การศึกษาระบุ มหาสมุทรยังมีโอกาสฟื้นฟูได้โดยใช้เวลา 30 ปี

การศึกษาระบุ มหาสมุทรยังมีโอกาสฟื้นฟูได้โดยใช้เวลา 30 ปี

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์พบว่ามหาสมุทรของโลกนั้นมีความสามารถในการฟื้นตัวมากกว่าที่คาด แม้ว่าจะเผชิญกับมลภาวะและขยะจากมนุษย์ในปริมาณมหาศาลก็ตาม

การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชิ้นสำคัญล่าสุดชี้ให้เห็นว่า มหาสมุทรสามารถฟื้นตัวให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เฉกเช่นในอดีตได้ภายในเวลา 30 ปี โดยขึ้นอยู่กับวิธีที่มนุษย์รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อมหาสมุทรและโอกาสในการฟื้นตัว

มนุษย์ถลุงทรัพยากรในมหาสมุทรมานับศตวรรษ จากการประมงทำลายล้าง เหตุการณ์น้ำมันรั่ว ปล่อยสารเคมีอันตรายลงสู่แหล่งน้ำ รวมถึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ปะการังฟอกขาวและมหาสมุทรเป็นกรด

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature โดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนลำดับที่ 14 ขององค์การสหประชาชาติซึ่งระบุว่า “เพื่ออนุรักษ์และใช้ทรัพยากรมหาสมุทร ทะเล และแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน” ทีมวิจัยระบุว่า ปัจจุบันมีองค์ความรู้ที่สามารถช่วยรักษาและฟื้นฟูสัตว์ทะเล รวมถึงหนุนเสริมนิเวศบริการสำคัญที่ประชากรจำนวนมหาศาลบนโลกต้องพึ่งพา ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาหาร การป้องกันชายฝั่ง และเสถียรภาพของภูมิอากาศ มาตรการที่จะช่วยฟื้นฟูมหาสมุทรนั้นอาจมีต้นทุนสูงถึงหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่พวกเขาและเธอยืนยันว่ามันจะสร้างประโยชน์กลับมา 10 เท่า

“เรามีโอกาสไม่มากนักในการฟื้นฟูและส่งมอบมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ให้ลูกหลาน และตอนนี้เรามีเครื่องมือเหล่านั้น ความล้มเหลวที่จะเผชิญกับความท้าทายนี้และส่งมอบมหาสมุทรซึ่งไม่สามารถสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของคนรุ่นหลัง ไม่ใช่สิ่งที่เราจะรับได้” คาร์ลอส ดูเออเต (Carlos Duarte) หนึ่งในคณะวิจัยให้สัมภาษณ์

การศึกษาชิ้นนี้รับรู้ถึงขนาดของปัญหาและได้ชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความสามารถในการฟื้นตัวของมหาสมุทร โดยอ้างถึงกรณีห้ามล่าวาฬเชิงพาณิชย์ ที่ทำให้ประชากรวาฬหลังค่อมเพิ่มจำนวนขึ้น รวมถึงชนิดพันธุ์ทางทะเลที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามรายชื่อของ IUCN ก็ลดลงอย่างร้อยละ 18 เมื่อ พ.ศ. 2543 เป็นร้อยละ 11.4 ในปี พ.ศ. 2562

“การประมงเกินขนาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวล แต่เรายังมีความหวังในวิทยาศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู” สาส์นสำคัญของการศึกษาชิ้นนี้คือ “หากเราหยุดล่าสัตว์ทะเลและเปลี่ยนเป็นการคุ้มครอง ในท้ายที่สุดสัตว์เหล่านั้นจะกลับมา เราจะสามารถเปลี่ยนจากมหาสมุทรที่เสื่อมโทรมสู่มหาสมุทรที่สมบูรณ์ ซึ่งเราทราบดีว่ามันสมเหตุสมผลในทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และแน่นอนว่าเพื่อสิ่งแวดล้อม” แคลลัม โรเบิร์ตส (Callum Roberts) หนึ่งในคณะวิจัยแสดงความเห็น

การศึกษาชิ้นนี้ระบุถึงองค์ประกอบหลัก 9 ประการเพื่อสร้างมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ คือที่ลุ่มน้ำเค็ม ป่าชายเลน หญ้าทะเล แนวปะการัง ป่าเคลป์ แนวโขดหอยนางรม (oyster reefs) พื้นที่เพื่อการประมง สัตว์น้ำขนาดใหญ่ และทะเลลึก โดยพวกเขาและเธอได้ระบุถึงแนวทางในการจัดการทั้ง 9 องค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ การเก็บเกี่ยวทรัพยากรอย่างชาญฉลาด และการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัย

“เราทราบดีว่าเราควรทำอะไรเพื่อฟื้นฟูประชากรสัตว์น้ำ และเรามีหลักฐานว่าเป้าหมายดังกล่าวสามารถบรรลุได้ภายในสามทศวรรษ แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องพยายามให้มากกว่านี้ รวมถึงกระจายโครงการเหล่านั้นให้ทั่วถึงมากขึ้น” คาร์ลอส ดูเออเตกล่าว

คณะวิจัยรับทราบว่ารัฐบาลมีความท้าทายอื่นๆ เช่นกัน แต่สำหรับพวกเขาในตอนนี้ การช่วยเหลือฟื้นฟูมหาสมุทรเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งและสามารถบรรลุเป้าหมายได้

งานวิจัยสรุปว่า “หากเราสามารถบรรเทาปัจจัยกดดันสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตในทะเลจะเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่แต่เป็นไปได้ของมนุษยชาติ และการทางเลือกทั้งในแง่จริยธรรมและการตัดสินใจที่ชาญฉลาดทางเศรษฐกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก New report argues oceans can be restored by 2050
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์