ประกาศ ‘ฤดูน้ำแดง’ ห้ามจับสัตว์น้ำจืดมีไข่ทั่วประเทศ เริ่ม 16 พ.ค.

ประกาศ ‘ฤดูน้ำแดง’ ห้ามจับสัตว์น้ำจืดมีไข่ทั่วประเทศ เริ่ม 16 พ.ค.

เริ่มแล้ว! 16 พฤษภาคมนี้ กรมประมงเตรียมประกาศใช้ ‘ฤดูน้ำแดง’ ประจำปี 2566 เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำจืดที่มีไข่ทั่วประเทศ  

วันที่ 13 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่ากรมประมงเตรียมบังคับใช้กฎหมายใหม่ในฤดูที่สัตว์จืดทั่วประเทศ หรือที่รู้จักกันในดีในชื่อ ‘ฤดูน้ำแดง’

ฤดูน้ำแดง หมายถึง ช่วงระยะเวลาที่น้ำในแม่น้ำลำคลองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปริมาณน้ำฝน ที่ได้ชะล้างหน้าดินและพัดพาตะกอนธาตุสารอาหารต่าง ๆ ลงสู่แม่น้ำลำคลอง ทำให้แม่น้ำต่าง ๆ กลายเป็นสีแดง ซึ่งปัจจัยนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการกระตุ้นให้สัตว์น้ำจืดมีการผสมพันธุ์และวางไข่  

นายเฉลิมชัยเผยว่า มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูไข่นี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้มีการฟื้นตัว และเกิดทดแทนสัตว์น้ำเดิมที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้วย ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชาชนเช่นเดียวกับมาตรการปิดอ่าวของฝั่งทะเล 

ประกาศฉบับดังกล่าวถูกปรับให้เหมาะสมกับข้อมูลชีววิทยาของสัตว์น้ำจืด ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ปริมาณน้ำท่า และข้อมูลด้านการประมงของในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ รักษาทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน  

นอกจากนี้ ประกาศดังกล่าวยังช่วยลดผลกระทบต่อวิถีการทำประมงของชาวบ้าน และเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด สามารถประกาศกำหนดมาตรการอนุรักษ์ทั้งในเรื่องของพื้นที่ เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขการทำประมงด้วย  

ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 2 ปี คือ (ปี 2566 และ 2567) โดยแบ่งพื้นที่และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ออกเป็น 3 ระยะ คือ  

ระยะที่ 1 : ครอบคลุม 33 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 สิงหาคม 2566 และ วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 สิงหาคม 2567   

ระยะที่ 2 : ครอบคลุม 39 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2566 และ วันที่ 1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567  

ระยะที่ 3 ครอบคลุม 5 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2566 และ วันที่ 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2567 

กฎหมายดังกล่าวได้มีการสั่งห้ามทำประมงในแม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร ห้วย หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน พรุ และลำน้ำทุกสาขา รวมทั้งป่าไม้และพื้นดินที่ถูกน้ำท่วมตามธรรมชาติเชื่อมต่อบริเวณดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของเอกชน เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำจืดมีไข่ทั่วประเทศ จึงขอความร่วมมือชาวประมงปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในช่วงฤดูน้ำแดง 

ในส่วนของเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้สามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้ มีดังนี้ 

1. เบ็ดทุกชนิด ยกเว้น เบ็ดราว เบ็ดพวงที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชาก หรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน  

2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่ 3 เครื่องมือขึ้นไป 

3. สุ่ม ฉมวก และส้อม 

 4. ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน  

 5. แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร) 

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง  

ส่วนการทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย ทดลองทางวิชาการ หรือในพื้นที่โครงการที่ดำเนินการของทางราชการ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมงก่อนถึงจะดำเนินการต่อได้  

อ้างอิง  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ