้แม่น้ำโขงเป็นสายธารที่หล่อเลี้ยงผู้คนนับล้านชีวิต การันตีด้วยพันธุ์ปลากว่า 1,300 ชนิด อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพของผู้คนสองฟากฝั่ง รวมถึงปัจจัยทางทรัพยากรอื่น ๆ ที่เกื้อหนุนหมุนเวียนเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

กระทั่งการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาที่บริเวณประเทศต้นน้ำ อย่างโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ถูกสร้างอยู่ทางตอนบน ส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งมีชีวิตที่อยู่ท้ายเขื่อน

เขื่อนม่านวาน (Manwan) แห่งมณฑลยูนนาน เป็นปราการน้ำแห่งแรกที่จีนได้สร้างขึ้นเมื่อปี 2539 กลายเป็นปฐมบทแห่งความสูญเสียสมดุลทางสิ่งแวดล้อมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ตามข้อมูลขององค์กรแม่น้ำนานาชาติที่ระบุว่า กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา บริเวณแม่น้ำโขงตอนบนมีเขื่อนที่สร้างเสร็จเเล้ว 11 แห่ง ซึ่งหากลองมานั่งดูแผนที่ลุ่มน้ำโขงในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าทั้ง 11 เขื่อนถูกสร้างในลักษณะถอดตัวเรียงยาวลงมาตามทิศทางการไหลของกระแสน้ำ เรียกว่า ‘เขื่อนขั้นบันได’ (Lancang cascade) มีพื้นที่ครอบคลุมการบริหารจัดการตอนบน รวมอีก 3 แห่ง ที่อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และอีก 10 แห่งเป็นแผนในอนาคตข้างหน้า
.

เขื่อนม่านวาน (Manwan) แห่งมณฑลยูนนาน เป็นปราการน้ำแห่งแรกที่จีนได้สร้างขึ้นเมื่อปี 2539 l Photo : Yunxian Federation of Literary and Art Circles

 

1

ที่ผ่านมา การสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ท้ายเขื่อนหลาย ๆ แห่ง ที่ได้เกิดปรากฎการณ์ที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติ อาทิ น้ำขึ้น – ลงผิดฤดูกาล แม่น้ำโขงมีสีใสไร้ตะกอน รวมถึงการหายไปของชนิดพันธุ์อันหลากหลายของระบบนิเวศในลุ่นน้ำ

ว่ากันด้วยเรื่องแรก ภาวะการผันผวนของระดับน้ำที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การก่อสร้างเขื่อนม่านวานเมื่อ 25 ปี ก่อนหน้านี้ ซึ่งนอกเหนือจากประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่หนักหน่วงขึ้นแล้ว ยังเกิดจากปัจจัยการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนที่อยู่สูงขึ้นไป

‘เมื่อเข้าสู่ภาวะที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตที่ใช้ประโยชน์ในลุ่มน้ำแห่งนี้’

‘แม่น้ำโขงแห้งขอด’ กลายเป็นภาพติดตาของผู้คนที่ติดตามข่าวสารสิ่งแวดล้อม และชาวบ้านที่อาศัยริมชายโขง ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นผลกระทบโดยตรง จากการบริหารจัดการน้ำของเขื่อน ผู้เขียนขอยกเคสล่าสุดมานำเสนอถึงความเดือดร้อน จากกรณีในรอบไตรมาสที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีออกประกาศแจ้งเตือน เรื่องระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลง จากการลดการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง ที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนจีน สาระสำคัญอยู่ที่การแจ้งปรับลดการระบายน้ำ จากเดิมมีการระบายน้ำวันละ 1,904 ลบ.ม./วินาที เหลือวันละ 1,000 ลบ.ม./วินาที เพื่อบำรุงรักษาสายส่งโครงข่ายระบบไฟฟ้าเป็นเวลากว่า 20 วัน  

ดังนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจึงไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นมนุษย์ปลายน้ำ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่อยู่ท้ายเขื่อน นับตั้งแต่พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำลงมา โดยจากการสำรวจของกลุ่มรักษ์เชียงของ พบว่าระดับน้ำโขงได้ดึงน้ำจากลำน้ำสาขาให้ลดลงด้วย เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำแม่กก

ทั้งนี้ แม่น้ำโขงช่วงท้ายเขื่อนไซยะบุรีในพื้นที่สปป.ลาว บริเวณสถานีเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย สถานีหนองคาย สถานีนครพนม สถานีโขงเจียม ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนไซยะบุรี โดยดัชนีการชี้วัดของปัญหาที่แจ่มแจ้งที่สุด คงไม่พ้นเรื่องราวความเสียหายของลำน้ำโขงลดลงในหลายจังหวัด

การปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนจีนในครั้งนี้กลายเป็นที่จับตามองของผู้คนในวงกว้าง ยิ่งเมื่อเข้าสู่ห้วงยามตามสัญญา กลับมีข้อมูลอัตราการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงที่ยังไม่กลับคืนสู่อัตราปรกติ โดยทางการจีนแจ้งว่า ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนจิ่งหง ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 1,000 ลบ.ม./วินาที มีค่าเป็น 2 เท่า ของการไหลตามธรรมชาติ

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่ติดตามสถานการณ์ทุกช่วงเวลา ตัดสินใจหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อประสานแจ้งไปยังกระทรวงน้ำจีน ตามกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง สาขาทรัพยากรน้ำ เพื่อขอความร่วมมือในการกลับมาปล่อยน้ำในระดับปกติ และแบ่งปันแผนรายไตรมาสที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำไปยังประเทศสมาชิก

โดยมีหัวข้อหลักอยู่สามประการคือ หนึ่ง ทางการจีนต้องมีการแจ้งเตือนข้อมูลล่วงหน้า 2 สัปดาห์ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการระบายน้ำที่ 400 ลบ.ม./วินาที เพื่อเป็นการแจ้งหน่วยงานในพื้นที่และประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง สำหรับวางแผนต่อการเปลี่ยนแปลงการขึ้นลงระดับน้ำ สอง ขอให้เขื่อนจิ่งหงมีอัตราการระบายน้ำจากเขื่อนในเดือนกุมภาพันธุ์ 1,600 ลบ.ม./วินาที และในเดือนมีนาคม 1,900 ลบ.ม./วินาที

ประการท้ายสุด ขอให้การปล่อยน้ำจากตัวเขื่อนจิ่งหงในแต่ละวัน ไม่ควรเปลี่ยนอัตราการระบายมากกว่า 400 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากความเร็วจะมีผลต่อระดับน้ำบริเวณท้ายน้ำ ซึ่งทำให้ระดับน้ำขึ้น – ลงภายใน 1 วัน เกิดความผันผวนของระดับน้ำที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตริมฝั่ง เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง การพังของตลิ่ง หรือกิจกรรมทางด้านประเพณี วัฒนธรรม

คงต้องรอดูท่าทีว่าทางการจีนจะมีแอคชันต่อจากนี้อย่างไร…
.

เขื่อนจิ่งหง l Photo Japan Times

 

2

มาพูดถึงรายละเอียดปลีกย่อยของความเสียหายจากภาวะน้ำโขงขึ้น – ลงไม่ปรกติกันบ้าง

เรื่องแรกขอชวนคิดเรื่องของน้ำลดก่อน ลองนึกถึงภาพลำน้ำโขงที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของผู้คนสองฝากฝั่ง ‘เหือดแห้ง’ จนเห็นเนินทราย หลายพื้นที่แห้งขอดขนาดสามารถเดินเท้า ข้ามจากฝั่งไทยไปฝั่งสปป.ลาว โดยไม่ต้องพึ่งเรือติดเครื่องยนต์

นอกจากนี้ยังมีข้อฉงนเพิ่มขึ้นมาใหม่ เมื่อแม่น้ำโขงมีสีที่แปรเปลี่ยนไปจากธรรมชาติ ตามที่ผู้อ่านคงพอจะทราบกันอยู่แล้วว่า สีของแม่น้ำโขงค่อนไปทางขุ่น เนื่องจากแม่น้ำโขงอุดมไปด้วยแร่ธาตุและตะกอนมากมาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกิดจากธรรมชาติ

แต่จากข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฎ มีรายละเอียดพอสังเขปว่า การที่ ‘น้ำโขงเปลี่ยนสี’ จนดูสวยงามดุจน้ำทะเลนั้น แสดงให้เห็นถึงภาวะวิกฤต เนื่องจากแม่น้ำโขงเหือดแห้งจนเกิดสันดอน จึงไม่มีการไหลเวียนตามวิถีธรรมชาติ ทำให้เกิดการตกตะกอนจนน้ำใส

ผลพวงที่ตามมาจะนำไปสู่การลดลงของชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิต ที่ต้องอาศัยแร่ธาตุในแม่น้ำดำรงชีพ ซึ่งความเห็นของนักวิชาการหลายคนได้ชี้นิ้วไปทิศทางเดียวกัน ว่าต้นเหตุความเสียหายของระบบนิเวศในรอบนี้มาจากการสร้างเขื่อน นำไปสู่การจัดการระบบน้ำด้วยมือมนุษย์และเครื่องจักร

ขยายความไปถึงแหล่งอาหารของสัตว์ในแม่น้ำโขงโดยเฉพาะป่าน้ำท่วม หรือ ป่าไคร้ (คนไทยอีสานริมฝั่งโขงเรียกตามชนิดของต้นไม้) ซึ่งพบมากมายตามลำน้ำ หรือเกาะแก่ง ซึ่งจะมีน้ำเข้าท่วมในหน้าฝน ใบและดอกก็เป็นอาหารของปลาตามรากและลำต้น ยังเป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำ พอหน้าแล้งน้ำลดก็ยังเขียวชอุ่ม แต่หากน้ำหน้าฝนน้อยป่าเหล่านี้ก็ตาย อาหารของปลา บ้านให้สัตว์น้ำวางไข่ เป็นแหล่งอนุบาลและอาศัย ก็จะหายไปทั้งหมด

นอกจากภาวะทางเศรษฐกิจที่ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบแล้ว คนเมืองอย่างทั่วไปอย่างเรา ๆ อาจได้รับแรงกระเพื่อมจากคลื่นลูกนี้เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากปลาหลายชนิด ซึ่งเป็นอาหารหลักในครัวเรือนไทยเสี่ยงสูญพันธุ์

ขบคิดกันต่อเรื่องน้ำขึ้นผิดฤดูกาล ซึ่งการเกิดขึ้นของสภาวะผิดแผกธรรมชาติ ก็มาจากปัจจัยการปล่อยน้ำของเขื่อนต้นน้ำ ซึ่งผู้เขียนได้อ่านความเห็นของผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ให้ข้อมูลทางกับไทยรัฐว่า เวลาหน้าแล้งก็จะมีการปล่อยน้ำให้ไหลลงมา ทำให้ปลาเกิดเข้าใจผิดว่าเป็นช่วงน้ำหลาก ปลาที่กำลังเริ่มตั้งท้องวางไข่ (ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่งตั้งระยะแรก จาก 5 ระยะ) ก็จะเริ่มว่ายน้ำอพยพ มาวางไข่ยังแหล่งน้ำลึก  แต่ปลาเหล่านั้นก็วางไข่และผสมพันธุ์ไม่ได้ เพราะยังไม่ถึงเวลาผสมพันธุ์

ภาวะน้ำโขงขึ้น – ลงอย่างผิดธรรมชาติ ส่งผลกับกระทบกับทุกชีวิตทั้งขึ้นทั้งล่อง…
.

แม่น้ำโขงเปลี่ยนสี l Photo : Posttoday

 

3

เป็นไปไม่ได้เลยที่ธรรมชาติในแม่น้ำโขงจะสามารถสื่อสารความทุกข์ร้อนของตัวเองเป็นภาษามนุษย์ได้ ผู้เขียนจึงได้ไปพูดคุยกับ ‘อ้อมบุญ ทิพย์สุนา’ นายกสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขง

อ้อมบุญ เฝ้าสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำสายนี้ตั้งแต่ช่วงปี 2553 จนได้พบกับสภาพนิเวศที่เปลี่ยนไป ในปีนั้นเกิดปรากฎการณ์น้ำแห้งขอดในช่วงฤดูร้อน แต่อีกสามปีต่อมาในฤดูเดียวกัน แม่น้ำโขงกลับแล้งหนักขึ้นทุกรอบปี ประจักษ์พยานทางสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา ทำอ้อมบุญได้ทราบว่า ‘แม่น้ำโขงกำลังจะเปลี่ยนไป’ และพอลองขุดคุ้ยรายละเอียดต่าง ๆ จึงพบว่า มันเกิดจากการบริหารการจัดการของเขื่อนจีน

ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเขื่อนไซยะบุรีสร้างแล้วเสร็จ ส่งผลให้พี่น้องริมโขงทางภาคเหนือและภาคอีสาน ไม่สามารถใช้ข้อมูลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำร่วมกันได้ เนื่องจากถูกเขื่อนดังกล่าวกั้นกลาง ปัจจัยที่ชัดเจนคือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ต่างกัน อย่างการที่แม่น้ำโขงมีสีฟ้าจะพบเห็นได้แค่ในส่วนของพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อน

“พอน้ำโขงใสจนสามารถเห็นปลาได้ชัดเจน ก็มีประชาชนนักท่องเที่ยวทั่วไปมาดำน้ำและใช้ฉมวกยิงปลา ซึ่งปลาที่ถูกยิงเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ หากปลาเหล่านี้ถูกล่าด้วยความสนุกของมนุษย์ทุกวัน มันจะหายไปจากระบบนิเวศ ย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขงแน่นอน”

ปัจจัยข้างต้นทำให้อ้อมบุญ และพี่น้องชาวอีสานริมฝั่งโขงกว่า 50 ชีวิต เดินทางเข้าเมืองกรุง เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแก้ปัญหาผลกระทบจากภาวะระดับน้ำโขงผันผวน ในที่ 11 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นก่อนวันหยุดเขื่อนโลก (14 มีนาคม) เพียงสามวัน

กิจกรรมต่อเนื่องที่น่าสนใจคือ ‘เดินเท้าเว้าแทนปลา’ ที่พวกเขาร่วมชุมนุมกัน และเรียกร้องให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำโขง โดยอ้อมบุญได้มุ่งทำหนังสือถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกร้องให้มีการคุ้มครองพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาที่กำลังถูกล่า ก่อนที่จะเกิดวิกฤตสูญพันธุ์ในอนาคต

“หลายคนเวลาพูดถึงเรื่องแม่น้ำโขงก็จะพุ่งไปหาแต่ทางจีน ซึ่งมันก็ได้รับผลกระทบจากเขาจริงๆ แต่เรากลับรู้สึกว่ามันไม่ได้ถูกพูดถึงกันรายละเอียด ที่ว่าเขื่อนที่ใกล้ที่สุดก็เป็นเขื่อนไทย มันเหมือนกับการแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก ลูบไปตรงไหนก็เจอแต่จมูกตัวเอง มันเป็นการเบี่ยงเบนให้สาธารณชนด่าจีนอย่างเดียว ทั้งที่ตัวเองก็เป็นศูนย์กลางรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อน” อ้อมบุญ ทิพย์สุนา กล่าว
.

กิจกรรมเดินเท้าเว้าแทนปลา l Photo The 1997

 

4

เป็นที่ทราบกันดีว่า สปป.ลาว ปวารณาตนเป็น ‘แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ แหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน ป้อนขายให้กับประเทศในภูมิภาค ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศคู่ขาที่รับซื้อไฟฟ้าจากลาวอย่างต่อเนื่อง

เขื่อนไซยะบุรี สร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทย มีการส่งออกเข้าไทยร้อยละ 95 และส่วนที่เหลือเอาไว้ใช้ในประเทศลาว โดยส่วนที่จะขายให้กับไทยมีอัตราเฉลี่ยยูนิตละ 2 บาท

ส่องดูมูลค่าโครงการของเขื่อนไซยะบุรีอยู่ที่ 4,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (134,876 ล้านบาท) โดย ซีเค พาวเวอร์ บริษัทในเครือของ ช.การช่าง บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากหลายธนาคาร และสถาบันการเงินของไทยเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

จึงเกิดคำถามตามมาว่า สุดท้ายแล้วปัญหาความผันผวนของแม่น้ำโขงมันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจาก ‘เขื่อนจีน’ เพียงอย่างเดียว แต่มันอาจรวมไปถึง ‘เขื่อนลาวสัญชาติไทย’ อย่างเขื่อนไซยะบุรีด้วย ?

ท้ายที่สุดนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการแก้ปัญหาของรัฐไทย ในมิติเชิงรุกกับเขื่อนจีน ต่อปัญหาการความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง ที่เป็นมากกว่าการส่งหนังสือเพื่อขอร้องให้เปิด – ปิด ประตูน้ำ เป็นครั้ง ๆ คราว ๆ  รวมไปถึงการสังเคราะห์ และนำบทเรียนความพังทลายของระบบนิเวศจากการสร้างเขื่อน มาปรับใช้เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างยั่งยืน เกื้อหนุนสมดุลของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดพันธุ์…

และหวังว่าแม่น้ำโขงจะกลับคืนสภาพเดิมในเร็ววัน

 

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ