‘ตะกอง’ กิ้งก่าชนิดหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่ซ่อนความลับที่มีความ ‘ที่สุด’ อยู่ในตัว

‘ตะกอง’ กิ้งก่าชนิดหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่ซ่อนความลับที่มีความ ‘ที่สุด’ อยู่ในตัว

หากพูดถึงกิ้งก่า หลายคนคงรู้จักเป็นอย่างดี แต่ถ้าพูดถึงกิ้งก่าอีกหนึ่งชนิดที่มีชื่อว่า ‘ตะกอง’ คงมีคนขมวดคิ้วและสงสัยกันแน่ ว่าเจ้าตัวนี้คืออะไร ทั้ง ๆ ที่น้องก็คอยรักษาสมดุล และมีความสำคัญกับระบบนิเวศไม่ต่างกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ เลย 

วันนี้แอดมินจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับน้องตะกอง สิ่งมีชีวิตที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักกับหนึ่งความลับที่มีความ ‘ที่สุด’ อยู่ในตัวกันค่ะ 

ตะกอง หรือ ลั้ง (Chinese water dragon) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physignathus cocincinus เป็นสัตว์เลื้อยคลานในวงศ์กิ้งก่า (Agamide) ที่พบได้ในประเทศไทย และจัดเป็นกิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทยอีกด้วย  

กิ้งก่าที่พบได้ในสกุล Physignathus มี 2 ชนิด ได้แก่ ตะกอง (P. cocincinus) พบการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตอนใต้ของจีนและหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงสามารถพบได้ในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และอีกหนึ่งชนิด คือ มังกรน้ำออสเตรเลีย (P. esueurii) พบการกระจายพันธุ์ในหลายรัฐของภาคตะวันออก ประเทศออสเตรเลีย 

ตะกอง มีขนาดความยาวลำตัวตั้งแต่จมูกจนถึงปลายหาง 90 ถึง 120 เซนติเมตร จึงได้รับตำแหน่งเป็น ‘กิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย’ (กิ้งก่าชนิดอื่นขนาดความยาวลำตัวตั้งแต่จมูกจนถึงปลายหางไม่เกิน 42 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าตัวเล็กไปเลยเมื่อเทียบกับเจ้าตะกองโตเต็มวัย)

โดยปกติลำตัวของตะกองมีสีเขียวเข้ม เขียวสด มีเกล็ดปกคลุมผิวหนัง เกล็ดบริเวณหัว หลัง และหางมีลักษณะเป็นตุ่ม เรียงตัวห่างกัน ส่วนบนหัวทางด้านท้ายทอย หลัง และหางจะมีหนามที่ยาวเรียงตัวเป็นแถวตามยาวในแนวกลางตัว ปลายหางมีแถบสีดำเป็นปล้อง ๆ ตะกองวัยอ่อนบางตัว ใต้คางและส่วนหัวจะมีสีม่วงหรือสีฟ้า เมื่อเข้าสู่ตะกองวัยรุ่นจะมีลายบั้งจาง ๆ สีขาวตามตัว และจะหายไปเมื่อโตเต็มวัย เมื่อโตขึ้น ตัวผู้ข้างแก้มจะมีสีชมพู และบริเวณส่วนหัวด้านบนจะมีโหนกนูนขึ้นเห็นชัดเจน ส่วนตัวเมียจะมีความนูนน้อยกว่า ตะกองมีอายุขัยเฉลี่ย 10–15 ปี

และตะกองยังสามารถเปลี่ยนสีลำตัวให้เข้มขึ้นหรืออ่อนลงตามความรู้สึกที่มันรู้สึกอยู่ได้ เช่น หากรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือถูกคุกคาม ก็จะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นทันที พฤติกรรมเช่นนี้ยังเป็นการพรางตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากศัตรูได้อีกด้วย 

ตะกองสามารถกินอาหารได้หลากหลายประเภท ทั้งแมลง กบ เขียด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก ผลไม้บางชนิด และยังสามารถดำน้ำจับปลามากินเป็นอาหารได้อีกด้วย 

ตะกองมักนอนหลับอยู่ปลายกิ่งไม้ ที่โน้มไปหาแหล่งน้ำ อาศัยอยู่บริเวณริมห้วยที่มีต้นไม้หนาแน่น ในกลุ่มไม้ที่เติบโตอยู่ข้างลำห้วยที่ไหลผ่านผืนป่า และเป็นห้วยที่มีน้ำตลอดทั้งปี 

ด้วยพฤติกรรมการกินอาหารที่มีความหลากหลาย และต้องอาศัยอยู่บริเวณที่มีน้ำตลอดทั้งปี ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์หรือชี้ให้เห็นว่า ‘การมีตะกองในพื้นที่ใดนั้น แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทั้งแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร’ ตะกองจึงจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ได้ 

ถึงแม้ตะกองจะเป็น ‘สัตว์ป่าคุ้มครอง’ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 แต่ในปัจจุบันจำนวนประชากรลดน้อยลงเรื่อย ๆ สาเหตุมาจากการล่าเพื่อเป็นอาหาร และล่าเพื่อนำไปสัตว์เลี้ยง และอีกหนึ่งปัจจัยหลัก คือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย จากการบุกรุกทำลายป่า เพื่อพัฒนาโครงการต่าง ๆ ส่งผลให้บ้านของเจ้าตะกองถูกลดขนาดให้เล็กลงจนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ 

และที่ยังคงน่าเป็นห่วง คือมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะรู้จักกิ้งก่าชนิดนี้ จึงยิ่งต้องเพิ่มการรับรู้และสร้างความเข้าใจ เพื่อให้ทุกคนได้รู้จัก เห็นความสำคัญของเพื่อนร่วมโลกอีกหนึ่งชนิด และร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพในอนาคต 

รู้หรือไม่? คำว่าลำตะคอง หรือแม่น้ำลำตะคอง ที่เป็นแม่น้ำสายสำคัญของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในอดีตเชื่อกันว่า มีเจ้า ‘ตะกอง’ อาศัยอยู่จำนวนมาก จึงเรียกลำน้ำแห่งนี้ว่า ‘ลำตะกอง’ แต่ต่อมามีการเพี้ยนคำจนกลายเป็นคำว่า ‘ลำตะคอง’ ในปัจจุบันนั่นเอง 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว