มหาสมุทรที่ร้อนระอุทำให้การระบาดของไวรัสในปะการังรุนแรงยิ่งขึ้น

มหาสมุทรที่ร้อนระอุทำให้การระบาดของไวรัสในปะการังรุนแรงยิ่งขึ้น

สีสันสวยงามที่เห็นแล้วลืมหายใจของปะการังเกิดจากสาหร่ายสังเคราะห์แสงที่อาศัยอยู่ในปะการัง การศึกษาชิ้นสำคัญที่ใช้เวลายาวนานถึงสามปีพบว่าไวรัสอาจเกิดการระบาดรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงที่มีปรากฎการณ์คลื่นความร้อนในมหาสมุทร

มีการศึกษาจำนวนไม่มากนักที่หาความสัมพันธ์ระหว่างการระบาดของไวรัสในแนวปะการังกับคลื่นความร้อน แต่งานศึกษาชิ้นนี้วิเคราะห์ทั้งอัตราการระบาด ความคงทนถาวร สาเหตุ และผลกระทบด้านสุขภาพต่อแนวปะการังของไวรัสที่ชื่อว่า “dinoflagellate-infecting RNA viruses” หรือไดโนอาร์เอ็นเอไวรัส ไวรัสอาร์เอนเอสายเดี่ยวที่ติดต่อในสาหร่ายซึ่งอาศัยอยู่ภายในปะการัง

Lauren Howe-Kerr หัวหน้าทีมวิจัยระบุว่านักวิจัยด้านโรคในปะการังต่างเริ่มให้ความสนใจเรื่องไวรัสในปะการังตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 และกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 หลังจากที่พบหลักฐานว่าการติดเชื้อไดโนอาร์เอ็นเอไวรัสอาจเป็นสาเหตุที่ของโรคสูญเสียเนื้อเยื้อของหินปะการัง (stony coral tissue loss disease) ซึ่งนับเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดและสร้างความเสียหายมหาศาลในแนวปะการังของรัฐฟลอริดาและทะเลแคริบเบียนตั้งแต่ค้นพบในปี พ.ศ. 2557 

“แม้การศึกษาชิ้นนี้จะไม่เน้นเรื่องโรคสูญเสียเนื้อเยื้อของหินปะการัง แต่เป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสในปะการัง โดยเฉพาะอาร์เอ็นเอไวรัสที่ติดในหมู่สิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันกับปะการัง” Howe-Kerr นักวิจัยหลังปริญญาเอกจาก Rice University กล่าว “งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นการศึกษาเชิงประจักษ์ชิ้นแรกที่ยืนยันว่าเมื่อแนวปะการังเผชิญกับคลื่นความร้อนจะทำให้เกิดการติดเชื้อไดโนอาร์เอ็นเอไวรัสในกลุ่มปะการัง โดยเฉพาะกลุ่มปะการังที่อ่อนแออยู่แล้ว” 

การศึกษาชิ้นนี้ทำขึ้นที่ศูนย์วิจัยทางระบบนิเวศแนวปะการังมูรี (Moorea Coral Reef Long-term Ecological Research station) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเฟรนช์พอลินีเชีย โดยมีการเก็บตัวอย่างกลุ่มปะการังกว่าห้าสิบแห่งปีละสองครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2561 – 2563 โดยแนวปะการังที่หมู่เกาะดังกล่าวเผชิญความร้อนรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 และนำไปสู่การฟอกขาว

แนวปะการังที่ศึกษานั้นมีความหลากหลายซึ่งเผชิญกับแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น แนวปะการังที่หันหน้าเข้ามหาสมุทรจะอยู่ลึกกว่า เจอกับกระแสน้ำที่เย็นกว่าและอุณหภูมิค่อนข้างคงที่ ขณะที่แนวปะการังใกล้ฝั่งจะเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงกว่าและมีความผันผวนมากกว่า

Adrienne Correa หนึ่งในทีมวิจัยระบุว่าการศึกษาชิ้นก้อนหน้าพบว่าแนวปะการัง “เผชิญกับไวรัสหลากหลายสายพันธ์” แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าในแนวปะการังนั้นเจอกับไวรัสชนิดใดบ้าง การศึกษาชิ้นที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการทดลองในแทงก์สำหรับการวิจัยพบว่ามีเพียงกลุ่มไดโนอาร์เอ็นเอไวรัสเท่านั้นที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น

“เราตามเก็บตัวอย่างจากระบบนิเวศจริงเพื่อยืนยันว่าปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นในมหาสมุทรเช่นกัน และเราก็พบปริมาณไวรัสเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดคลื่นความร้อนในแนวปะการังทุกแห่ง” เธอกล่าว

ถึงแม้ว่าแนวปะการังทุกกลุ่มที่พวกเธอติดตามเก็บข้อมูลตลอดสามปีจะอยู่รอดปลอดภัย แต่กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ต้องเผชิญกับการตายไปบางส่วน แนวปะการังที่โดนผลกระทบรุนแรงที่สุดคือแนวปะการังที่หันหน้าเข้ามหาสมุทรที่ตายมากกว่าแนวปะการังริมฝั่งถึงสามเท่าตัว Correa อธิบายว่าสาเหตุก็เพราะแนวปะการังริมชายฝั่งอาจมีความสามารถในการปรับตัวมากกว่าเมื่อเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น 

เธอระบุว่าอาร์เอ็นเอไวรัสจะพบมากที่สุดในแนวปะการังช่วงที่เกิดคลื่นความร้อนในปี พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ กลุ่มปะการังที่ตายมากที่สุดยังเป็นกลุ่มปะการังที่พบไวรัสมากที่สุดอีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่าไวรัสดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง

“ไวรัสอาจมีแนวโน้มระบาดมากขึ้นและรุนแรงขึ้นเมื่ออุณหภูมิในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น” Correa กล่าว “เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ให้มากที่สุดเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างไวรัสกับปะการัง เพราะนั่นอาจเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์จากการเกื้อกูลกันของสาหร่ายและปะการังซึ่งเป็นรากฐานของระบบนิเวศปะการังนั่นเอง”

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก