กรณีศึกษา PM2.5 ปัญหาที่รัฐไม่ควรซุกไว้อยู่ใต้พรม ในวันที่ไวรัสระบาดหนัก

กรณีศึกษา PM2.5 ปัญหาที่รัฐไม่ควรซุกไว้อยู่ใต้พรม ในวันที่ไวรัสระบาดหนัก

นับตั้งแต่ชั่วโมงที่โลกเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ถูกผลิตและพัฒนาขึ้น เพื่อรองรับการผลิตในเชิงพาณิชย์ตามแบบฉบับการค้าเสรี สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง ที่เห็นได้ในปัจจุบันคือ สภาพสิ่งแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไป รวมถึงปัญหามลพิษที่แพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง จากเมืองสู่ชนบท และจากชนบทสู่เมือง

การเร่งรัดทางอุตสากรรมและความสึกหรอทางธรรมชาติส่งผลให้มนุษต์ต้องได้รับผลกระทบในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ หรือปัญหาด้านสุขภาพ ‘ฝุ่นควัน’ ถือเป็นมลพิษอีกรูปแบบหนึ่ง ที่กำลังจะสร้างปัญหาสุขภาพให้กับคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวมากว่า 10 ปี

แม้จะเป็นที่ช่วงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาด แต่ปัญหาฝุ่นก็ยังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แต่เหมือนเงียบเพราะถูกข่าวโควิด-19 กลบ แผนงานต่าง ๆ จึงต้องมีอันพับเก็บไป ซึ่งปัญหาที่จะเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ อย่างฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้มีความน่ากลัว และมักส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว หากไม่เกิดการติดตามและดำเนินการแก้ไขกันอย่างจริงจัง

มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดบ่งชี้ว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาศัยอยู่ในเมืองอันเต็มไปด้วยมลภาวะทางอากาศ และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า ผู้ติดเชื้อที่อาศัยอยู่ในเมืองที่มีอากาศดี 

ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้มีการนำข้อมูลด้านสาธารณสุข เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน ที่มีความสัมพันธ์กับสภาพอากาศใน 3,080 เมือง ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้มีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องมากว่า 17 ปี ต่อมาได้มีการวิจัยต่อยอดเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19

ซึ่งหากย้อนกลับไปในช่วงที่โรคซาร์สระบาดในปี ค.ศ. 2003 จะเห็นได้ว่า เมืองที่อากาศไม่ดีจะมีการแพร่กระจายของไวรัสมากกว่าเมืองที่มีอากาศดี  อย่างไรก็ตามงานวิจัยของฮาวาร์ดชิ้นนี้ เป็นการคำนวณโดยใช้กลวิธีทางสถิติเป็นหลัก โดยยังไม่มีการนำตัวแปรอื่น ๆ เข้าไปร่วมด้วย อาทิ วิถีชีวิต ตั้งแต่การรับประทานอาหาร รวมไปถึงเรื่องการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานที่ดีขึ้น

สำหรับเมืองไทยเองก็มีรายงานถึงผลกระทบที่เกิดจากปัญหาฝุ่นควันเหมือนกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคเหนืออย่างจังหวัดเชียงใหม่ มีกรณีเด็กชายวัย 4 ขวบ ต้องประสบกับภาวะ ‘เลือดกำดาวไหลไม่หยุด’ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากฝุ่นพิษในพื้นที่ 

ด้านศาสตราจารย์นายแพทย์ชายชาญ โพธิรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีไทยว่า ในทุก ๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นต่อวัน จะมีอัตราการเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล ทั้งเข้าห้องฉุกเฉินและนอนรักษาตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 

ซึ่งเกิดจากภาวะเฉียบพลันของโรคเส้นเลือดในสมองแตก เส้นเลือดในสมองตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว ปอดอักเสบ ถุงลมโป่งพองกำเริบ และหอบหืดกำเริบ

นอกจากระบบทางเดินหายใจแล้ว PM2.5 ยังมีผลกระทบต่อจิตประสาทของมนุษย์อีกด้วย มีรายงานผลการศึกษาล่าสุดพบว่า คนที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางมลพิษทางอากาศที่มีเต็มไปด้วย PM2.5 มีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงขึ้น โดยองค์กรอนามัยโลกหรือ World Health Organization ระบุว่า ทั่วโลกมีผู้คนที่เป็นโรคซึมเศร้าราว 264 ล้านคน

แม้กำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนอันชุ่มฉ่ำที่จะชะล้างฝุ่นในอากาศให้หายไป แต่ปัญหาฝุ่นควันอาจจะกลับมาใหม่ ในช่วงเวลาและฤดูกาลที่อำนวยต่อการเกิดมลภาวะ ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญและติดตามปัญหา PM2.5 อย่างต่อเนื่อง เพราะทุกคนมีสิทธิ์ได้รับอากาศดีเท่ากัน 

 


ภาพเปิดเรื่อง www.lendlchery.com
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก งานวิจัยใหม่ชี้ PM2.5 มีผลทำให้เป็นโรคซึมเศร้า – จบชีวิตตัวเอง ThaiPublica
เมืองที่มีฝุ่น PM 2.5 มากทำคนเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้มากกว่า สำนักข่าวทีเอ็นเอ็น
ฝุ่น : วิกฤตหมอกควันภาคเหนือ ทำเด็ก 4 ขวบ เลือดกำเดาไหลไม่หยุด สำนักข่าวบีบีซีไทย
บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร