ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น มิตรหรือศัตรู

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น มิตรหรือศัตรู

จากกระแสการพบหนอนตัวแบนนิวกินีในประเทศไทยจนทำให้การพูดคุยถกเถียงถึง ” ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น “ หรือ “เอเลี่ยนสปีชีส์” อย่างกว้างขวางกันอีกหน มิหนำซ้ำคราวนี้เรื่องราวยังพาความซวยไปถึงเจ้าแมวเหมียว จนต้องลำบากทาสแมวออกโรงมาปกป้องกันจ้าละหวั่น

แต่ช้าก่อน! อย่าเพิ่งตื่นตระหนกหรือรีบโรยเกลือใส่แมวกัน ลองมาทำความเข้าใจกับ “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” กับ “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน” กันในบทความนี้กันเสียก่อน

“ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” (Alien Species) คือ ชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ชนิดพันธุ์ท้องถิ่น แต่มันเดินทางจากถิ่นอื่นเข้ามาในถิ่นนั้นๆ ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายความถึงสัตว์เพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงพืช จุลินทรีย์ เชื้อรา ด้วยเช่นกัน

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดต่อสภาพแวดล้อมใหม่จากการเข้ามาของ “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความชื่นชอบในสภาวะแวดล้อมว่ามีอากาศ ความชื้น แสงแดด สายลม เหมาะสมกับตัวมันมากน้อยแค่ไหน หากสภาพแวดล้อมแห่งนั้นเหมาะต่อการเจริญเติบโต เช่น มีอาหารสมบูรณ์ ไม่มีกลไกทางธรรมชาติในการควบคุมประชากร “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” ก็จะสามารถปรับตัว แพร่กระจายพันธุ์ได้ดี สร้างและขยายอิทธิพลในพื้นที่นั้นๆ จนเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เราเรียกมันว่าเป็น “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน” (Invasive Alien Species)

หนอนตัวแบนนิวกีนี / PHOTO ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์

 

ผลกระทบจาก “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน” แบ่งออกได้ง่ายๆ เป็น 4 ด้าน ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ, ผลกระทบทางการเกษตร, ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

สาเหตุของผลกระทบที่เกิดจากจาก “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน” เป็นต้นว่า มาจากการเข้าไปเบียดเบียนชนิดพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิม ไม่ว่าจะด้วยการไล่กัดกิน แย่งอาหาร แย่งชิงพื้นที่สืบพันธุ์ ข่มเหงพันธุกรรมที่มีความใกล้เคียงผสมพันธุ์ออกมากระทั่งลูกที่เกิดมีโอกาสรอดต่ำและเป็นหมันในรุ่นถัดไป ส่งผลทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมเดิมเสื่อมลง หรือบางกรณีเป็นพาหะนำโรคหรือปรสิตเข้าสู่พื้นที่โดยที่ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นอาจไม่สามารถต้านทานได้ หรือการรบกวนสภาพนิเวศ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสมดุลนิเวศวิทยาเดิม เป็นต้น

โดยลักษณะพิเศษของการรุกรานทางชีวภาพคือ เมื่อเกิดขึ้นและดำเนินไปแล้ว ความเสียหายและสูญเสียที่เกิดขึ้นจะสามารถคงอยู่ต่อไปหรืออาจเพิ่มขึ้น แม้จะมีการจัดการกับต้นเหตุของปัญหาไปแล้วก็ตาม

จากการประเมินระบบนิเวศแห่งสหัสวรรษ (Millennium Ecosystem Assessment, 2005) พบว่า การคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก มีเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานสร้างปัญหาเป็นอันดับสอง ซึ่งเป็นรองเพียงแค่การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยเท่านั้น

แต่การที่จะบอกว่า “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” เป็น “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน” หรือไม่นั้น จำเป็นต้องมีการสำรวจและเก็บข้อมูลในพื้นที่ของประเทศนั้นประกอบด้วย และในบางกรณี “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” ก็ไม่ใช่วายร้ายเสมอไป

ยังมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นประเภทไม่รุกราน ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโดยตรงหรือชัดเจนเสียทีเดียว เพราะหากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นไม่เข้าไปแข่งขัน แก่งแย่งชิงอาหารและพื้นที่จนขัดต่อวิถีชีวิตชนิดพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งชนิดพันธุ์ต่างถิ่นบางชนิดยังมีผลเชิงบวก อาทิ วัชพืชที่ช่วยปกคลุมหน้าดิน ปลานิลที่เป็นแหล่งโปรตีนหลัก พืชสมุนไพร เป็นต้น

ประเด็นสำคัญอีกเรื่อง ไม่ใช่ “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” ทุกชนิด จะสามารถเล็ดลอดออกไปสู่ระบบนิเวศได้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมนุษย์ (ทั้งด้วยความตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ตาม)

ประเทศสหรัฐอเมริกา หนอนตัวแบนนิวกินีใช้ pharynx (สีขาว) ดูดเนื้อเยื่ออ่อนจากหอยทาก / PHOTO PIERRE GROS

 

การลำเลียงพลของ “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” เข้ามายังพื้นที่หรือประเทศไทย ที่หลายคนมักตั้งคำถามว่าพวกมันเข้ามาได้อย่างไรนั้นมีด้วยกันหลายสาเหตุ ประกอบไปด้วย การนำเข้าโดยตรง ความบังเอิญที่เกาะมากับการคมนาคมขนส่ง การปล่อยสู่แหล่งธรรมชาติ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และรวมถึงในสถานะของเครื่องบรรณาการสำหรับเชื่อมสัมพันธไมตรี

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มีข้อมูลว่าปัจจุบันประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอยู่มากกว่า 3,500 ชนิด ที่ส่วนมากเป็นสัตว์น้ำ และส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาโดยตรง เพื่อผลประโยชน์ทางการเกษตร การเพาะเลี้ยง หรือเป็นพืชและสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด อ้อย ยางพารา หมู เป็นต้น ขณะเดียวกัน ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น บางชนิดได้แพร่ระบาดข้ามพรมแดนผ่านการติดมากับการคมนาคมขนส่ง

คุณเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (IUCN) ยืนยันชัดเจนว่าปัจจุบันประเทศไทยได้รวบรวมข้อมูลชนิดพันธุ์ต่างถิ่นไว้ประมาณ 3,500 ชนิด แต่มีศักยภาพในการรุกรานในประเทศไทยทั้งสิ้น 182 ชนิด สัตว์หลายชนิดที่คุ้นเคยกันดีก็นับเป็นสัตว์ต่างถิ่นรุกรานและสร้างผลกระทบร้ายแรง เช่น นกเอี้ยงสาริกา แมวบ้าน เป็นต้น

ส่วนบัญชีรายการ ร้อยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานที่น่ากลัวที่สุดของโลก มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา 2 ประการ คือ (1) ผลกระทบที่สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นมีต่อความหลากหลายทางชีวภาพและผลกระทบต่อความเป็นอยู่มนุษย์ และ (2) ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติโดยรอบ หลังจากสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นเข้ามารุกราน

ซึ่งในบัญชีดังกล่าวปรากฏรายชื่อ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีอยู่ในประเทศไทย เช่น หอยทากยักษ์แอฟริกา (ลำดับที่ 2) นกเอี้ยงสาริกา (ลำดับที่ 3), ต้นสาบเสือ (ลำดับที่ 23), แมวบ้าน (ลำดับที่ 38), ต้นกระถินยักษ์ (ลำดับที่ 46), ต้นไมยราบยักษ์ (ลำดับที่ 56), หนอนตัวแบนนิวกินี (ลำดับที่ 72) หอยเชอรี่ (ลำดับที่ 73) และเต่าญี่ปุ่นหรือเต่าแก้มแดง (ลำดับที่ 93) เป็นต้น

ตัวอย่างชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทย เช่น ปลาหมอสีคางดำ ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมคือทวีปแอฟริกา ได้ถูกนำเข้ามาในปี 2553 จำนวน 5,000 ตัว เพื่อพัฒนาชนิดพันธุ์มุ่งหวังด้านปลาเศรษฐกิจ ไม่ว่าอย่างไรก็ตามชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดนี้ได้หลุดสู่แหล่งน้ำ มันกินแพลงก์ตอน ลูกปลา และกุ้ง เป็นอาหาร อีกทั้งยังขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถอาศัยได้ทุกแหล่งน้ำ จึงส่งผลต่อสัตว์ท้องถิ่นรวมถึงบ่อเลี้ยงของเกษตรกรให้ได้รับความเสียหาย

ปลาหมอคางสีดำ / PHOTO 4.fisheries.go.th

 

สาบเสือ ที่เป็นพืชชนิดพันธุ์ต่างถิ่นซึ่งรุกราน แต่ในมุมหนึ่งพืชชนิดนี้เองก็มีคุณประโยชน์ในด้านช่วยคลุมดิน และมีสรรพคุณทางยาต่างๆ เช่น ใบสาบเสือสามารถป้องกันและกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูทางการเกษตรได้ทั้ง หนอนกระทู้ ด้วง และเพลี้ยอ่อน เป็นต้น ต้นและใบของสาบเสือสามารถบำบัดน้ำเสียได้ และยังมีสรรพคุณทางยาด้านอื่นๆ อีกด้วย แต่เนื่องจากมันสามารถอาศัยได้ทุกสภาพอย่างดี และผลิตเมล็ดจำนวนมากที่สามารถกระจายพันธุ์ด้วยการลอยตามแรงลมได้ทำให้พืชชนิดนี้สามารถระบาดได้อย่างรวดเร็ว

แมวบ้าน สัตว์เลี้ยงแสนรักใกล้ตัวที่หลายคนไม่คาดคิดมาก่อนว่าเป็น “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน” เช่นกัน ในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาผลกระทบจากแมวบ้านอย่างจริงจัง แต่กรณีศึกษาจากต่างประเทศนั้นมีงานวิจัยจากประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า ภายใน 1 วันแมวล่านกได้ 1 ล้านตัว โดยนกที่ตกเป็นเหยื่อเกือบทั้งหมดเป็นนกประจำถิ่นที่พบในธรรมชาติ และเป็นนกชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์กว่า 70 ชนิด เฉลี่ยเป็นแมวจรจัดล่านกปีละ 316 ล้านตัว และแมวที่มีเจ้าของปีละ 61 ล้านตัว ขณะที่ประเทศอังกฤษมีสถิติคนเลี้ยงแมวราว 7.2 ล้านตัว และสมาคมอนุรักษ์ของสหราชอาณาจักร (RSPB) ประเมินว่าแต่ละปีแมวฆ่านกในธรรมชาติปีละมากกว่า 27 ล้านตัว ดังนั้น สำหรับผู้ที่ต้องการปกป้องแมวของตัวเองควรเลี้ยงระบบปิด ให้อาหารให้แมวอิ่มอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ไปล่าสัตว์ไม่ว่าจะนกหรือสัตว์เลื้อยคลานเพิ่มเติม และหากแมวคาบสัตว์มาฝากเจ้าของคุณควรแสดงอาการไม่ปลื้มใจเพื่อไม่สนับสนุนให้น้องแมวไปล่าสัตว์มาอีก

แมวบ้าน / PHOTO พัชริดา พงษปภัสร์

 

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ หอยทากยักษ์แอฟริกา มีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่ทางฝั่งตอนตะวันออกของทวีปแอฟริกา เข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2500 และเกิดการระบาดไปทั่วประเทศในอีก 15 ปีต่อมา หอยทากยักษ์แอฟริกานั้นสามารถอาศัยอยู่ได้หลากหลายพื้นที่ เช่น มีการพบเห็นตามป่าเสื่อมโทรม พื้นที่การเกษตร สวนไร่ และแหล่งชุมชน สามารถสืบพันธุ์ออกลูกออกหลานได้ง่าย ด้วยความที่หอยทากยักษ์แอฟริกากินใบไม้ ซากใบ้ไม้ และยอดอ่อนเป็นอาหาร จึงกลายเป็นศัตรูพืชทางการเกษตรไปทั่วโลก ประเทศแถบหมู่เกาะแปซิฟิกซึ่งต้องเผชิญกับหอยทากยักษ์แอฟริกาจึงหาทางออกด้วยการปล่อยหนอนตัวแบนนิวกินีเข้าสู่พื้นที่เพื่อกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา ทว่า นอกจากเจ้าหนอนตัวแบนนิวกินีจะกำจัดศัตรูทางใจให้ชาวเกษตรกรแล้ว แต่มันยังไล่ล่าทากท้องถิ่นจนกระทั่งสูญพันธุ์ไปอีกด้วย

หอยทากยักษ์แอฟริกา / PHOTO wikimedia.org

 

สำหรับ หนอนตัวแบนนิวกินนี มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะนิวกินี ประเทศอินโดนีเซีย ตัวของมันได้รับการจัดอันดับอยู่ในบัญชี ‘ร้อยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานที่น่ากลัวที่สุดของโลก’ (100 of the World’s Worst Invasive Alien Species) จัดทำโดยสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ส่วนการโยกย้ายประชากรของหนอนตัวแบนนิวกินีมาสู่ประเทศไทยยังระบุไม่ได้แน่ชัดนัก แต่กล่าวกันว่ามันสามารถเดินทางมาพร้อมกับดินที่ติดมาพร้อมกับการนำเข้าต้นไม้ก็เป็นได้

กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดหนอนตัวแบนนิวกินีให้เป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่มปรสิตหรือพยาธิ ที่ไม่ใช่ศัตรูของพืช ซึ่งเข้ามายังประเทศไทยได้ประมาณ 10 ปีแล้ว

สำหรับกรณีของหนอนตัวแบนนิวกินนีในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาผลกระทบให้เป็นที่ประจักษ์ ดังนั้น จึงไม่ควรตื่นตระหนกกับข่าวลือบางเรื่องที่ว่าเมื่อสัมผัสหนอนนิวกินีจะทำให้ติดไวรัสถึงตาย และเมื่อเจอทากสีน้ำตาลๆ ดำๆ ก็อย่ารีบร้อนโรยเกลือส่งเดช เพราะอาจจะกลายเป็นว่าตัวเราเองนี่แหละที่เป็นผู้ล่าชนิดพันธุ์ท้องถิ่นจนลดจำนวนลง

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” ไม่ใช่ผู้ร้ายสายดาร์ค ที่เรียกว่า “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน” เสมอไป ยังมีชนิดที่ทำตัวเทาๆ ให้เห็นอยู่บ้าง หรือบางชนิดก็มีประโยชน์อย่างมากในด้านใดด้านหนึ่ง เราจึงไม่ควรตื่นตูมเพราะคำว่า “เอเลี่ยน” จนเกินไปนัก ขอพยายามเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งนี้ก่อนนำไปสู่ระบบการจัดการที่เหมาะสมต่อไป

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code

 


รายละเอียดเพิ่มเติม
– บัญชีรายการร้อยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ร้ายแรงของโลก
– สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมข้อมูลที่เกี่ยวกับหนอนตัวแบนนิวกินี หรือพบเห็น สามารถแจ้งได้ที่ช่องทาง Facebook : ส่วนวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ หรือทางไลน์กลุ่มหนอนตัวแบนนิวกินี line : @gbw4880w

แหล่งอ้างอิง
– http://58.82.155.201/chm-thaiNew/chm/alien/index.html
– www.matichon.co.th/news/726726
– www.the101.world/life/cats-and-environment
– medthai.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD

บทความโดย พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร