การช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างเขื่อนเชี่ยวหลาน

การช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างเขื่อนเชี่ยวหลาน

งานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการเขื่อนเชี่ยวหลานเกิด ขึ้นตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2521 เรื่อง แนวนโยบายในการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ และมติเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 ที่รัฐบาลได้อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน โดยมีเงื่อนไขให้ กฟผ. ต้องศึกษางานแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อนร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพยากร สัตว์ป่าของชาติ

ในปี พ.ศ. 2523 บริษัท Team Consulting Engineering Co.Ltd., ซึ่งทาง กฟผ. ว่าจ้างให้ทำการศึกษาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จ. สุราษฎร์ธานี ได้เสนอรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ โดยเฉพาะในเรื่องของสัตว์ป่าว่า พบสัตว์ป่าในพื้นที่โครงการจำนวน 122 ชนิด แบ่งออกเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 38 ชนิด นก 69 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 11 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 4 ชนิด

แต่จากการสำรวจนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อมโครงการเขื่อนเชี่ยวหลาน เฉพาะด้านสัตว์ป่าในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ขนาดพื้นที่ประมาณ 168 ตร.กม. หรือประมาณ 105,000 ไร่ (ที่ระดับ 110 ม.รทก.) ของเจ้าหน้าที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่ากรมป่าไม้ ปรากฏพบว่ามีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่รวมทั้งสิ้นประมาณ 237 ชนิด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 47 ชนิด นก 162 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 21 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 7 ชนิด ในจำนวนสัตว์ป่าดังกล่าวนี้ มีสัตว์ป่าชนิดที่หายากหรือมีอยู่น้อย 48 ชนิดหรือร้อยละ 20.3 และเป็นชนิดที่กำลังจะสูญพันธุ์ (Endangered species) จำนวน 16 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 6.75 อาทิ กระซู่ สมเสร็จ เลียงผา นกชนหิน นกแว่นสีน้ำตาล กบทูด เป็นต้น

โครงการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานย่อมทำให้สัตว์ป่าเหล่านี้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร ที่หลบภัย ถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะสัตว์ป่าชนิดที่มีถิ่นกำเนิดเฉพาะในบริเวณที่ลุ่มต่ำ (Lowland Forest) ไม่สามารถย้ายถิ่นออกไปอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีระดับสูงกว่า ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศและสังคมพืชแตกต่างออกไปอย่างเด่นชัด ในจำนวนสัตว์ป่าที่สำรวจพบ มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 25 ชนิด ที่ถูกจัดว่าเป็นพวกที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ในจำนวนนี้เป็นสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้จะสูญพันธุ์ 11 ชนิด และนกจำนวน 87 ชนิด มีอยู่ 2 ชนิดที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เหตุนี้จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่าง เก็บน้ำซึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อน

PHOTO สืบ นาคะเสถียร

งานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการเขื่อนเชี่ยวหลานได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2528 และสิ้นสุดโครงการในเดือนกันยายน 2530 รวมเป็นเวลาประมาณ 2 ปี 4 เดือน โดยกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ เป็นผู้รับผิดชอบ ในวงเงินงบประมาณ 1,855,000 บาท ซึ่งกฟผ.เป็นผู้สนับสนุน

ก่อนที่จะมีการปิดกั้นอุโมงค์เพื่อเก็บกักน้ำ เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือสัตว์ป่าได้ทำการสำรวจค้นหาสัตว์ป่าในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีการทำไม้ออกและถางเผาพื้นที่บางส่วนเพื่อกำจัดเศษไม้ปลายไม้เพื่อป้องกันการเน่าเสียของน้ำในอ่าง ได้ช่วยเหลือด้วยการไล่ต้อนและดักจับเพื่อนำไปปล่อยในป่านอกพื้นที่อ่างเก็บน้ำแล้วส่วนหนึ่ง และเมื่อกฟผ.ทำการปิดอุโมงค์เพื่อเก็บกักน้ำในวันที่ 3 เมษายน 2529 เป็นต้นมา จนถึงเดือนสิงหาคม 2529 ระดับน้ำในคลองแสงได้เพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 13.54 ม.รทก. จนถึงระดับ 66.96 ม.รทก. ทำให้เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่ซึ่งแต่เดิมเป็นเนินเขาและภูเขาบางแห่งถูกน้ำตัดขาดออกกลายเป็นเกาะต่างๆ จำนวนมาก จำนวนเกาะได้เพิ่มมากขึ้นเมื่อระดับน้ำสูงขึ้นตั้งแต่ 1 เกาะที่ระดับ 40 ม.รทก. จนถึง 126 เกาะที่ระดับเก็บกักสูงสุดคือระดับ 95 ม.รทก. ในปัจจุบัน (ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2529) มีเกาะที่กำลังจมน้ำ จำนวน 37 เกาะ เกาะที่มีความสูงไม่มากนักจะถูกน้ำท่วมจมไปก่อนและเกาะอื่นๆ ก็จะค่อยๆ จมหายไป

สัตว์ป่าซึ่งเคยอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวจะหนีน้ำออกนอกบริเวณที่ถูกน้ำท่วมทุกทิศทุกทาง โดยไม่รู้ว่าที่ใดจะปลอดภัย จึงทำให้มีสัตว์ป่าติดค้างอยู่ตามเกาะต่างๆ ก่อนที่จะจมหายลงไปใต้น้ำ สัตว์ป่าบางชนิดที่เคยมีถิ่นหากินอยู่ทั้งสองฝั่งคลองแสงและเคยข้ามน้ำไปมาได้ในครั้งที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อนจะหลงทาง เนื่องจากสภาพพื้นที่เปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน ทำให้ไม่สามารถข้ามไปยังอีกฝั่งได้ก็จะติดอยู่ตามต้นไม้ที่กำลังจะจมอยู่กลางอ่างเก็บน้ำ

PHOTO สืบ นาคะเสถียร

สำหรับสัตว์ที่มีถิ่นหากินไม่กว้างขวางนัก ไม่สามารถหนีน้ำเป็นระยะทางไกลๆ ได้ ก็จะพากันมารวมกลุ่มอยู่ตามยอดเกาะที่กำลังจะจมน้ำ สัตว์ป่าเหล่านี้ต้องอดอาหารและแก่งแย่งที่อยู่อาศัยที่มีอยู่อย่างจำกัด และเมื่อระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกจนท่วมเกาะ สัตว์เหล่านั้นก็จะต้องตายในที่สุดถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือทันเวลา สัตว์ป่าที่พบบางตัวอดอาหารจนผอมโซ บางตัวต้องตายกลายเป็นซากห้อยอยู่ตามกิ่งต้นไม้กลางน้ำที่ถูกท่วมจนต้องทิ้งใบ ไม่มีร่มเงาพอให้สัตว์ได้อาศัยหลบซ่อนได้อีกต่อไป

นอกจากสัตว์ป่าที่น่าสงสารเหล่านี้จะต้องประสบภัยพิบัติจากน้ำท่วมแล้ว ยังต้องเผชิญกับมนุษย์ที่เห็นแก่ได้บนความทุกข์ยากของสัตว์ป่าที่คอยจ้องไล่ล่าสัตว์ป่าเหล่านั้นโดยไม่สำนึกถึงบาปกรรม เสียงปืนที่ดังก้องกังวานอยู่ในหุบเขาของอ่างเก็บน้ำคลองแสง มันฉุดกระชากความรู้สึกของคนที่กำลังช่วยชีวิตสัตว์ป่าจนต้องเข้าไปตรวจค้นหาคนใจบาปทุกครั้งไป

วันหนึ่งพวกเราได้พบซากสมเสร็จที่ถูกชำแหละเอาเนื้อไปแล้วคงเหลือแต่คราบเลือดสีแดงสดอยู่บนพื้นดินริมฝั่งคลองแสง ประกอบกับส่วนของเครื่องในที่ถูกโยนทิ้งพร้อมกับอุ้งตีนอีกสี่ข้าง ที่ถูกโยนลงในน้ำคลองแสง การกระทำดังกล่าวมันเศร้าใจจนอยากจะให้เจ้าคนใจบาปหยาบช้าที่ฆ่าได้แม้กระทั่งสัตว์ป่าที่ไม่มีทางต่อสู้ถูกศาลตัดสินให้ตายตกไปตามกันเสียเหลือเกิน พวกเราทุกคนยืนนิ่งและปล่อยให้ความคิดล่องลอยไปตามความนึกคิดของแต่ละคน กรรมนี้จะต้องได้รับการชดใช้

หลังจากไปโรงพักเพื่อแจ้งความและขอหมายค้น พวกเราก็ออกค้นเรือทุกลำในคลองแสง หวังว่าจะได้พบซากสมเสร็จตัวนั้น จนรุ่งเช้าของวันใหม่ก็ยังไม่พบ ไม่เป็นไรเราจะตามให้ถึงที่สุด เราไม่เคยย่อท้อที่จะทำการค้นเพื่อหาหลักฐานสักอย่าง… อะไรก็ได้… ที่จะเล่นงานพวกใจทรามเหล่านี้… ใต้ท้องเรือลำนั้นก็เหมือนกับทุกลำที่ถูกค้น มืดและสกปรก เราเดินดูจนทั่ว ฉายไฟกราด แต่แค่นั้นไม่พอเรายังใช้มือล้วงลงไปควานหาหลักฐานในทุกแห่งที่น่าสงสัย ไม่สนใจว่ามือจะเลอะเปรอะเปื้อนหรือความสกปรกจะน่าขยะแขยงเพียงใด แล้วเราก็พบไส้สมเสร็จที่ยาวกว่าหนึ่งเมตรหลงอยู่ใต้คราบน้ำมันในท้องเรือ มันฟ้องตัวเองถึงเจ้าของเรือที่เราตามมาค้นหลักฐานต่อที่ท่าเรือของเขื่อน ในที่สุดมนุษย์ใจโหดต้องชดใช้กรรมที่ตัวเองก่อกับสัตว์ป่าที่น่าสงสาร

ในระยะ 2 ปี 4 เดือนของการทำงาน เจ้าหน้าที่จากกองอนุรักษ์สัตว์ป่าร่วมด้วยแรงงานท้องถิ่นได้ดำเนินการช่วยเหลือสัตว์ป่าในพื้นที่ล่อแหลมในอ่างเก็บน้ำ โดยใช้วิธีไล่ต้อน วางกรงดัก และตระเวนหาสัตว์ที่ติดอยู่ตามขอนไม้ ต้นไม้ และตามเกาะต่างๆ ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งกลางวัน และกลางคืน ผลปรากฏว่าสามารถช่วยเหลือสัตว์ป่าได้จำนวน 116 ชนิด 1,364 ตัว แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 37 ชนิด 586 ตัว นก 30 ชนิด 58 ตัว สัตว์เลื้อยคลาน 49 ชนิด 720 ตัว โดยสัตว์เหล่านี้มีอัตราการตายในระหว่างการช่วยเหลือร้อยละ 3.0

PHOTO สืบ นาคะเสถียร

จากผลการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลานปรากฏว่า มีสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในกลุ่มน้ำคลองแสงจำนวนไม่น้อยกว่า 338 ชนิด ประกอบด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 61 ชนิด นก 193 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 62 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 20 ชนิด จะเห็นได้ว่าสัตว์ป่าที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่มีอยู่มากกว่าจำนวนที่สำรวจพบในครั้งแรกเกือบ 3 เท่าตัว สัตว์ป่าที่พบทั้งหมด 338 ชนิดนี้ ร้อยละ 71.3 ได้รับผลกระทบจาการที่ถิ่นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และแหล่งที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ถูกทำลายไป สัตว์ป่าขนาดใหญ่จำพวกช้าง กระทิง วัวแดง สมเสร็จ กระซู่ และสัตว์ที่จำเป็นต้องอาศัยแหล่งหากินเป็นบริเวณกว้างตลอดทั้งปีต้องถูกจำกัดที่อยู่อาศัยและหลบหากินอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งของป่า ประกอบกับบริเวณที่ลุ่มที่อุดมสมบูรณ์ถูกน้ำท่วม ย่อมทำให้จำนวนของสัตว์ป่าลดลงตามความสามารถของพื้นที่ที่จะรับได้ สัตว์ป่าที่มีถิ่นที่อาศัยเฉพาะเจาะจงไม่สามารถย้ายถิ่นไปอาศัยอยู่ในแหล่งอื่นได้ก็ต้องต่อสู้กับเจ้าถิ่นเดิมที่น้ำไม่ท่วมพื้นที่ ทำให้เกิดการแก่งแย่งที่อยู่อาศัยในสัตว์ชนิดเดียวกัน

การช่วยเหลือสัตว์ป่าออกจากพื้นที่น้ำท่วมเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่แหล่งที่อยู่อาศัยได้กลายสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ โครงการช่วยเหลือสัตว์ป่านี้นับเป็นโครงการแรกที่มีการดำเนินงานขึ้นในประเทศไทย นับแต่ได้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ในรูปของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งการดำเนินงานยังประสบปัญหาและอุปสรรค์ต่างๆ มากมาย เช่น พื้นที่อ่างเก็บน้ำมีขนาดกว้างใหญ่ สัตว์ป่าบางชนิดไม่สามารถเคลื่อนย้ายหนีน้ำไปยังแผ่นดินใหญ่ได้ การมีราษฎรเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมากทำให้ยากต่อการควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายป่าไม้ ขาดอุปกรณ์สื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติงาน ขาดสถานที่สำหรับพักฟื้นที่อ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีจำนวนถึง 162 เกาะ สัตว์ป่านานาชนิดยังคงมีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่ นกชนิดที่ตกค้างอยู่ตามเกาะขาดการติดต่อกับสัตว์ป่าชนิดเดียวกันบนแผ่นดินใหญ่โดยสิ้นเชิง ซึ่งตามหลักการเบื้องต้นของการจัดการสัตว์ป่าแล้ว พื้นที่ที่ถูกทำให้แบ่งแยกออกจากกันนับได้ว่าล่อแหลมต่อการหมดไปของสัตว์ป่าในพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีขนาดเล็ก

จากแผนการแก้ไขผลกระทบต่อสัตว์ป่าอันเนื่องมาจากการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ยังไม่ได้มีการติดตามผลที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าที่ได้รับการช่วยเหลือนำไปปล่อยนอกเขตอ่างเก็บน้ำ จึงมิอาจกล่าวได้ว่าสัตว์ป่าที่ได้รับการช่วยเหลือเหล่านี้จะสามารถปรับตัวให้มีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ ดังนั้นการแก้ไขผลกระทบดังที่ได้ปฏิบัติมาแล้ว จึงเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ลุล่วงไปในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น ทั้งยังไม่อาจนำมาประเมินผลได้ผลเสียกับสิ่งที่สูญเสียไปจากากรสร้างเขื่อนด้วย ดังเหตุผลดังต่อไปนี้

PHOTO สืบ นาคะเสถียร

1. แหล่งรวมพันธุกรรมของพืชและสัตว์ป่าจำนวนมากที่มีถิ่นกำเนิดเฉพาะในบริเวณที่ลุ่มต่ำริมคลองแสงต้องสูญเสียไป นับเป็นความสูญเสียอย่างมหาศาลต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของมนุษยชาติ ที่ยังต้องอาศัยพันธุ์พืชป่าและพันธุ์สัตว์ป่ามาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจเพื่อให้รอดพ้นจากความหายนะจากการระบาดของโรคและแมลง ซึ่งมนุษย์มิอาจแก้ไขได้โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว

2. ที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าถูกน้ำท่วม สัตว์ป่าที่รอดชีวิตจะต้องปรับจำนวนชนิดและปริมาณของแต่ละชนิดให้สมดุลกับสภาพของพื้นที่และปริมาณอาหารที่เหลืออยู่นอกเขตอ่างเก็บน้ำ ทำให้ปริมาณสัตว์ป่าที่มีอยู่เดิมต้องลดจำนวนลง

3. สัตว์ป่าจำนวน 235 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 71.3 ของจำนวนสัตว์ป่าทั้งหมดที่สำรวจพบ 338 ชนิด ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ในจำนวนสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดมีสัตว์ป่าที่ได้รับการกำหนดสถานภาพว่ากำลังจะสูญพันธุ์อยู่ด้วย 14 ชนิด ได้แก่ ช้าง สมเสร็จ และกระซู่ เป็นต้น ไม่รวมถึงหมาใน และสัตว์ป่าที่กำลังถูกคุกคามจำนวน 32 ชนิด ไม่รวมนากใหญ่จมูกขนและเสือปลา

4. ประชากรของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง สมเสร็จ เสือโคร่ง และเสือดาว ที่ต้องอาศัยถิ่นหากินเป็นบริเวณกว้าง โดยมีถิ่นหากินตามฤดูกาลครอบคลุมป่าคลองแสงทั้งสองฝั่งต้องถูกตัดขาดออกจากกัน ปริมาณของสัตว์ป่าที่เคยมีอยู่อย่างชุกชุมจะต้องถูกจำกัดไปตามขนาดและปริมาณของแหล่งอาหารที่เหลืออยู่ โอกาสในการปรับปรุงพันธุ์ตามธรรมชาติโดยการผสมข้ามระหว่างกลุ่มของสัตว์ชนิดเดียวกันที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ต่อเนื่องต้องถูกจำกัดให้อยู่ในขอบเขตของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ สาเหตุดังกล่าวจะมีผลต่อคุณภาพทางกรรมพันธุ์ของสัตว์ป่าเหล่านี้ในอนาคต

5. สัตว์ป่าที่ได้รับการช่วยเหลือออกจากเกาะต่างๆ ในบริเวณอ่างเก็บน้ำเป็นสัตว์ป่าที่มีถิ่นหากินคาบเกี่ยวระหว่างบริเวณที่ลุ่ม และพื้นที่นอกเขตอ่างเก็บน้ำเท่านั้น ส่วนสัตว์ป่าที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะในบริเวณที่ลุ่มต่ำไม่สามารถช่วยเหลือหรือแก้ไขได้ สัตว์ป่าที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งสิ้น 116 ชนิด 1,364 ตัว ออกจากพื้นที่เกาะ 2.55 กม.2 (เมื่อระดับน้ำทรงอยู่ที่ระดับ 78.00 ม.รทก. จนสิ้นสุดโครงการฯ) คิดเป็นร้อยละ 15.4 ของพื้นที่เกาะทั้งหมดรวม 16.61 กม.2 สัตว์ป่าที่ได้รับการช่วยเหลือเหล่านี้จะต้องไปต่อสู้เพื่อแก่งแย่งที่อยู่ อาศัยและแหล่งอาหารกับสัตว์ป่าที่มีอยู่เดิมในพื้นที่นอกเขตอ่างเก็บน้ำ ผลที่จะเกิดกับสัตว์ป่าเหล่านี้ยังมิได้มีการติดตามศึกษา (ไม่ได้กำหนดไว้ในแผนงานเดิม)

6. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งหมดมีอยู่ส่วนหนึ่งที่เสียชีวิตไประหว่างการช่วยเหลือและระหว่างการรักษาพยาบาล ได้แก่ เลียงผา 8 ตัว กวางป่า 1 ตัว เก้ง 2 ตัว กระจงควาย 6 ตัว กระจงเล็ก 13 ตัว ชะมดเช็ด 1 ตัว กระรอกบินแก้มสีแดง 1 ตัว ค่างแว่น 8 ตัว และกระรอกปลายหางดำ 1 ตัว เนื่องจากสาเหตุที่ต้องอดอาหารขณะที่ติดเกาะอยู่และบางตัวมีร่างกายทรุดโทรม เนื่องจากต้องผจญกับสภาวะของอากาศที่ร้อนจัดในเวลากลางวันและเปียกชื้นในเวลาที่ฝนตก ประกอบกับสถานที่หลบภัยของสัตว์ป่ามีอยู่อย่างจำกัด สัตว์ป่าไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ทำให้ไม่สามารถรักษาพยาบาลให้ฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้ นอกจากนี้สัตว์ป่าบางตัวยังถูกล่าโดยมนุษย์หรือสัตว์ผู้ล่าในขณะที่ติดค้างอยู่บนเกาะหรือขณะหนีน้ำออกจากเกาะ ซากของสัตว์ป่าที่ตายปรากฏให้เห็นอยู่ตามเกาะต่างๆ และในขณะที่ลอยน้ำอยู่สัตว์ป่าส่วนใหญ่ที่ตายจะไม่ปรากฏให้เห็น เนื่องจากถูกกินเป็นอาหารหรือถูกกระแสน้ำหรือลมพัดพาเข้าไปติดตามกลุ่มต้นไม้ที่รกทึบบริเวณเกาะหรือริมฝั่งของอ่างเก็บน้ำ

7. วิธีการช่วยเหลือสัตว์ป่าเท่าที่ได้ปฏิบัติไปแล้วมิสามารถนำมาประเมินผลได้ว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากขาดข้อมูลที่ถูกต้องในการวิเคราะห์ผลกระทบก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนและขาดการติดตามผลการปฏิบัติงานในระยะยาว

8. การแก้ไขผลกระทบต่อสัตว์ป่าเป็นงานที่มิอาจเป็นไปได้ในเชิงของการปฏิบัติ เพราะผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นกระบวนการของการทำลายแหล่งพันธุกรรม ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้

 


 

เรื่อง / ภาพ สืบ นาคะเสถียร
เรียบเรียงจาก รายงานการประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนเชี่ยวหลาน เขื่อนรัชชประภา ธันวาคม พ.ศ.2530 จังหวัดสุราษฎธานี