26 ธันวาคม วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ถ้าสัตว์ป่าหายไป เราอาจไม่มีวันได้คืนกลับมา

26 ธันวาคม วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ถ้าสัตว์ป่าหายไป เราอาจไม่มีวันได้คืนกลับมา

“หากเปรียบเทียบป่าเป็นประเทศ สัตว์ป่าก็คือประชากร ถ้าหากประเทศไม่มีประชากรอาศัยอยู่ ประเทศนั้นก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ดังนั้น ป่าไม้จะดำรงอยู่ได้ ก็จำเป็นต้องมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ด้วย” 

ด้วยความสำคัญของสัตว์ป่าที่มีต่อผืนป่า ทำให้ ‘วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ’ ถือกำเนิดขึ้น โดยตรงกับวันที่ 26 ธันวาคมของทุกปี   

เบื้องหลังการเกิดขึ้นของวันนี้ต้องย้อนกลับไปในอดีต ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่าน้อยใหญ่เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด พวกมันคือหัวใจสำคัญของป่าไม้ 

ทว่าครั้งหนึ่งประเทศไทยมีการส่งชิ้นส่วนของสัตว์ป่าไปขายยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นงาช้าง นอแรด หรือสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ พวกมันเริ่มถูกรุกรานหนักขึ้น จนกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าฉบับแรกของไทยเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อบังคับใช้ในการล่าช้างป่า 

อย่างไรก็ดี ปัญหาการล่าสัตว์ป่าในสังคมไทยยังคงอยู่ และไม่ได้หายไปไหนแต่อย่างใด ซึ่งการล่าสัตว์ในประเทศไทยนั้นถูกผูกโยงกับแนวคิดด้านวัฒนธรรมและความเชื่อในสังคมไทย อย่างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประชาชนยังมีการคล้องช้างป่า (การจับช้างป่า เพื่อมาฝึกและใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การรบ แบกสัมภาระ หรือนำช้างไปขายในดินแดนอื่น ๆ ) ทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาด้านประชากรช้างป่า จึงได้ทรงตราพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า รศ. 119 (พ.ศ. 2443) ขึ้น เพื่อให้ช้างป่าไม่ถูกทอดทิ้งให้อดอยากหรือได้รับการทรมาน

ถัดมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาวุธยุทโธปกรณ์ในสงคราม ถูกเปลี่ยนมาเป็นอาวุธสำหรับการล่าสัตว์ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ทำให้จำเป็นต้องขยายพื้นที่เมืองจนบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้จำนวนของสัตว์ป่าลดลงอยู่รวดเร็ว จนสัตว์ป่าบางชนิดสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยเลยก็มี 

จากสถานการณ์สัตว์ป่าสู่การกำเนิดขึ้นของวันคุ้มครองสัตว์ป่า

ด้วยสถานการณ์สัตว์ป่าที่ไม่สู้ดีนี่ ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ลงนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ขึ้น เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2503 เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการปกป้องทรัพยากรสัตว์ป่าของประเทศฉบับแรกของไทย ซึ่งในภายหลังได้มีการปรับปรุงเป็นพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 

ในการแก้ไขพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ได้มีการเพิ่มเติมให้เอกชนสามารถเพาะสัตว์ป่า บางประเภทได้ เพราะการเพาะเลี้ยงเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้สัตว์ป่าคงอยู่ต่อไป

ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลจึงถือเอาวันที่ตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ซึ่งตรงกับวันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ” เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าให้คงอยู่ในป่า ซึ่งจะช่วยทรัพยากรธรรมชาติของเรากลับมาอุดมสมบูรณ์เทียบเท่ากับในอดีต 

แม้จะมีกฎหมายแต่การคุกคามสัตว์ป่ายังคงมีอยู่

อย่างไรก็ดีสัตว์ป่าในประเทศไทยยังคงถูกคุกคามอยู่ ไม่ว่าจะด้วย การบุกรุกพื้นที่ป่าทำให้พื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าลดลงหรือการลักลอบล่าสัตว์ ต่างก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขสัตว์ป่าที่ถูกคุกคามยังคงอยู่ โดยแต่ละชนิดพันธุ์มีสถานภาพดังนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถูกคุกคาม 37.20% ปลาถูกคุกคาม 73.10% นกถูกคุกคาม 17.50% สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกถูกคุกคาม 16.70% และ สัตว์เลื้อยคลานถูกคุกคาม 15.20% 

ปัญหาการคุกคามสัตว์ป่าไม่ใช่แค่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ต้องอาศัยการร่วมมือกันทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือแม้แต่ประชาชน ในการอนุรักษ์พวกมันให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะถ้าหากเราไม่รีบคุ้มครองพวกมันเอาไว้วันนี้ ในอนาคตเราอาจจะไม่มีพวกมันให้คุ้มครองแล้วก็ได้ 

อ้างอิง