การดัดแปลงพันธุกรรม อีกหนึ่งภัยอันตราย ที่อาจสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อโลก 

การดัดแปลงพันธุกรรม อีกหนึ่งภัยอันตราย ที่อาจสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อโลก 

ปัจจุบันโลกของเรามีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับพืชและสัตว์เกิดขึ้นมากมาย แต่ในอีกทางหนึ่งนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้อาจสร้างผลกระทบโดยที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้  

สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม หรือ GMOs (Genetically Modified Organisms: GMOs) คือ หนึ่งในผลผลิตด้านเทคโนโลยีพันธุกรรมของมนุษย์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ ในมุมหนึ่งการพัฒนาสายพันธุ์พืชและสัตว์ให้รับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปก็ถือเป็นเรื่องดี ทว่าอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นภัยเงียบที่เราจะละเลยไปไม่ได้เด็ดขาด  

GMOs คืออะไร

ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกันก่อนว่า GMOs คืออะไร GMOs คือ สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปรพันธุกรรม จากการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) หรือ เทคนิคการตัดต่อยีนที่สามารถคัดเลือกสารพันธุกรรมหรือยีนที่จำเพาะเจาะจงจากสิ่งมีชีวิตต่างชนิด และนำมาตัดแต่งให้เข้ากับสิ่งมีชีวิตเป้าหมาย เพื่อก่อให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์และสร้างเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติตามที่มนุษย์ต้องการ  

ทำไมต้องดัดแปรพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิต  

จุดประสงค์หลักของการดัดแปรพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิต เพื่อเพิ่มคุณสมบัติบางประการให้แก่สิ่งมีชีวิต อย่างการตัดต่อพันธุ์พืชผักผลไม้ให้ทนต่อความหนาวเย็นได้ เหมาะสำหรับการนำพืชเขตร้อนไปปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นได้ เป็นต้น  

นอกจากนี้ยังมีจุดประสงค์ด้านการยกระดับคุณภาพอาหาร กล่าวคือ เทคโนโลยีทางพันธุกรรมดังกล่าวต้องการที่จะยกระดับคุณภาพอาหาร สิ่งมีชีวิต ยา ฯลฯ เพื่อให้มีปริมาณและประสิทธิภาพมากพอจะรองรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นด้วย  

อุตสาหกรรมการเกษตรเป็นอุตสาหกรรมหลักที่นำเทคโนโลยีการดัดแปรพันธุกรรมมาใช้ โดยเฉพาะพืชผลที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด มันฝรั่ง มะเขือเทศ ฯลฯ หลัก ๆ ก็เพื่อให้ทนต่อสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ ทนต่อศัตรูพืช และให้พืชผลเหล่านั้นเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น ในบางครั้งยังมีการปรับปรุงพันธุ์ให้เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการอาหารมากขึ้นด้วย  

ผลกระทบของสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมต่อสิ่งแวดล้อม  

ถึงแม้ว่ามนุษย์จะได้รับผลประโยชน์มากมายจากการดัดแปรพันธุกรรม แต่ก็อย่าลืมว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวบนโลกใบนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิต ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อีกที่อาศัยในโลก ดังนั้น สิ่งแวดล้อมเองก็ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีการดัดแปรพันธุกรรมเช่นกัน  

ลำดับแรกที่จะเกิดขึ้นหากจำนวนพืชดัดแปรพันธุกรรมเพิ่มมากขึ้นในธรรมชาติ คือ ธรรมชาติจะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไป เนื่องจากมีสายพันธุ์ใหม่ที่เหนือกว่าสายพันธุ์เดิมที่มีอยู่ในธรรมชาติ เมื่อมีสายพันธุ์อื่นเข้าไปรบกวนในระบบนิเวศย่อมส่งผลต่อพืชและสัตว์ที่ต้องพึ่งพิงกับระบบนิเวศด้วย ในกรณีที่แย่ที่สุดอาจทำให้พืชบางชนิดในระบบนิเวศสูญพันธุ์ไปได้เลยทีเดียว  

แน่นอนว่าการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปรบกวนระบบนิเวศ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของอาหารสัตว์บางชนิดด้วย ซึ่งมันอาจจะรุนแรงถึงการเข้าไปทำลายความสมดุลของห่วงโซ่อาหารเลยด้วย  

“Superweeds” และ “Superpest” คือ ภาวะที่เกิดขึ้นจากการดัดแปรพันธุกรรมในพืช โดย Superweeds เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่พืช GMOs สามารถทนต่อสารกำจัดวัชพืชได้ดีมากขึ้น ทำให้วัชพืชเกิดการพัฒนาพันธุ์จนสามารถทนต่อสารกำจัดวัชพืชอย่างไกลโฟเสตได้มากขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพของพืชผลที่วัชพืชรบกวนมากขึ้น  

ส่วนภาวะ Superpest คือ ภาวะที่แมลงบางชนิดพัฒนาพันธุ์พวกมันเองจนมีร่างกายที่ทนทานต่อยากำจัดแมลงที่อยู่ในพืช GMOs ซึ่งมันส่งผลให้ระบบนิเวศเกิดความแปรปรวนได้  

ในทางกลับกันสารพิษบางอย่างที่ปรากฏในพืช GMOs เช่น Bt (Bacillus thuringiensis) toxin อาจมีผลกระทบต่อแมงที่มีประโยชน์ต่อพืชบางชนิดได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ประชากรผีเสื้อโมนาร์ช (Monarch butterfly) ที่ลดลงมากกว่า 90% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี โดยประชากรผีเสื้อลดลงเนื่องจาก การใช้สารกำจัดวัชพืชมากขึ้นกว่าเดิมในพืช GMOs  

การมีพืชหรือสัตว์ GMOs ช่วยยกระดับคุณภาพและปริมาณอาหารสำหรับมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้นก็จริง แต่การไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่มันดำรงอยู่เดิม เปรียบเสมือนการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎของธรรมชาติ ธรรมชาติและระบบนิเวศต่างมีกฎของพวกมันเอง การที่คนนอกอย่างมนุษย์เข้าไปรบกวน ย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ธรรมชาติ ซึ่งมันอาจทำให้ธรรมชาติดั้งเดิมถูกทำลายไปแบบไม่มีวันหวนกลับคืนมา  

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ

Tags from the story: