ปลาดุก กับเรื่องที่ควรรู้

ปลาดุก กับเรื่องที่ควรรู้

‘ปลาดุก’ หากพูดถึงปลาชนิดนี้ ใครหลาย ๆ คน คงรู้จักกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งในวัตถุดิบอาหารอันเลิศ รส หรือเป็นกระแสแห่งบุญของการทำทานของพุทธศาสนิกชน

แต่รู้หรือไม่ว่าปลาดุกในบ้านเรามีหลากหลายสายพันธุ์ มีทั้งชนิดพันธุ์ท้องถิ่นเดิม และชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive alien species) อย่างปลาดุกเทศหรือปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกา และปลาดุกบิ๊กอุย ลูกผสมจากปลาดุกอุยกับปลาดุกแอฟริกา

ซึ่งถ้าหากเราปล่อยให้สัตว์ต่างถิ่นเหล่านี้หลุดเข้าไปในธรรมชาติ ก็จะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ เกิดการสูญเสียของสัตว์น้ำท้องถิ่นเดิม เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร สุดท้ายแล้วผู้ที่ได้รับผลจากการกระทำเหล่านี้ ก็คือ ‘ตัวเราทุกคน’

วันนี้แอดมินจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับปลาดุกที่สามารถพบได้ในประเทศไทย และแต่ละชนิดมีลักษณะอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร และมีชนิดใดบ้างที่เป็นวายร้ายต่อระบบนิเวศ

ปลาดุก (walking catfish) เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ด ผิวหนังลื่น อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศ จัดเป็นสกุลของปลาหนังน้ำจืดในสกุล Clarias ในวงศ์ Clariidae ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับปลากด ปลาแขยง ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาเทพา และปลาบึก

ปลาดุกกินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ รวมถึงกินซากสัตว์จำพวกเศษเนื้อที่กำลังสลายตัว เรียกได้ปลาดุกสามารถกินทุกอย่างที่ขวางหน้าจริง ๆ

รูปร่างหน้าตาของเจ้าปลาดุก

ปลาดุกมีตาขนาดเล็ก มีหัวที่แบนและมีขนาดใหญ่ มีหนวดยาว 4 คู่ อยู่บริเวณรอบ ๆ ปาก เพื่อใช้ในการหาทิศทางแทนดวงตาในเวลาเคลื่อนที่ ลักษณะครีบอกจะมีเงี่ยงเป็นก้านแข็ง มีปลายที่แหลมคม และลำตัวมีสีน้ำตาลเข้ม เทา และดำคล้ำ ปลาดุกบางชนิดจะมีลายจุดตามตัว เช่น ปลาดุกเทศ ปลาดุกลำพัน เป็นต้น

ส่วนครีบหลังจะเล็กสั้น ปลายมน และขนานยาวไปกับลำตัว ครีบท้องมีขนาดเล็ก ปลายมน มี 1 คู่ อยู่ใกล้กับทวาร บริเวณท้องจะมีสีอ่อนจางกว่าบริเวณลำตัว ครีบก้นลักษณะคล้ายครีบหลัง อยู่บริเวณกลางลำตัวขนานยาวจดครีบหาง ครีบนี้ช่วยพยุงตัว และเพื่อให้เคลื่อนที่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ครีบหาง อยู่ชิดติดครีบหลังและครีบก้น ปลาดุกบางชนิดอาจเชื่อมติดกันระหว่างครีบหลัง ครีบก้นและครีบหาง

รู้หรือไม่? ปลาดุกมีวิวัฒนาการให้มีอวัยวะพิเศษ คล้ายฟองน้ำสีแดงสดอยู่ในช่องเหงือกตอนบน เพื่อช่วยในการหายในบนบก หรือในแอ่งน้ำตื้น ๆ ได้

ปลาดุกเป็นปลาน้ำจืด มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา และเขตร้อนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะบอร์เนียว

ในไทยพบการกระจายตัวของปลาดุกในคลอง หนอง บึงต่าง ๆ ทั่วทุกภาค อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วไป หรือแม้แต่หนองน้ำที่มีน้ำเพียงเล็กน้อย ปลาดุกก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

ปลาดุกชนิดพันธุ์ท้องถิ่นเดิมของไทยมีด้วยกันทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ปลาดุกอุย ปลาดุกด้าน ปลาดุกดัก ปลาดุกมอด และปลาดุกลำพัน แต่ในปัจจุบันสามารถพบเห็นและเพาะเลี้ยงขายได้ เหลือเพียงแค่ 2 ชนิดเท่านั้น คือ ปลาดุกด้าน และปลาดุกอุย

ปลาดุกอุย หรือปลาดุกนา (Broadhead catfish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clarias macroceohalus เป็นปลาดุกท้องถิ่นเดิม ปัจจุบันเป็นปลาที่หายากในธรรมชาติ เนื่องจากถูกแทนที่ด้วยปลาดุกชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ปลาดุกอุยมีลักษณะสีของลำตัวค่อนข้างเหลือง มีจุดประตามด้านข้างของลำตัว 9-10 แถบ เมื่อโตเต็มวัยจุดประตามตัวจะหายไป ส่วนท้องมีสีขาวถึงเหลือง หัวค่อนข้างทู่ ส่วนที่สามารถสังเกตได้ชัดเจน คือส่วนกะโหลกท้ายทอยจะป้านและโค้งมนมาก

ปลาดุกด้าน (Walking catfish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clarias batrachus สีของลำตัวค่อนข้างคล้ำเล็กน้อย ส่วนหัวค่อนข้างแหลม รูปร่างเรียวยาว ส่วนหางแบน และส่วนปลายของกระดูกบริเวณท้ายทอยมีลักษณะแหลมยาว ซึ่งต่างจากปลาดุกอุยที่จะมีลักษณะโค้งมน และปลาดุกด้านสามารถเคลื่อนที่บนบกเป็นระยะทางสั้น ๆ ได้

ปลาดุกบิ๊กอุย ถือเป็น Invasive alien specie หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน เป็นปลาดุกลูกผสมที่เกิดจากปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกากับปลาดุกอุย ซึ่งมีลักษณะภายนอกคล้ายปลาดุกอุย แต่มีขนาดใหญ่ มีกะโหลกท้ายทอยจะแหลมเป็นหยัก มีการเจริญเติบโตเร็ว เป็นหมัน กินได้ทุกอย่างที่ขวางหน้าทั้งพืชและสัตว์ และเบียดเบียนแย่งชิงทรัพยากรสัตว์น้ำท้องถิ่นจนหมดไป!

ดังนั้น ก่อนที่เราจะเลือกปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ‘เราควรศึกษาชนิดพันธุ์ที่จะปล่อย ความเหมาะของสถานที่ รวมถึงตระหนักถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมด้วย’

การปล่อยสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ต่างถิ่นลงแหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากจะบาป และทำลายระบบนิเวศแล้ว เรายังทำผิดกฎหมายตามมาตรา 65 และมาตรา 144 แห่งพรก.ประมง 2558 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ!

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว