ทบทวนบทเรียนเรื่องเสือโคร่งในผืนป่าแห่งความหวัง

ทบทวนบทเรียนเรื่องเสือโคร่งในผืนป่าแห่งความหวัง

เสือโคร่ง สัตว์ป่าที่ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เพราะป่าที่มีเสือโคร่งอาศัยเป็นจำนวนมากย่อมหมายถึงป่าที่มีขนาดใหญ่ มีเหยื่อหรือสัตว์กินพืชอย่าง กระทิง วัวแดง กวาง ในจำนวนมากพอต่อความต้องการของสัตว์ผู้ล่า และการที่มีสัตว์กินพืชจำนวนมาก ก็หมายถึงมีอาหารของสัตว์ผู้ถูกล่ามากพอสำหรับหล่อเลี้ยงชีวิตพวกมันเช่นกัน

ภาพป่าอนุรักษ์ของไทย อย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาตินั้น คือ ตัวอย่างของพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์และปลอดภัยจากระบบการดูแลป้องกันของพื้นที่ ปัจจุบันการดูแลป้องกันนั้นได้ต่อยอดไปยังพื้นที่อนุรักษ์ใกล้เคียงอย่างอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน จนสัตว์ป่าหลายชนิดเริ่มกระจายตัวไปใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหาอาหาร และได้กลายเป็น ‘ความหวัง’ ของวงการอนุรักษ์

มาทบทวนกันอีกครั้ง ทำไมป่าแม่วงก์ถึงเป็นผืนป่าแห่งความหวัง และทำไมเสือโคร่งถึงมีความสำคัญต่อผืนป่า

 

แม่วงก์ ผืนป่าแห่งความหวัง

หลังจากยุติการทำสัมปทานไม้ในอดีต และได้รับความคุ้มครองในความเป็นอุทยานแห่งชาติ ป่าแม่วงก์วันนี้กำลังฟื้นตัวจนกลับมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อีกครั้ง และสัตว์ป่าเริ่มทยอยเข้ามาใช้ประโยชน์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหาอาหารโดยการเคลื่อนย้ายมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเนื่องจากมีอาณาเขตพื้นที่ติดต่อกัน

จากการศึกษาการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน โดยความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย พบว่าเสือโคร่งจากห้วยขาแข้งส่วนหนึ่งได้กระจายตัวมาสู่ผืนป่าแม่วงก์

ผืนป่าแม่วงก์ / PHOTO มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลว่า “เสือโคร่งในป่าแม่วงก์กำลังฟื้นฟูอย่างชัดเจน โดยเสือโคร่งส่วนหนึ่งกระจายตัวมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หากสามารถควบคุมการล่าสัตว์ป่าได้อย่างต่อเนื่องและจริงจังในป่าแม่วงก์ คาดว่าอีกประมาณไม่เกิน 10 ปี อุทยานแห่งชาติแม่วงก์จะกลายเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อื่นๆ ชุกชุม”

เหตุผลสำคัญของการกระจายตัว เพราะว่าป่าแม่วงก์นั้นไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ภายใน (เช่นเดียวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง) และป่าแม่วงก์ยังเป็นป่าที่มี “ป่าที่ราบริมน้ำ” เหมาะแก่การเป็นแหล่งหาอยู่หากินของสัตว์ป่า มีการพบร่องรอยการหากินของสัตว์กีบอย่างกวาง ซึ่งเป็นอาหารของเสือโคร่ง

ในปัจจุบันป่าลักษณะนี้ในผืนป่าตะวันตกเหลือเพียงสองแห่ง คือ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในบริเวณที่ถูกชี้ให้เป็นพื้นที่โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์

 

เมื่อมีป่าจึงมีเสือ เมื่อไม่มีเสือจึงไม่มีป่า

โรเบิร์ต สไตเมทซ์ หัวหน้าฝ่ายชีววิทยาการอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย ตอบคำถามที่ผู้สื่อข่าวถามว่า “ถ้าไม่มีเสือจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง” นักวิจัย ตอบว่า “ถ้าไม่มีเสือป่าจะเกิดการเสื่อมโทรมต่อไปในอนาคต ในนิเวศวิทยาของป่าเขตร้อน ต้นไม้เกือบทุกชนิดอาศัยสัตว์ป่าในการแพร่เมล็ดพันธุ์ ถ้าสังคมสัตว์ป่าไม่สมบูรณ์ ป่านั้นจะมีการเสื่อมโทรมแล้วป่าเป็นแหล่งของหลายๆ อย่างที่มนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัย เป็นแหล่งน้ำ เป็นแหล่งอากาศ ตอนนี้เรากำลังเห็นผลกระทบ น้ำท่วมปีที่แล้วที่กรุงเทพฯ มันมีหลายสาเหตุ การจัดการน้ำก็ได้ พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำกลายเป็นสิ่งก่อสร้าง แต่ว่าสาเหตุหนึ่งคือ ผืนป่าไม่พอ ผืนป่าเสื่อมโทรม ไม่สามารถซึมซับน้ำที่มีอยู่ได้”

รอยตีนเสือที่ป่าที่ราบริมน้ำแม่วงก์ / PHOTO WCS Thailand

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) ที่ 12 นครสวรรค์ บอกถึงเหตุผลที่ต้องรักษาเสือโคร่งว่า “เสือโคร่งมีความสำคัญ ไม่เฉพาะว่ามันเป็นเสือโคร่ง เป็นสัตว์ใกล้สุญพันธุ์ แต่เพราะมันมีความสำคัญมากกว่านั้น การรักษาเสือโคร่ง คือ การรักษาเผ่าพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่ขณะเดียวกันธรรมชาติก็ได้รับการดูแลไปด้วย การมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ไม่ได้เป็นประโยชน์เพียงกับเสือโคร่งๆ แต่เป็นผลดีโดยตรงต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ การป้องกันภัยธรรมชาติ เพราะการรักษาเสือโคร่งได้ คือการรักษาป่าขนาดใหญ่ การรักษาป่าขนาดใหญ่คือการรักษาพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต และก็เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์อีกด้วย เรายังไม่รู้อะไรอีกเยอะแยะมากมายว่าเสือโคร่งจะมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์หรือเปล่า แต่ถ้าเราไม่พยายามรักษาป่าไว้ เสือโคร่งก็หมด เพราะฉะนั้นการรักษาเสือโคร่งเป็นการรักษาสัตว์ที่สูญพันธุ์เพื่อมนุษย์”

 

“เขื่อน” ภัยคุกคามผืนป่าอนุรักษ์

เกือบ 30 ปี หลังชัยชนะของวงการอนุรักษ์ที่สามารถคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรได้สำเร็จ นับตั้งแต่นั้นก็ไม่เคยมีโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ๆ เกิดขึ้นในผืนป่าอนุรักษ์อีกเลย ส่วนหนึ่งเพราะความเข้มแข็งและความตระหนักถึงทรัพยากรธรรมชาติของประชาชน หากโครงการสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์สามารถเกิดขึ้นได้ ภัยคุกคามจากโครงการพัฒนาของรัฐจะส่งผลกระทบมากกว่าพื้นที่ที่จะเสียไปเพื่อทำอ่างเก็บน้ำ

ในระหว่างสร้างเขื่อน ซึ่งกินระยะเวลายาวนาน จะนำไปสู่การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ป่าครั้งใหญ่ที่สุด และเป็นที่คาดการณ์ว่า เขื่อนแม่วงก์จะยิ่งอำนวยความสะดวกให้พรานล่าสัตว์ในการเข้าถึงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตลอดจนผืนป่าตะวันตก อย่างที่เคยปรากฎมาแล้วในกรณีการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่ง สืบ นาคะเสถียร ได้บันทึกไว้ใน งานเขียน เรื่อง เบื้องหลังการทำไม้ที่เขื่อนเชี่ยวหลาน และการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างที่เขื่อนเชี่ยวหลาน

การอพยพสัตว์ป่าตกค้างที่เขื่อนเชี่ยวหลาน / PHOTO สืบ นาคะเสถียร

“นอกจากสัตว์ป่าที่น่าสงสารเหล่านี้จะต้องประสบภัยพิบัติจากน้ำท่วมแล้ว ยังต้องเผชิญกับมนุษย์ที่เห็นแก่ได้บนความทุกข์ยากของสัตว์ป่า ที่คอยจ้องไล่ล่าสัตว์ป่าเหล่านั้นโดยไม่สำนึกถึงบาปกรรม เสียงปืนที่ดังต้องกังวานอยู่ในหุบเขาของอ่างเก็บน้ำคลองแสง มันฉุดกระชากความรู้สึกของคนที่กำลังช่วยชีวิตสัตว์ป่าจนต้องเข้าไปตรวจค้น หาคนใจบาปทุกครั้งไป วันหนึ่งพวกเราได้พบซากสมเสร็จที่ถูกชำแหละเอาเนื้อไปแล้วคงเหลือแต่คราบเลือดสีแดงสดอยู่บนพื้นดินริมฝั่งคลองแสง ประกอบกับส่วนของเครื่องในที่ถูกโยนทิ้งพร้อมกับอุ้งตีนอีกสี่ข้างที่ถูกโยนลงในน้ำคลองแสง”

ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูเสือโคร่ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน กล่าวถึงเขื่อนแม่วงก์ว่าเป็นมหันตภัยหนึ่งที่คุกคามต่อสถานภาพเสือโคร่ง เนื่องจาก “การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้นนอกจากจะเป็นการลดขนาดพื้นที่หากินของเสือโคร่ง ความหลากหลายทางชีวภาพที่พบในอุทยานยังอาจได้รับผลกระทบ หรือถึงขั้นสูญหายไปเนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยถูกรบกวน”

เสือโคร่งต้องการพื้นที่หากินต่อตัวประมาณ 200 – 300 ตารางกิโลเมตร ขณะที่ตัวเมียใช้พื้นที่ราว 100 ตารางกิโลเมตร การอยู่รอดของเสือโคร่งหนึ่งตัว ไม่ได้เป็นเพียงการอยู่รอดของเสือโคร่งเพียงหนึ่งตัว แต่หมายถึงการรักษาปริมาณของสัตว์กินพืชให้สมดุลในพื้นที่ที่เป็นถิ่นอาศัยของพวกมัน

 

เราจะเป็นเผ่าพันธุ์ผู้ทำลายหรือรักษา

เมื่อปี 2550 ทุกประเทศที่มีเสือในป่าธรรมชาติ (13 ประเทศ) ได้ทำปฏิญญาร่วมกันว่า ภายในปี 2565 จะต้องทำให้เสือโคร่งในป่าธรรมชาติเพิ่มปริมาณจากเดิมที่มีอยู่อีก 50% เราจะเลือกเป็นประเทศที่รักษาความมั่นสัญญา หรือเป็นประเทศที่ผิดคำมั่นสัญญา

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่าเสือโคร่งเป็นคุณค่าทางจิตวิญญาณของงานอนุรักษ์เพราะ “เสือที่อยู่ในป่าผืนนี้ก็คงเป็นเสือของทุกๆ คน เป็นความภูมิใจของคนทั้งประเทศที่เรามีนักอนุรักษ์ตั้งแต่พี่สืบ นาคะเสถียร ยิงตัวตายก็ทำให้ประเทศไทยรู้จักกับการอนุรักษ์ การอนุรักษ์ป่า เก็บพื้นที่บางส่วนไว้ให้สัตว์ป่าเขาอยู่ จนเราได้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอย่างห้วยขาแข้งอย่างทุ่งใหญ่นเรศวร จนเสือกระจายออกมา ดังนั้นเสือไม่ใช่ความสำคัญในตัวของมันเอง แต่มันคือความสำคัญทางจิตวิญญาณ มันเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าและเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการอนุรักษ์ของประเทศไทย”

 


 

อ้างอิง
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์วันนี้ ขอโอกาสธรรมชาติฟื้นฟู
‘โรเบิร์ต สไตเมทซ์’ แห่ง WWF ประเทศไทย พูดถึงวันที่เสือกำลังจะสูญพันธุ์
เสือโคร่งในประเทศไทย กับงานวิจัยเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์
เขื่อนแม่วงก์: มหันตภัยคุกคามความอยู่รอดของเสือโคร่ง
ธรรมชาติมาหานคร : เสือแห่งป่าแม่วงก์
บทความโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์