ปะการังดอกกะหล่ำ ในน่านน้ำนิวเซาท์เวลส์ อาจสูญพันธุ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ปะการังดอกกะหล่ำ ในน่านน้ำนิวเซาท์เวลส์ อาจสูญพันธุ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ข่าวสารความสูญสิ้นของแนวปะการังปรากฎให้เห็นสม่ำเสมอในยุคปัจจุบัน จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติบนความไม่ปกติ

ตัวอย่างเช่น ไม่นานมานี้ ยูเนสโกเริ่มตั้งคำถามต่อความเป็นอยู่ของ “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” อีกครั้ง

ทั้งกล่าวด้วยว่า ปะการังมรดกโลกแห่งนี้สมควรปรับสถานะให้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอันตราย

เช่นเดียวกับแนวปะการังแห่งอื่นๆ ทั่วโลก ที่เผชิญภาวะฟอกขาวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกิจกรรมที่มนุษย์กระทำต่อปะการังโดยตรง

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นครอส ระบุว่าอัตราการเติบโตของแนวปะการังทั่วโลกกำลังลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ไม่ว่าจะที่เวสเทิร์นออสเตรเลีย แหล่งปะการังในญี่ปุ่น ฮาวาย ทะเลแดง เฟรนช์โปลินีเซีย เบอร์มิวดา ฯลฯ

รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งพบความจริงแสนน่าเศร้า

เมื่อปะการังดอกกะหล่ำ ที่ชูช่ออยู่แถบชายฝั่งของนิวเซาธ์เวลลส์ มีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ภายใน 10 ปีข้างหน้า

ปะการังดอกกะหล่ำ เป็นสายพันธุ์ของปะการังที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินโดแปซิฟิก และมหาสมุทรแปซิฟิก

มักพบเห็นได้ในบริเวณที่น้ำไม่ลึกมาก

ในประเทศไทยก็สามารถพบเห็นได้หลายแห่ง

สามารถสังเกตุได้จากโครงสร้างหินปูนที่มีลักษณะกึ่งก้อนหรือพุ่ม มองดูคล้ายดอกกะหล่ำ คือ มีฐานเหมือนต้นไม้ ยึดติดกับพื้นแนวปะการัง ส่วนบนแตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม บนกิ่งมีปมของกลุ่มคอรอลไลท์ (verrucae) โพลิปปะการังมีสีน้ำตาลเห็นชัด

ที่พอร์ตสตีเฟนส์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นอีกสถานที่ที่พบปะการังดอกกะหล่ำได้เป็นจำนวนมาก (ในอดีต) พร้อมด้วยสัตว์หายากอย่างม้าน้ำไวท์ ปลาจิ้มฟันจระเข้ ตลอดจนปลากระพงออสเตรเลีย

นักวิจัยเริ่มทำการสำรวจและทำแผนที่ปะการังดอกกะหล่ำในพอร์ตสตีเฟนส์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ครั้งแรกในปี 2011

ซึ่งสามารถพบเห็นปะการังดังกล่าวเป็นเนื้อที่ราว 28,600 ตารางเมตร

แต่ในปัจจุบันสามารถพบเห็นได้เพียง 9,300 ตารางเมตร

ที่สหรัฐอเมริกา นักวิจัยจากวิทยาลัยโรเซนสตีล แห่งมหาวิทยาลัยไมอามี ได้พบว่า จีโนมของปะการังดอกกะหล่ำมีระบบภูมิคุ้มกัน ที่อาจต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในระยะยาว

หรือมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดีนั่นเอง

แต่ปัญหาที่ทำให้ปะการังดอกกะหล่ำสูญหายนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสาเหตุใดเพียงสาเหตุเดียว

เหตุผลที่ทำให้ปะการังดอกกะหล่ำลดลงมาจากการเคลื่อนที่อันไม่เป็นปกติของผืนทรายในทะเล

อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งของมนุษย์ เช่น การพัฒนาท่าจอดเรือ จนพลวัตของกระแสน้ำทั่วบริเวณปากแม่น้ำเกิดความเปลี่ยนแปลง

ในปี 2018 ได้เกิดการเคลื่อนที่ของทรายจำนวนมากที่ไหลจากปลายด้านตะวันตกของอ่าวโชล ที่ปกคลุมอาณานิคมของปะการังดอกกะหล่ำวันอ่อน ทำให้ปะการังในแถบนั้นหายไปอย่างสิ้นเชิง

รวมถึงยังมีสาเหตุเชิงประจักษ์อื่นๆ ที่สามารถสำรวจได้ด้วยตา เช่น การทิ้งสมอเรือ การทำท่าจอดเรือ ตลอดจนความเสียหายที่เกิดจากเครื่องมือประมง

และบางเรื่องที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอย่างปัญหามลพิษ ที่ต้องรอผลตรวจสอบจากแล็ปทดลอง

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ภาวะฝนตกชุกจนเกิดน้ำท่วมหลายแห่ง ได้เพิ่มปริมาณน้ำจืดต่อแนวปะการัง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนทางนิเวศ และทำให้ปะการังดอกกะหล่ำล้มหายตายจากเพิ่มไปอีกจำนวนหนึ่ง

ทั้งหมดทั้งมวล ก็วนกลับมาสู่ข้อสรุปแบบเก่า หากไม่เร่งแก้ไข ปะการังดอกกะหล่ำจะสูญหายไปจากนิวเซาท์เวลส์ทั้งหมด

ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า จะหายไปภายในเวลาช่วงเวลา 10 ปีนี้

ผลต่อมาทำให้ ม้าน้ำไวท์ ปลาจิ้มฟันจระเข้ สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ไม่มีที่อยู่อาศัย

แหล่งอนุบาลสัตว์เศรษฐกิจอย่างปลากระพงจะหายไป

เมื่อทะเลไม่เหลืออะไรให้ดู ก็จะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม เศรษฐกิจท้องถิ่นก็จะย่ำแย่ตาม

ข้อเสนอของนักวิจัย นอกจากทำการคุ้มครองและงดกิจกรรมเหนือแนวปะการังแล้ว ผู้คนยังต้องช่วยปลูกปะการังขึ้นใหม่ ในที่ที่ปลอดภัย ก่อนปล่อยคืนสู่ทะเลอีกครั้ง

เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา

เทียบไม่ได้กับการปล่อยสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ให้มันอยู่ดีอย่างปลอดภัยเช่นนั้นต่อไป

ชมวีดีโอสรุปเหตุการณ์นี้ขนาดสั้นเพิ่มเติมได้ที่

 


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน