Elysia chlorotica ทากทะเลที่สังเคราะห์แสงได้เหมือนใบไม้

Elysia chlorotica ทากทะเลที่สังเคราะห์แสงได้เหมือนใบไม้

‘Elysia chlorotica’ คือทากทะเลที่สามารถสร้างพลังงานจากกระบวนการสังเคราะห์แสงได้!

ทากทะเลที่ชื่อว่า ‘Elysia chlorotica’ เป็นสัตว์ประเภทหอยทากทะเลที่มีความยาว 5 เซนติเมตร มันอาศัยบริเวณน้ำตื้น ชายฝั่งทางตะวันออกของอเมริกาเหนือ ทากทะเลแปลกประหลาดนี้หน้าตาคล้ายกับใบไม้ มันมีสีเขียว! เมื่อแสงอาทิตย์ส่องสว่าง มันก็จะคลี่ตัวออกเพื่อรับแสงอาทิตย์อย่างมีความสุข

เป็นไปได้อย่างไรที่ทากทะเลสามารถสังเคราะห์แสงได้? Elysia chlorotica กินสาหร่ายประเภทเส้นใย เช่น สาหร่ายสีเขียวแกมเหลือง (Vaucheria littorea) ระหว่างการย่อย เซลล์สังเคราะห์แสงของสาหร่ายจะถูกทำลายลงเพียงบางส่วน แต่คงเหลือคลอโรพลาสต์เอาไว้ทำให้ Elysia สามารถใช้พลังงานที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อเป็นอาหาร

นี่คือตัวอย่างของกระบวนการที่เรียกว่าการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตและคลอโรพลาสต์ หรือเรียกว่า kleptoplasty ที่อาจแปลได้ว่าเป็นการขโมยคลอโรพลาสต์นั่นเอง ในคลอโรพลาสต์จะมีคลอโรฟิลล์ เม็ดสีที่สามารถกักเก็บแสงไว้ได้เพื่อกระบวนการสังเคราะห์แสง และยังเป็นสิ่งที่ทำให้ทากทะเลมีสีเขียวอีกด้วย

เราสามารถพบคลอโรพลาสต์ได้ในโครงข่ายระบบย่อยอาหารที่แตกแขนงสลับซับซ้อน นี่คือสาเหตุที่ Elysia chlorotica ดูเหมือนใบไม้สีเขียว อีกทั้งยังมีโครงสร้างคล้ายกับท่อน้ำเลี้ยงที่ปรากฏบนใบ ลักษณะนี้เป็นลักษณะจำเพาะของทากทะเลชนิดพันธุ์ดังกล่าว โดยพบว่าทากทะเลชนิดพันธุ์อื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันก็มีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน

Elysia chlorotica
Elysia chlorotica

โดยทั่วไปแล้ว สิ่งมีชีวิตในน้ำจะเก็บเซลล์คลอโรฟิลล์ที่ได้จากอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสาหร่ายสีเขียว แดง หรือน้ำตาล พวกมันจะสามารถรวมเซลล์เหล่านั้นเข้ากับระบบย่อยอาหารแล้วใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง แม้ว่าจะเป็นการใช้งานเพียงชั่วคราว แต่การกินอาหารชุดใหม่เข้าไปทำให้พวกมันสามารถทดแทนคลอโรพลาสต์ที่เสื่อมลงได้

ตัวอย่างของความสัมพันธ์ที่เสถียรที่สุดในกระบวนการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตและการสังเคราะห์แสงคือปะการังซึ่งความจริงแล้วคือกลุ่มสิ่งมีชีวิตชื่อโพลิป (polyp) ที่อยู่กันเป็นโคโลนี ในเนื้อเยื่อของมันจะมีสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ซึ่งเป็นสาหร่ายขนาดจิ๋วที่สามารถสังเคราะห์แสงได้ในสกุล Symbiodinium

แต่สำหรับทากทะเล Elysia chlorotica นั้นต่างออกไป ทากทะเลสามารถรับคลอโรพลาสต์ในระหว่างการเติบโต เช่น จากตัวอ่อนจนเป็นตัวเต็มวัย คลอโรพลาสต์ในร่างกายก็จะสามารถใช้งานได้ตลอดชีวิตของทากทะเล ดังนั้น Elysia chlorotica จะกินสาหร่ายเพียงช่วงแรกหลังจากถือกำเนิดขึ้นมา หลังจากนั้นมันจะถึงพลังงานจากกระบวนการสังเคราะห์แสงเป็นหลัก

จากการทดลองพบว่า หากมีแสงสว่างและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ Elysia chlorotica จะสามารถรวมเอาแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้ากับอินทรียสารจากกระบวนการสังเคราะห์แสง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่าคลอโรพลาสต์มีความจำเป็นต่อการรอดชีวิตของทากทะเลก็ยังไร้ข้อสรุป


ถอดความและเรียบเรียงจาก Elysia chlorotica, the slug that behave like a leaf

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก