‘นกปรอดหัวโขน’ ความงดงาม ที่สักวันอาจเหลือให้ชมเพียงรูปภาพ

‘นกปรอดหัวโขน’ ความงดงาม ที่สักวันอาจเหลือให้ชมเพียงรูปภาพ

ในวันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา นายชนนพัฒน์ นาคสั้ว สส.สงขลา เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า กลุ่ม สส.ภาคใต้ โดยมี พล.ต.อ.สุรินทร์ ปานาเร่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา เขต 8 เป็นแกนนำ 

ได้มีการร่วมหารือ ในประเด็น แนวทางที่จะผลักดันและยื่นญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการถอดนกปรอดหัวโขน (หรือนกกรงหัวจุก) ออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง

โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์ปัจจุบันของนกปรอดหัวโขน สามารถเพาะและขยายพันธุ์ได้แล้วในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบกับปริมาณนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ

ซึ่งทางกลุ่ม สส.ภาคใต้ เห็นว่า การถอดออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง และส่งเสริมให้เกิดการเพาะเลี้ยง จะทำให้สามารถส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนภาคใต้ได้

รวมทั้งการเลี้ยงนกปรอดหัวโขนยังเป็นวิถีที่สืบทอดกันมายาวนาน และได้รับความนิยม แพร่หลายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ และต่างประเทศด้วย

ซึ่งที่ผ่าน มีความพยายามที่จะถอดถอนนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองมาโดยตลอด เช่น เมื่อ ปี พ.ศ. 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เผยในที่ประชุมได้มีการพิจารณาข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องการให้ปลดนกกรงปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นายแพทย์ รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ ‘หมอหม่อง’ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา และนักอนุรักษ์เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Rungsrit Kanjanavanit เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ระบุข้อความว่า

“ทางชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา มีข้อคัดค้านในประเด็นควาพยายาม ที่จะขอถอดถอนนกปรอดหัวโขน ออกจากบัญชีสัตว์สงวน ด้วยเหตุผลดังนี้

1. หากจะมีการถอดถอน สัตว์ชนิดใด ๆ ออกจาก บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ชนิดนั้น ประชากรในธรรมชาติ มีมากพอ คงที่ หรือเพิ่มจำนวนจนไม่ต้องการการคุ้มครองทางกฎหมายซึ่ง นายแพทย์ รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง ระบุว่า ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา จำนวนประชากรของนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติลดลงกว่า 90% (ข้อมูลโครงการสำรวจประชากรนกประจำปีดอยอินทนนท์)

2. หากยอมให้มีการถอดถอนนกปรอดหัวโขน ออกจากบัญชีสัตว์สงวน ด้วยเหตุผลความนิยมของตลาดแล้ว อาจทำให้ประเด็นนี้ถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการการถอดถอน สัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่คนนิยมเลี้ยง ตามมาอีกแน่นอน เช่น นกกางเขนดง ฯลฯ ที่กำลังโดนแรงกดดันจากความต้องการของตลาด ทำให้ประชากรในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว

3. นกปรอดหัวโขน เป็นนกที่มีระเบียบอนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้อยู่แล้ว หากเป็นนกที่ได้การขึ้นทะเบียน ขออนุญาตอย่างถูกต้อง ถ้าหากต้องการที่จะเพาะพันธ์ุนกปรอดหัวโขน ให้สะดวก กว้างขวางขึ้น ควรมุ่งเน้นไปในเรื่องของการแก้ไขระเบียบและขั้นตอน ในการขออนุญาตเพาะพันธุ์ จะเป็นการแก้ไขที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ

4. เนื่องจากการถอดถอนนกปรอดหัวโขน ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง นกปรอดหัวโขนในธรรมชาติก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองใด ๆ โดยกฎหมายอีกต่อไป ซึ่งอาจมีการล่า และจับออกจากธรรมชาติมากขึ้น”

และมีข้อโต้งแย้งในประเด็นนี้ว่า ที่ปริมาณของนกปรอดหัวโขน ลดลง เป็นผลมาจากพื้นที่ป่าที่ลดลง การถอดถอนให้สามารถนำมาเพาะขยายพันธุ์ จะเป็นช่วยอนุรักษ์ไม่ให้นกชนิดนี้สูญพันธุ์ ซึ่งหากมัวแต่อนุรักษ์นกที่อยู่ในป่า ยังไงนกก็สูญพันธุ์อยู่ดี

หมอหม่อง ยังระบุอีกว่า กรณีนกปรอดหัวโขนนั้น ประชากรลดลงไม่ได้มีเหตุผลหลักมาจากการลดลงของพื้นที่ป่า เนื่องจากนกปรอดหัวโขนไม่ได้มีถิ่นอาศัยในพื้นที่ป่าสมบูรณ์ แต่นกชนิดนี้อาศัยอยู่บริเวณ ชายป่า หรือพื้นที่การเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย และรายงานความก้าวหน้างานวิจัยของ สีฟ้า ละออง ได้ศึกษา การแพร่กระจายของนกปรอดหัวโขน (Pycnonotus jocosus) ในพื้นที่อนุรักษ์ของ ประเทศไทย พบว่าในพื้นที่อนุรักษ์นกปรอดหัวโขนชอบอาศัยในพื้นที่ดังต่อไปนี้ ไร่ร้าง ทุ่งหญ้า ป่าโปร่ง ป่ารุ่น ชายป่า ป่าดิบเขา (สีฟ้า ละออง, 2553)

ที่มา : FB : Rungsrit Kanjanavanit

เหตุผลที่นกปรอดหัวโขนมีประชากรลดลง เนื่องจากที่นิยมในตลาดค้านก ทำให้เป็นเป้าหมายของการถูกจับออกจากธรรมชาติ มีสถิติการจับกุมการกระทำผิด พรบ. คุ้มครองสัตว์ป่า พบการลักลอบจับ ค้า ขนส่ง นกปรอดหัวโขน  ในช่วงปี พ.ศ. 2549–2551 มีจำนวน 16,353 ตัว และในช่วงปี พ.ศ. 2555-2563 มีจำนวนถึง 18,096 ตัว

ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย และรายงานความก้าวหน้างานวิจัยของ สีฟ้า ละออง ได้ศึกษา การแพร่กระจายของนกปรอดหัวโขน (Pycnonotus jocosus) ในพื้นที่อนุรักษ์ของ ประเทศไทย พบว่า หนึ่งในปัจจัยคุกคาม คือ การล่า เนื่องจากนกปรอดหัวโขนชอบอาศัยตามทุ่งโล่ง ป่าโปร่ง ชายป่า และสวนผลไม้ พบว่ามีการลักลอบล่านกชนิดนี้จํานวนมาก ส่วนใหญ่จะกระทําตามขอบชายป่า และตามสวนผลไม้รอบ ๆ พื้นที่อนุรักษ์

ที่มา : www.naewna.com

และจากงานวิจัยของ ยิ่งยอด ตังสุรัตน์ (2555) ระบุว่า ปัจจัยที่ ทำให้จำนวนนกปรอดหัวโขนลดน้อยลงไปในปัจจุบัน มาจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ 1) การนำเอาผลิตผลนกปรอดหัวโขนออกมา เพื่อจะใช้ประโชน์ในทุกรูปแบบโดยไม่มีการควบคุมอย่างจริงจัง 2) การทำลายที่อยู่อาศัยของนกปรอดหัวโขน และประการที่ 3) สภาวะมลพิษ (Environmental Pollution) ที่มีผลกระทบต่อสิ่งต่าง ๆ ในระบบนิเวศน์ (ยิ่งยอด ตังสุรัตน์ ,2555)

ที่มา : FB : Rungsrit Kanjanavanit

ซึ่งหากนำมาตั้งข้อสังเกต กับประชากรของนกปรอดอีกชนิดหนึ่ง คือ ปรอดหัวสีเขม่า ที่อาศัยอยู่ในถิ่นอาศัยแบบเดียวกัน ไม่ได้มีจำนวนที่ลดลงแต่อย่างใด เนื่องจาก นกปรอดหัวสีเขม่า ไม่ได้เป็นที่นิยมของตลาด จึงไม่ใช่เป้าหมายของการถูกจับออกจากธรรมชาติ

บริบทการเลี้ยงนกปรอดหัวโขน ในประเทศ เป็นที่นิยมในแง่ที่เป็นสัตว์เลี้ยง ที่เลี้ยงเพื่อฟังเสียงร้องอันไพเราะ พื้นที่ที่นิยมเลี้ยงมากที่สุด คือ ภาคใต้ เป็นการเลี้ยงเพื่อใช้เป็นกีฬาพื้นบ้านซึ่งปัจจุบันมีการจัดการแข่งขันทั้งในระดับจังหวัดไปจนถึงระดับประเทศ ทำให้เกิดการเพาะเลี้ยงเป็นจำนวนมาก

แต่กลับสวนทางกับจำนวนนกปรอดหัวโขน ที่อยู่ในธรรมชาติปัจจุบันนั้นเหลือน้อยมาก

จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีการนำนกปรอดหัวโขนมาประกวดลีลา ทำให้นกปรอดหัวโขนมีราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาด ราคาของนกที่ชนะรางวัลอาจมีมูลค่าถึงหนึ่งแสนบาท ส่งผลให้มีการล่า ดักจับนกปรอดหัวโขนเพศผู้จากธรรมชาติมากขึ้น หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ ในการอนุรักษ์สัตว์ป่าจึงได้ยกระดับให้นกปรอดหัวโขนซี่งมิได้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เพื่อคุ้มครองและป้องกันการค้าและการส่งออกนอกราชอาณาจักร และเพื่อให้นกปรอดหัวโขนสามารถขยายพันธุ์เพิ่มประชากรในธรรมชาติ (สีฟ้า ละอ่อง, 2553)

ซึ่งในปัจจุบันนกปรอดหัวโขนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 580 ตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2546 ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ปัจจุบันมีการแก้ไข โดยยกเลิกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เป็นพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งกฎหมายกำหนดห้ามมิให้ผู้ล่าหรือพยายามล่า เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย

และจากงานวิจัยของ ธีรชญาน์ ศิริชัชวาลวงศ์, คัมภีร์ ทองพูน และสุกรี บุญเทพ ที่ได้มีการศึกษา ความคิดเห็นของประชาชนในการถอดนกปรอดหัวโขนหรือนกกรงหัวจุก ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 กรณีศึกษา อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ทราบว่านกปรอดหัวโขนหรือนกกรงหัวจุกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและมีโทษหากมีการฝ่าฝืนครอบครองเพาะพันธุ์หรือค้าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เห็นด้วยในการถอดนกปรอดหัวโขนหรือนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เนื่องจากในปัจจุบันกฎหมายเปิดโอกาสให้มีการครอบครองและเพาะพันธุ์โดยการขออนุญาตให้ถูกต้องได้อยู่แล้ว

การถอดออกจากสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจนั้นเห็นว่ายังมีจำนวนไม่เพียงพอ แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ แต่การเพาะพันธุ์ยังไม่เป็นที่แพร่หลายว่าได้ผลในจำนวนที่มากพอ และคิดว่านกปรอดหัวโขนหรือนกกรงหัวจุกมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์

สถานภาพนกปรอดหัวโขนในประเทศไทย จากข้อมูลชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย สำหรับกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลัง ปี พ.ศ. 2566 กลุ่ม นก ถูกจัดอยู่ในสถานะใกล้ถูกคุกคาม

การขาดหายไปของนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติย่อมส่งผลต่อระบบนิเวศ เนื่องจากนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ เป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์พืชป่า สร้างความสมดุลให้แก่ธรรมชาติ ซึ่งนกในกรงเลี้ยงไม่สามารถทำหน้าที่นี้ในระบบนิเวศได้

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

มนุษย์ผู้ใช้ชีวิตแบบเงียบๆ ที่หวานแบบเหงาๆ เศร้าแบบอุ่นๆ บางครั้งก็ใต้แสงดาว บางคราวก็ใต้แสงเทียน