เครือข่ายประมงพื้นบ้าน แถลงความคืบหน้า กำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน

เครือข่ายประมงพื้นบ้าน แถลงความคืบหน้า กำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน

‘เครือข่ายประมงพื้นบ้าน’ แถลงความคืบหน้า หลังก.เกษตร เปิดรับฟังความเห็นบังคับใช้มาตรา 57 ตาม พรก.การประมง จับตาอีก 30 วันหลังจากนี้ หากยังไม่คืบหน้าจะยกระดับการเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

นับจากวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ ‘เครือข่ายประมงพื้นบ้าน’ ได้จัดกิจกรรมล่องเรือทางไกล “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” หยุดจับ-ขาย-ซื้อ สัตว์น้ำวัยอ่อน และยื่นข้อเรียกร้องตัวแทนรัฐบาลเร่งบังคับใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 57 ให้กำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อยุติการตัดวงจรชีวิตสัตว์ทะเล พร้อมกำหนดโควตาที่เป็นธรรมในการจับสัตว์น้ำ

โดยเครือข่ายฯ ระบุว่า หลังจากนี้ยังคงเฝ้าจับตาการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ และรอคำตอบว่าจะมีการเดินหน้าออกประกาศกำหนดหรือไม่ ถ้าไม่มีความคืบหน้าอีก 30 วัน นับจากวันมหาสมุทรโลก และอาจมีกิจกรรมเพื่อทวงถามความคืบหน้าในการออกประกาศกำหนดต่อไป

เมื่อครบกำหนดกังกล่าว สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้แถลงท่าทีหลังครบกำหนด 30 วัน กรณีขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการออกประกาศกระทรวงคุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนตาม ม.57 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม ผ่านเฟซบุ๊กสมาคมรักษ์ทะเลไทย

เนื้อความระบุว่า ตามที่สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย และภาคี #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู ได้ยื่นข้อเรียกร้องทวงถามให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงคุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนตาม ม.57 มาอย่างต่อเนื่อง นั้น

บัดนี้ครบกำหนด 30 วัน ที่เครือข่ายจะดำเนินการทางกฎหมาย หากรัฐมนตรีฯ ยังไม่มีการดำเนินการประกาศคุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อนฯ ปรากฏว่า กระทรวงเกษตรและกรมประมงได้ แจ้งผลการดำเนินการมายังสมาคมสมาพันธ์ฯ มีสาระสำคัญว่าได้สั่งการให้รับฟังความคิดเห็นชาวประมงพาณิชย์และพื้นบ้านในทุกจังหวัดก่อน โดยจะดำเนินการในช่วงวันที่ 27 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2565 และสมาคมได้ทราบว่า กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะประกาศกำหนดพันธ์สัตว์น้ำนำร่องก่อน 2 ชนิด คือ ปลาทู-ลัง และปูม้า

แม้ว่าหลายจังหวัด มีกระบวนการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อประสงค์จะทำลายโอกาสที่สัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเฉพาะปลาทู และปูม้าจะได้รับการคุ้มครอง และมีกลุ่มทุนผลประโยชน์จากการประมงสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมาก ร่วมกับข้าราชการ นักการเมืองบางกลุ่ม คอยขัดขวาง กดดัน ข่มขู่ จนทำให้การรับฟังความเห็นไม่เป็นอิสระ สอดคล้องกับหลักการข้อเท็จจริง แต่เป็นไปในลักษณะปกป้องผลประโยชน์เท่านั้น

ภาคีเครือข่าย #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู ขอแถลงท่าที ดังต่อไปนี้

1) เห็นด้วยกับ แนวคิดที่จะประกาศนำร่องปลาทู –ปลาลัง, และปูม้า และขอให้ประกาศหลังรับฟังความเห็น เพื่อการทำงานอย่างเต็มที่ จึงให้เวลาดำเนินการ ต่อไปอีก 30 วัน

2) ไม่เห็นด้วย และไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ กรณีจะมีการนำเอากรณีนี้ไปเวียนเทียน พิจารณาของคณะกรรมการใดๆ ของฝ่ายการเมืองอีก

3) หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงมีท่าทีเอื้ออำนวย เห็นแก่ประโยชน์พวกพ้องด้วยประการใดก็ตาม และไม่ออกประกาศกระทรวงฯ ดังกล่าว เครือข่ายฯ จะถือว่า เป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล มาต่อเนื่อง

ดังนั้น เมื่อครบ 30 วัน รอบหลังจากนี้ เครือข่ายภาคีฯ จะยกระดับการเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล

และไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคใดๆ เครือข่ายจะไม่ท้อถอย จะไม่กลับบ้าน หากรัฐบาลยังไม่ประกาศกระทรวงคุ้มครองปลาทูวัยอ่อน และสัตว์น้ำอื่นๆ ถือว่า นายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบในการบริหาร ที่ปล่อยให้รัฐมนตรีในรัฐบาลของตน กระทำตนเป็นรัฐมนตรีเพื่อนายทุนพวกพ้อง อยู่เช่นนี้

อนึ่ง กิจกรรม #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ที่ปัตตานี โดยเครือข่ายประมงพื้นบ้าน เริ่มออกเดินทางจากหาดปานาเระ จังหวัดปัตตานี ได้ล่องเรือผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่กรุงเทพฯ ในวันที่ 6 มิถุนายน เพื่อยื่นหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกกำหนดนโยบายและประกาศมาตรการควบคุมการ ซื้อ-จับ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อแก้วิกฤติอาหาร ทะเลไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

จากข้อมูลระบุว่า ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในทะเลไทยมีมวลรวมอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี

แต่ปริมาณสัตว์น้ำที่มีขนาดเหมาะกับการนำมาบริโภคของมนุษย์มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นสัตว์น้ำวัยอ่อนและสัตว์น้ำคุณภาพต่ำที่จะถูกป้อนเข้าโรงงานอาหารสัตว์และตลาดแปรรูป โดยได้บกตัวอย่างว่า ‘ปลาทู’ เป็นหนึ่งในตัวอย่างอาหารทะเลไทยที่กำลังจะหายไป

ในปี พ.ศ. 2557 ประมงไทยจับปลาทูได้ 128,835 ตัน แต่ในปี 2562 จับได้ 24,374 ตัน และ เหลือเพียง 18,436 ตัน ในปี 2563

ขณะเดียวกัน ตัวอ่อนปลาทู รวมถึงตัวอ่อนของอาหารทะเลอื่น ๆ กลับถูกพบวางขายในห้างและตลาด ในรูปแบบสินค้าแปรรูป เช่น ปลาสายไหม ปลาข้าวสาร

หากสถานการณ์โดยรวมของอาหารทะเลไทยยังอยู่ในภาวะเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องกับระบบนิเวศและชุมชนชายฝั่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะเข้าถึงอาหารทะเลที่มีคุณภาพสูงได้น้อยลง


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม