ทำไมเราต้องคำนึงถึง มูลค่าทางธรรมชาติ ‘สภาพล่องหนทางเศรษฐศาสตร์’ ที่มิอาจประเมินค่าได้

ทำไมเราต้องคำนึงถึง มูลค่าทางธรรมชาติ ‘สภาพล่องหนทางเศรษฐศาสตร์’ ที่มิอาจประเมินค่าได้

มูลค่าที่แท้จริงของธรรมชาติมักถูกมองข้ามในเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ เนื่องจากการวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ที่จับต้องได้และตัวชี้วัดเชิงปริมาณในน้ำหนักมากกว่า ซึ่งการมองข้ามต้นทุนทางธรรมชาตินั้นถือเป็นการละเลยการพึ่งพาต่อกันและกันอย่างลึกซึ้ง การตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติจึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น มันยังมีความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องนำต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมเข้ามาวิเคราะห์ด้วย

ตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาตินั้น ล้วนแล้วแต่มีมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกับโลกธรรมชาติ ในด้านหนึ่งเราให้ความเคารพ แต่อีกด้านหนึ่งพวกเรากลับเอาเปรียบธรรมชาติ เมื่อสังคมพัฒนาไปผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของโลกสมัยใหม่มักขึ้นอยู่กับความเป็นไปของสภาพแวดล้อมในโลกธรรมชาติ ทั้งในเรื่องของความอยู่รอดและความมั่นคง 

แต่ต้นทุนทางธรรมชาติกลับถูกประเมินค่าต่ำเกินไปในแง่ของเม็ดเงิน โดยอยู่ในสภาวะล่องหนทางเศรษฐศาสตร์ (Economic invisibility) อาทิ การได้มาซึ่งอากาศและน้ำที่บริสุทธิ์ การควบคุมสภาพภูมิอากาศ การผสมเกสร ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสรรพชีวิต และถูกละเลยในการวิเคราะห์ทางการเงิน นโยบาย และแนวปฏิบัติ 

ซึ่งการละเลยนี้จะบ่อนทำลายความพยายามในการพัฒนาที่ยั่งยืน และทำให้ต้นทุนที่แท้จริงของความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมถูกบดบัง ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สาธารณสุข และความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม

กรอบเศรษฐกิจโดยทั่วไป เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross domestic product) นั้นได้มุ่งเน้นไปที่การผลิตและการบริโภคในระยะสั้น โดยมองข้ามการสูญเสียต้นทุนทางธรรมชาติและระบบนิเวศที่มีความจำเป็นในระยะยาว การละเลยนี้อาจนำไปสู่นโยบายและแนวปฏิบัติที่แม้จะเป็นประโยชน์ในระยะสั้น แต่ก็อาจเสี่ยงต่อความยั่งยืนทางนิเวศวิทยาและภาคเศรษฐกิจของคนรุ่นต่อไปในอนาคต อาทิ ประเทศกำลังพัฒนาและยากจนส่วนมากมีเศรษฐกิจหลักมาจากการขายวัตถุดิบ (Raw material) ที่เกิดจากการขูดรีดทรัพยากรภายในประเทศตนเอง

ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้บ่อนทำลายนิเวศบริการ (Ecosystem service) ที่สำคัญ เช่น การบำบัดน้ำ การบำรุงรักษาคุณภาพอากาศ การผสมเกสรของพืชผล ซึ่งทั้งหมดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาการเกษตร การประมง และภาคส่วนที่สำคัญอื่นๆ ของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น การสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งเพิ่มความเปราะบางของชุมชนชายฝั่งต่อพายุและน้ำท่วม นำไปสู่ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นในแง่ของการตอบสนองและการฟื้นฟูภัยพิบัติ ในทำนองเดียวกัน การพังทลายของดินและการขาดแคลนน้ำ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการทำเกษตรที่ไม่ยั่งยืนและการตัดไม้ทำลายป่า คุกคามความมั่นคงทางอาหารและการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่ต้องพึ่งพาการเกษตรอย่างมาก ต้นทุนทางเศรษฐกิจของการละเลยสิ่งแวดล้อมไม่ได้จำกัดอยู่ที่ผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศ แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศและน้ำ การสูญเสียพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และประโยชน์ด้านสุขภาพจิตและร่างกาย ที่ได้รับจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สมบูรณ์

การตัดไม้ทำลายป่าอาจช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ผ่านการขายไม้และการขยายตัวทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางเศรษฐกิจในวงกว้างจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การกักเก็บคาร์บอนฯ ที่ลดลง และความเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำ แทบจะไม่ได้นำมาพิจารณาในการคำนวณดังกล่าว 

ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศจีนเมื่อปี 1997 เกิดการตัดไม้ทำลายป่าทั่วทั้งประเทศ (ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง) จนนำไปสู่ภัยแล้ง ส่งผลให้แม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze) เหือดแห้งติดต่อกันเก้าเดือน กระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรลดลงมหาศาล ผู้คนจนนวนมากได้รับความเดือดร้อน ในปีต่อมาก็เกิดน้ำท่วม ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,500 ราย

ปฏิกิริยาของรัฐบาลกลางจึงออกคำสั่งห้ามตัดต้นไม้ โดยหากเราย้อนกลับไปคิดบัญชีต้นทุนธรรมชาติที่เสียไปเหล่านี้ การสูญเสียหน้าดิน การสูญเสียทางไหลของน้ำ  ความสูญเสียของชุมชนท้องถิ่น ภัยแล้ง ฯลฯ ต้นทุนเหล่านี้สูงเกือบสองเท่าของราคาไม้ซุงในตลาด ฉะนั้นในความเป็นจริง ราคาไม้ซุงในตลาดประเทศจีน ควรจะแพงกว่าที่มันเป็นสามเท่า เพื่อสะท้อนความเดือดร้อนและต้นทุนที่สังคมจีนแบกรับ 

ในทำนองเดียวกัน ผลกระทบของมลพิษทางอุตสาหกรรมที่มีต่อแม่น้ำอาจไม่สะท้อนโดยตรงในตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะต้องสร้างต้นทุนจำนวนมากในด้านสาธารณสุข การประมง ก็ตาม แรงจูงใจที่จะทำหรือไม่ทำอะไรทางเศรษฐกิจนั้นทรงพลังมาก เศรษฐศาสตร์กลายเป็นสกุลเงินของนโยบาย จนกว่าเราจะรับมือกับสภาวะล่องหนที่ว่านี้ เราก็จะได้ผลลัพธ์เดิมๆ ที่เรามองเห็นต่อไป นั่นคือ ความเสื่อมโทรมและสูญเสียของทุนธรรมชาติอันล้ำค่า อาทิเช่น การผสมเกสรดอกไม้โดยแมลงต่างๆ อย่างเช่นที่ผึ้งผสมเกสรให้เกิดเป็นผลไม้ มีมูลค่า 190,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตัวเลขนี้คือประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตทางการเกษตรทั้งโลก แต่การสูญเสียแมลงผสมเกสรก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่องจากการใช้สารเคมี หรือถ้ามองในระดับพันธุกรรม 60 เปอร์เซ็นต์ ของยาที่ถูกผลิตออกมา สกัดหรือได้ตัวอย่างมาจากระบบนิเวศป่าฝนเขตร้อนหรือแนวปะการังที่ถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือการขยายตัวของเมือง

สิ่งเหล่านี้นำมาสู่คำถามที่ว่า ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ทำให้ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและพังลง เช่นวัตถุดิบทางพันธุกรรม ถ้ามันเป็นสมบัติสาธารณะ เจ้าของก็น่าจะเป็นชุมชนยากจนในท้องถิ่น ผู้ส่งมอบความรู้ที่ช่วยให้นักวิจัยค้นพบ ซึ่งต่อมานำมาทำเป็นยา พวกเขาไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ และแหล่งประมงในทะเลที่ร่อยหรอมากเสียจนมันส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนจน และคนที่หาปลาเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัว ทั่วโลกคนประมาณหนึ่งพันล้านคนต้องพึ่งพาอาหารจากภาคการประมงเป็นแหล่งโปรตีนหลัก ในอัตราที่เรากำลังสูญเสียแหล่งประมงทั้งการทำลายป่าชายเลนที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำเพื่อทำบ่อกุ้งทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยต้นทุนทางธรรมชาติที่เสียไปมีมูลค่ามากกว่าผลิตผลจากการทำฟาร์มกุ้ง หากเรามองผ่านแว่นความมั่งคั่งสาธารณะ แทนที่จะใช้แว่นกำไรเอกชน เราก็จะได้คำตอบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ การอนุรักษ์มีเหตุมีผลกว่าการทำลาย

สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างบราซิล อินเดีย และอินโดนีเซีย แม้ว่านิเวศบริการที่เป็นประโยชน์จากธรรมชาติมาสู่มนุษย์ฟรีๆ จะไม่ใหญ่นักในแง่สัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ แต่ในประเทศเหล่านี้ ถ้าเราวัดว่ามันมีมูลค่าต่อคนจนเท่าไหร่ คำตอบคือประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์, 75 เปอร์เซ็นต์, 90 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ จะเห็นได้ว่านิเวศบริการ สร้างประโยชน์อย่างมากให้กับคนจน เราไม่มีวันหาโมเดลการพัฒนาที่ถูกต้องเจอ ถ้าหากในขณะเดียวกันเรากำลังทำลายหรือยอมให้เกิดความเสื่อมโทรมของสินทรัพย์นี้ หรือก็คือโครงสร้างพื้นฐานของระบบนิเวศ การที่เราแยกไม่ออกระหว่างประโยชน์สาธารณะกับกำไรเอกชน เรามักจะละเลยความมั่งคั่งส่วนรวม เพียงเพราะมันเป็นสินค้าสาธารณะ 

รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการตามกรอบการกำกับดูแลและสิ่งจูงใจที่ส่งเสริมการอนุรักษ์และการใช้ระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ธุรกิจที่นำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ไม่เพียงแต่เกี่ยวกับการบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับการตระหนักถึงผลประโยชน์ระยะยาวของการดำเนินงานภายในขอบเขตทางนิเวศน์ของโลกอีกด้วย ซึ่งรวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว การนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ และการสร้างความมั่นใจในห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน อีกทั้งชุมชนและบุคคลสามารถมีส่วนร่วมโดยการสนับสนุนการปกป้องสิ่งแวดล้อม สนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืน และตัดสินใจเลือกรูปแบบการใช้ชีวิตที่ช่วยลดรอยเท้าทางนิเวศน์ การศึกษาและการสร้างความตระหนักรู้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมที่ให้คุณค่าและเข้าใจถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของธรรมชาติต่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์

การดำเนินการร่วมกันนี้ไม่เพียงแต่เป็นความจำเป็นทางศีลธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นความจำเป็นในทางปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจถึงความยืดหยุ่นและความยั่งยืนของเศรษฐกิจโลกของเราและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เศรษฐกิจโลกต้องพึ่งพา การบรรลุวิสัยทัศน์นี้จำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการประเมินความสัมพันธ์ของเรากับธรรมชาติอีกครั้ง การใช้แนวทางที่ครอบคลุมมากขึ้นในการวางแผนเศรษฐกิจ และตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างกันของสุขภาพสิ่งแวดล้อม ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และความเท่าเทียมทางสังคม

การตระหนักรู้นี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ระดับโลกโดยให้ความสำคัญกับคุณค่าที่แท้จริงของธรรมชาติเป็นหัวใจสำคัญของการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ ด้วยการตอบรับการเปลี่ยนแปลงนี้ เราได้กำหนดเส้นทางสู่โลกที่มีความยืดหยุ่น ยั่งยืน และยุติธรรม โดยตระหนักว่าความมั่งคั่งของธรรมชาติเป็นรากฐานในการสร้างความมั่งคั่งอื่นๆ ทั้งหมดอย่างแท้จริง

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia