บีเวอร์ วิศวกรธรรมชาติ ผู้สร้างสมดุลให้นิเวศหนองน้ำ

บีเวอร์ วิศวกรธรรมชาติ ผู้สร้างสมดุลให้นิเวศหนองน้ำ

บีเวอร์เป็นสัตว์ Semi-aquatic rodents มี 2 ชนิด คือ Eurasian beaver และ North American beaver กินพืชเป็นอาหาร มีศีรษะใหญ่ ร่างกายที่แข็งแรง ฟันหน้าคล้ายสิ่ว ขนสีน้ำตาลหรือเทา เท้าหน้าคล้ายมือ เท้าหลังมีลักษณะแบนและเป็นพังผืด มีหางเป็นเกล็ด สามารถพบได้ในซีกโลกเหนือเขตอบอุ่น อาทิ แคนาดา โปแลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซียตอนกลาง และสแกนดิเนเวียตอนใต้ และอื่น ๆ พวกมันเป็นสัตว์ฟันแทะขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากคาปิบาราเท่านั้น พวกมันมักจะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมน้ำจืด เช่น แม่น้ำ ทะเลสาบ และลําธาร 

ในอดีตบีเวอร์เคยถูกล่าเป็นจำนวนมาก เพื่อนำขนไปทำหมวกและเสื้อโค้ทกันหนาวจนเกือบจะสูญพันธุ์ไป ทำให้หลายประเทศออกกฎหมายคุ้มครอง ตัวเลขประชากรบีเวอร์จึงสูงขึ้นอีกครั้ง

บีเวอร์คู่หนึ่งจะครองคู่กันไปตลอดชีวิต (Monogamous animals) พฤติกรรมนี้มีส่วนทำให้โครงสร้างทางสังคมและหน่วยครอบครัวมีความมั่นคงช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เนื่องจากความศรัทธาในความรักจนกระทั่งคู่ของมันดับสูญไป

ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ต่างช่วยกัน และสร้างบ้านโพรงขนาดใหญ่ บนแอ่งน้ำที่พวกมันสร้างเขื่อนกั้นไว้ ผลัดกันหาอาหาร ช่วยกันดูแลลูก ๆ และต่างสนับสนุนกันและกัน เพื่อความอยู่รอด โดยมีลูกหลานที่อายุมากกว่าช่วยดูแลคนที่อายุน้อยกว่า

พวกมันได้ฉายาว่าเป็น วิศวกรธรรมชาติ จากที่คอยแทะไม้ สร้างเขื่อนและที่อยู่อาศัย มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญหลายประการสำหรับสัตว์เหล่านี้

ประการแรก เพื่อหลบภัยจากสัตว์นักล่า บีเวอร์ต้องเพิ่มระดับน้ำเพื่อให้แน่ใจว่าบ้านพักของพวกมันซึ่งสร้างขึ้นกลางแหล่งน้ำ การจะเข้าถึงตัวบ้านจะต้องเป็นทางเข้าใต้น้ำเท่านั้น จึงเป็นวิธีการปกป้องพวกมันจากหมาป่า หมี และภัยคุกคามอื่น ๆ

ประการที่สอง แหล่งน้ำเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับอาหารของบีเวอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยเปลือกไม้ โดยจะกินในส่วนของเนื้อเยื่อเจริญส่วนข้างของต้นไม้ (Cambium) และ พืชน้ำจากน้ำนิ่งในบ่อที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืชเหล่านี้ และช่วยให้บีเวอร์เข้าถึงแหล่งอาหารได้ตลอดทั้งปี แม้ในฤดูหนาว โดยการเก็บอาหารไว้ในบ่อใกล้บ้านพักของมัน

โครงสร้างเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเอื้อเฟื้อต่อระบบนิเวศอื่น ๆ ทั้งช่วยแก้น้ำท่วม น้ำแล้ง เพิ่มความสมดุลและรักษาแหล่งน้ำ ก่อเกิดเป็นจุดรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อพืชและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ พื้นที่เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการเพาะพันธุ์ปลา แหล่งทำรังนก และที่อยู่อาศัยของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังต่าง ๆ 

อีกทั้ง เขื่อนของบีเวอร์นั้นยังทำหน้าที่ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญซึ่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ 

ตัวอย่างเช่น การช่วยรักษาประชากรปลาแซลมอนในรัฐแคลิฟอร์เนีย เขื่อนบีเวอร์ได้สร้างพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์และเกราะป้องกันลูกปลาแซลมอนจากนักล่า ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของน้ำ ซึ่งมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของปลาแซลมอนในช่วงหน้าแล้ง การกรองมลพิษและตะกอน ปรับปรุงคุณภาพน้ำสำหรับปลาแซลมอนและสัตว์น้ำอื่น ๆ 

นอกจากนี้บีเวอร์ยังมีบทบาทสำคัญในการเกื้อหนุนสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศเดียวกันอย่างปลาแซลมอน โดยผู้คนในรัฐแคลิฟอร์เนียสามารถฟื้นฟูประชากรปลาแซลมอนพื้นเมืองและแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำได้ และยอมรับประโยชน์ทางนิเวศวิทยาที่บีเวอร์มอบให้ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นำไปสู่การรับรู้และใช้ประโยชน์จากผลกระทบเชิงบวกในกิจกรรมของบีเวอร์ที่มีต่อระบบนิเวศทางน้ำ ได้ตอกย้ำความเคลื่อนไหวในวงกว้างไปสู่การดูแลสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

หมายเหตุ วันบีเวอร์สากล (International beaver day) ตรงกับวันที่ 7 เมษายน ของทุกปี ได้ถูกกำหนดขึ้นในปี ค.ศ. 2009 โดย Beavers Wetlands & Wildlife (B.W.W.) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกําไรที่มีสมาชิกในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศอื่น ๆ เพื่อเป็นเกียรติให้แก่การศึกษาบีเวอร์เป็นเวลากว่า 50 ปีของ Dorothy Richards หรือที่รู้จักในชื่อ “Beaver Woman” โดยวันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของเธอ (1894 -1985) จึงเป็นวันที่จะตระหนักถึงความสำคัญของบีเวอร์ต่อระบบนิเวศ

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia