ช้างป่าภูหลวงถูกยิง เหตุความขัดแย้งที่ต้องเร่งหาทางออก

ช้างป่าภูหลวงถูกยิง เหตุความขัดแย้งที่ต้องเร่งหาทางออก

ช้างป่าภูหลวงถูกยิงตายกลางป่า กรมอุทยานฯ ตรวจสอบซากช้างป่าที่ถูกยิง ในพื้นที่บ้านน้ำพุ อ.ด่านซ้าย จ.เลย เร่งหาผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็วที่สุด 

วันที่ 17 สิงหาคม 2566 นายวันชัย สิมมาเศียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อ.ภูเรือ จ.เลย ได้รับรายงานจากชุดเฝ้าระวังช้างป่าประจำศูนย์ควบคุมหน่วยพิทักษ์ป่าที่ 4 (ภูขน) โดยชาวบ้านในพื้นแจ้งว่าพบช้างป่าภูหลวงถูกยิงตาย บริเวณป่าใกล้กับไร่ของชาวบ้าน ท้ายวัดป่าน้ำพุ ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง

ด้วยเหตุนี้จึงมอบหมายให้นายนเรศ ศรีบุรินทร์ หัวหน้าชุดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ประสานไปยัง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านน้ำพุ ฝ่ายปกครอง สภ.ด่านซ้าย ทหารพราน  และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เดินทางเข้าตรวจสอบจุดที่ได้รับแจ้งช้างป่าถูกยิง

หลังจากการตรวจสอบ เบื้องต้นพบซากช้างป่ามีรอยกระสุนไม่ทราบชนิดที่บริเวณหน้าผากช้างหลายรู ทางเจ้าหน้าที่คาดว่าเป็นสาเหตุการตาย ส่วนสภาพศพเริ่มเน่าเปื่อยแล้ว น่าจะตายมาไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ 

ด้านนายนเรศกล่าวว่า ช้างที่มาจากภูหลวงจะมีทั้งหมด 3 ตัว เพศผู้ทั้งหมด อายุ 15-30 ปี มักจะมาหากินอยู่บริเวณป่าที่อุดมสมบูรณ์บริเวณบ้านน้ำพุตั้งแต่เดือนที่แล้ว แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะพยายามผลักดันให้กลับเข้าป่า แต่เจ้าช้างทั้ง 3 ก็ไม่ได้กลับไปแต่อย่างใด จนมาถึงเรื่องน่าเศร้าที่ 1 ในพวกมันถูกยิงตาย 

นอกจากนี้ ยังได้ทางสัตว์แพทย์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) มาช่วยชันสูตรตรวจสอบ จากบาดแผลยังไม่แน่ใจถึงชนิดของกระสุน แต่จากรอยถูกยิงพบว่า น่าจะถูกยิงจากที่สูงลงต่ำประมาณ 45 องศา ไม่ใช่การยิงแนวระนาบ คาดว่าถูกยิงมาจากที่อื่น ไม่ใช่บริเวณที่พบศพ และอาจทนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงล้มลงเสียชีวิตตรงนี้

นายละ เชื้อบุญมี ผู้พบศพช้าง เล่าว่า ช่วงเย็น ตนมาเก็บเห็ดป่า เมื่อเดินมาใกล้บริเวณที่เกิดเหตุ ได้กลิ่นเหม็นเน่าลอยมา จึงได้เดินตามกลิ่นนั้นมาเรื่อย ๆ จนได้พบกับช้างป่าที่ถูกยิงนอนเสียชีวิตอยู่ ตนจึงได้รีบแจ้งผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่ให้รับทราบ 

นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้น ทว่าหลายต่อหลายครั้งมีชาวบ้านรอบป่าจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าออกมาหากิน 

โดยปัจจุบัน ได้มีการตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและดำเนินการงานด้านการอนุรักษ์ จัดการ และแก้ไขปัญหาช้างให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว  

ซึ่งคณะกรรมการได้ออกมาตราการแก้ไขปัญหาช้างป่า 6 ด้าน ประกอบด้วย (1) การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า (2) แนวป้องกันช้างป่า  (3) ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า และเครือข่ายชุมชน (4) การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า  (5) การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน  (6) การควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด 

มาตรการดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการและแก้ไขปัญหาช้างป่า ร่วมกับการบริหารจัดการพื้นที่สู่การอนุรักษ์และจัดการประชากรช้างป่าให้มีปริมาณที่สมดุล ลดปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับช้างป่า ตลอดจนส่งเสริมและจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน  

สำหรับประชากรช้างป่าปัจจุบันจากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ พบว่า กลุ่มป่าตะวันตก มีจำนวนช้างป่ามากที่สุดระหว่าง 642-734 ตัว กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 533-586 ตัว กลุ่มป่าแก่งกระจาน 487-500 ตัว กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว 492-493 ตัว กลุ่มป่าตะวันออก 463 ตัว กลุ่มป่าฮาลา-บาลา 100-140 ตัว

อ้างอิง  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ