บิล เกตส์ เขียนอะไรไว้ในหนังสือเรื่องโลกร้อนของเขา

บิล เกตส์ เขียนอะไรไว้ในหนังสือเรื่องโลกร้อนของเขา

มีตัวเลขสองตัวที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ ‘5.1 หมื่นล้าน’ และ ‘ศูนย์’
.

‘5.1 หมื่นล้าน’ คือจำนวนตันของแก๊สเรือนกระจกที่จะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในแต่ละปี ส่วน ‘ศูนย์’ คือระดับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่เราตั้งเป้าว่าต้องไปให้ถึง หากเราจะหยุดสภาวะโลกร้อน และหลีกเลี่ยงผลกระทบเลวร้าย จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มนุษย์จะต้องหยุดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก 

ชั้นบรรยากาศนั้นเหมือนกับอ่างอาบน้ำซึ่งกำลังค่อย ๆ เติมน้ำเข้าไปจนเต็ม ที่แม้น้ำจะไหลช้าแค่ไหน แต่สุดท้ายน้ำก็ยังล้นออกจากอ่างอยู่ดี เป้าหมายการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจึงไม่สมเหตุสมผล เพราะเป้าหมายที่ควรจะเป็นจะเท่ากับศูนย์เท่านั้น

แม้การบรรลุตัวเลขดังกล่าวจะฟังดูเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อปีที่ผ่านมา ที่ทั่วโลกต่างเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เราปล่อยแก๊สเรือนกระจกน้อยลง แต่มันก็เป็นเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือคิดเป็น 4.8 – 4.9 หมื่นล้านตันจากเดิม 5.1 หมื่นล้านตัน 

แก๊สเรือนกระจกที่ลดลง 5 เปอร์เซ็นต์นั้นถือว่ายากลำบากอย่างยิ่ง เพราะมีประชาชนกว่า 2 ล้านคนเสียชีวิต อีกหลายสิบล้านคนต้องตกงาน คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า นี่คงเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดซ้ำสอง แต่ความสูญเสียขนาดนี้กลับทำให้แก๊สเรือนกระจกลดลงเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ

การลดลงเพียงเล็กน้อยนี้สะท้อนให้เห็นว่า เราไม่อาจลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเหลือศูนย์ เพียงแต่การนั่งเครื่องบินหรือขับรถน้อยลง ปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยเครื่องมือใหม่ ๆ ไม่ต่างจากการที่เราพยายามค้นหาวิธีการรักษา หรือวัคซีนเพื่อรับมือไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือแนวทางการผลิตไฟฟ้า การสร้างสิ่งของ ผลิตอาหาร รักษาอุณหภูมิในอาคาร รวมถึงขนส่งคนและสินค้าโดยไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 

ผมทราบดีว่า ผมคงไม่ใช่คนส่งสาส์นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดีนัก โลกนี้ไม่ได้ขาดแคลนคนรวยที่มีไอเดียว่า คนอื่นควรจะต้องทำอะไร หรือคนรวยที่คิดว่า การใช้เทคโนโลยีจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ผมมีบ้านหลังใหญ่และมีเครื่องบินส่วนตัว เมื่อครั้งไปประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีส ผมยังนั่งมันด้วยซ้ำ แล้วผมเป็นใครที่จะมาคอยสั่งสอนคนอื่นให้รักษาสิ่งแวดล้อม ?

ผมยอมรับความผิดทั้งสามประการ ปฏิเสธไม่ได้ว่าผมเป็นคนรวยที่ชอบออกความเห็น ผมเชื่อเสมอว่า ความเห็นดังกล่าวผ่านการประมวลอย่างถี่ถ้วน และผมเองก็กระหายที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ

ผมเป็นพวกบ้าเทคโนโลยี เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมทราบว่านวัตกรรมไม่ใช่สิ่งเดียวที่จำเป็นต้องใช้ แต่เราไม่สามารถอยู่บนโลกได้หากขาดเทคโนโลยี แน่นอนว่าเทคโนโลยีอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน

เป็นเรื่องจริงที่รอยเท้าคาร์บอนของผมนั่นมหาศาล ผมเองก็รู้สึกผิดกับเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน การที่ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ ยิ่งทำให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก โดยลดรอยเท้าคาร์บอนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นับตั้งแต่ปีที่แล้ว ผมเริ่มสั่งซื้อน้ำมันเครื่องบินที่ยั่งยืน และซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อหักลบการปล่อยแก๊สเรือนกระจก จากการใช้เครื่องบินของครอบครัว ส่วนในด้านอื่น ๆ นั้น ผมก็ซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัทที่พยายามดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ และองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ติดตั้งพลังงานสะอาดในราคาที่ซื้อหาได้ให้บ้านแต่ละหลังในชิคาโก

ผมยังลงทุนในเทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ เช่น การผลิตไฟฟ้าหรือรถยนต์ ซึ่งได้รับการกล่าวถึงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น รถยนต์โดยสารคิดเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในภาคคมนาคม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 16 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั้งหมด ขณะที่การผลิตเหล็กกล้าและซีเมนต์ คิดเป็นราว 10 เปอร์เซ็นต์

ในแต่ละปี สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวก็ผลิตซีเมนต์กว่า 96 ล้านตัน แต่ที่นี่ยังไม่ใช่ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด เพราะจีนใช้คอนกรีตปริมาณมหาศาล โดย 16 ปีที่ผ่านมา ใช้ปริมาณเทียบเท่ากับที่สหรัฐใช้ทั้งศตวรรษที่ 20

การผลิตซีเมนต์จำเป็นต้องใช้แคลเซียม เพื่อให้ได้แคลเซียม คุณต้องเริ่มจากการนำหินปูนมาเผาในเตาที่มีความร้อนสูง ซึ่งจะทำให้เราได้แคลเซียม และมีของแถมมาด้วย คือแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่มีใครทราบวิธีอื่นในการผลิตแคลเซียมนอกจากวิธีนี้ ดังนั้นการผลิตซีเมนต์ปริมาณมหาศาล ก็เท่ากับการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาลเช่นกัน

นับจากปัจจุบันถึงอีก 30 ปีข้างหน้า การผลิตซีเมนต์ของโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเติบโตของแวดวงการก่อสร้างในจีน และประเทศกำลังพัฒนาบางแห่ง ก่อนที่ปริมาณการผลิตจะค่อย ๆ ลดลงเหลือเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตในปัจจุบัน ปัญหาซีเมนต์นั้นเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก แต่มีบางบริษัทที่มีความคิดน่าสนใจ

แนวคิดแรกคือ การรีไซเคิลคาร์บอนไดออกไซด์แล้วฉีดกลับเข้าไปในซีเมนต์ ก่อนที่จะถูกนำไปใช้ที่พื้นที่ก่อสร้าง บริษัทเจ้าของแนวคิดดังกล่าวคือ CarbonCure มีลูกค้าจำนวนไม่น้อย เช่น LinkedIn และ McDonald’s วิธีการนี้สามารถลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 33 เปอร์เซ็นต์ได้ในภายหลัง

อีกหนึ่งวิธีที่เป็นไปได้ในทางทฤษฎีคือ การสร้างซีเมนต์จากน้ำทะเล ที่ประกอบการคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้า โดยผู้คิดค้นวิธีดังกล่าวคาดว่า จะช่วยลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์

ผมลงทุนเป็นมูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อหวังจะช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ ทั้งการพัฒนาพลังงานสะอาดที่ใช้การได้ การผลิตเหล็กกล้า เนื้อสัตว์ และซีเมนต์คาร์บอนต่ำ แน่นอนว่าการลงทุนเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้รอยเท้าคาร์บอนของผมเล็กลง แต่หากผมเลือกบริษัทที่ประสบความสำเร็จ นวัตกรรมเหล่านั้น จะช่วยลดคาร์บอนมากกว่าที่ครอบครัวผมผลผลิต นอกจากนี้เป้าหมายของการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ไม่ใช่เพื่อหักกลบลบรอยเท้าของตนเอง แต่เพื่อหลีกเลี่ยงวิดฤติภูมิอากาศต่อมนุษยชาติ

เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรงเมื่อ พ.ศ. 2561 การสนับสนุนโครงการเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ลดน้อยถอยลงไปด้วย เรามองไม่เห็นความหวังที่จะจัดการกับสองวิกฤตการณ์ในเวลาเดียวกัน แต่ครั้งนี้ต่างออกไป แม้ว่าโรคระบาดใหญ่จะทำให้เศรษฐกิจเราย่ำแย่ แต่เสียงสนับสนุนโครงการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงแข็งแกร่ง 

คำถามในตอนนี้คือ เราจะทำอย่างไรเพื่อให้กระแสดังกล่าวกลายเป็นรูปธรรม สำหรับผม คำตอบนั้นชัดเจนคือ เราจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี ออกแบบนโยบายและโครงสร้างตลาด เพื่อให้มนุษย์เดินบนเส้นทางที่มีปลายทาง คือการขจัดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั้งหมดภายใน พ.ศ. 2593

 


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ How To Avoid A Climate Disaster: The Solutions We Have And The Breakthroughs We Need เผยแพร่ที่ Bill Gates on the climate crisis: ‘I can’t deny being a rich guy with an opinion’

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก