รู้จัก อรนภัส บุญอนันตพัฒน์ เจ้าของแบรนด์  ‘นิรันดร์ (Niran)’ พวงหรีดรักษ์โลก ที่ไม่ได้ลดแค่ขยะ แต่ยังส่งต่อความสุขอย่างไม่มีสิ้นสุด  

รู้จัก อรนภัส บุญอนันตพัฒน์ เจ้าของแบรนด์  ‘นิรันดร์ (Niran)’ พวงหรีดรักษ์โลก ที่ไม่ได้ลดแค่ขยะ แต่ยังส่งต่อความสุขอย่างไม่มีสิ้นสุด  

เดิมทีพวงหรีดที่เรามอบให้กับผู้วายชนม์ เพื่อแสดงการระลึกถึงความทรงจำดี ๆ ที่เคยมีร่วมกันนั้น มักจะเป็นดอกไม้สดมากมายหลายชนิด แต่เมื่อเวลาผ่านไปดอกไม้เหล่านั้นก็ต้องโรยราร่วงหลนลงไปไม่เกิดประโยชน์ใดใด 

ดอกไม้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาขยะล้นเมือง ที่เป็นต้นเหตุของมลพิษมากมาย เนื่องจากพวกมันไม่สามารถนำไปใช้ต่อหรือรีไซเคิลได้ หากถูกกทิ้งมันก็แค่ต้องรอวันย่อยสลายเองตามธรรมชาติเท่านั้น 

จะเป็นอย่างไร… หากพวงหรีดที่มอบให้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยที่ไม่ถูกทิ้งให้เป็นขยะต่อโลก  

วันนี้เรามีโอกาสมาพูดคุยกับ คุณ เอิร์น-อรนภัส บุญอนันตพัฒน์ เจ้าของแบรนด์ นิรันดร์ (Niran) ผู้เปลี่ยนผ้าดิบธรรมดาให้กลายเป็นพวงหรีด สวยด้วย รักษ์โลกด้วย ไม่สร้างขยะ และได้ส่งต่อความทรงจำให้กับคนอื่นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด 

เอิร์น-อรนภัส บุญอนันตพัฒน์

จุดเริ่มต้นของ นิรันดร์ 

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเดิมทีที่บ้านเราทำโรงงานทอผ้าอยู่แล้ว แต่ธุรกิจทอผ้ามันเป็นธุรกิจประเภท Sunset Industry เนื่องจากประเทศไทยแทบไม่ได้ทำอุตสาหกรรมแนวนี้แล้ว ประกอบกับตอนนี้มีคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นด้วย เราก็เลยอยากทำอะไรที่มันสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจเราเดิมได้  

อีกอย่างตอนช่วงโควิดเรามีโอกาสได้ทำเพจห่มบุญ เป็นเพจขายถุงใส่ศพและผ้าสำหรับห่อศพ ตอนนั้นเรามีโอกาสเอาไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลและมูลนิธิปอเต็กตึ๊งด้วยค่ะ เรามองว่าหน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยงานด่านหน้า ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงเยอะมาก ซึ่งผ้าของเราเป็นแบบเคลือบกันน้ำกันแบคทีเรีย ทำให้เขาสามารถนำผ้าเราไปห่อศพได้ 

จากการทำเพจห่มบุญมันก็ทำให้เราได้รู้ว่าผ้าห่อศพมันเป็นที่ต้องการมาก ๆ บางหน่วยงานเขาก็ไม่ได้มีงบมากพอที่จะสั่งซื้อผ้าห่อศพมาใช้ ทำให้ต้องไปขอรับบริจาคจากหน่วยงานที่ใหญ่กว่าแทน อย่างเช่น มูลนิธิปอเต็กตึ๊งเองก็ต้องไปขอผ้าห่อศพมาจากโรงพยาบาลนิติเวช 

ธุรกิจทอผ้ารวมกับเพจห่มบุญเลยกลายมาเป็นนิรันดร์ 

ใช่ค่ะ คือเรามองว่ามีอีกหลายคนคนไม่ค่อยรู้ว่าผ้าห่อศพเป็นที่ต้องการขนาดไหน เราเลยเกิดไอเดียว่า ผ้าห่อศพมันก็คือผ้า ซึ่งผ้ามันสามารถทำเป็นสิ่งสวยงามได้ นั่นจึงทำให้เราเอามันมาทำเป็นพวงหรีดค่ะ 

ทำไมต้องเป็นพวงหรีดด้วย

เรามองว่าพวงหรีดที่เป็นดอกไม้สุดท้ายมันก็กลายเป็นขยะ ใช้งานอะไรต่อไม่ได้ จะเอามารีไซเคิลก็ทำไม่ได้ อย่างบางวัดเดี๋ยวนี้เขาก็ไม่ค่อยรับกันแล้วเพราะมันเป็นขยะวัด 

เราเลยประติดประต่อธุรกิจที่บ้าน ความต้องการผ้าห่อศพ และปัญหาขยะจากพวงหรีด มาเป็นพวงหรีดผ้าห่อศพอย่างที่เห็นกันค่ะ ต้องบอกก่อนว่าพวงหรีดของเราก็มีส่วนที่เป็นขยะเหมือนกันแต่ก็น้อย มีแค่ป้ายและหวายเท่านั้นเอง แต่หวายก็ทำมาจากวัสดุธรรมชาติย่อยสลายเองได้ หรือจะเอาไปทำอย่างอื่นต่อก็ได้ ทำให้เราอยากมาทำตรงนี้ 

“ทุกคนไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเลย ยังทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เหมือนเดิม แต่ไม่สร้างขยะมากขึ้นหรือสร้างให้น้อยที่สุด”

กว่าจะออกมาเป็น นิรันดร์ ใช้เวลานานไหม  

ถ้านับตั้งแต่วันที่ริเริ่มไอเดียจริง ๆ จัง ๆ เลย ก็ประมาณครึ่งปีค่ะ 

ชอบคำว่า ‘นิรันดร์’ มากเลย มันมากจากอะไร 

ความหมายก็คือล้อไปกับคำว่านิรันดร์เลย โดยคำว่า นิรันดร์ มันมีความสุภาพ มีความสงบ อีกอย่างหนึ่งคือเราอยากให้มันดูมีความ ‘ตลอดไป’ หรือเป็นการส่งต่อแบบไม่มีที่สิ้นสุดค่ะ  

ตอนนี้มีพวงหรีดกี่แบบ 

เรามีพวงหรีด 2 แบบใหญ่ ๆ แบ่งตามจำนวนผ้าที่ใช้ แบบแรกมี 4 แบบให้เลือก โดยจะใช้ผ้าดิบ 5 ผืน ส่วนอีกแบบจะทำมาจากผ้าทั้งหมด 10 ผืน ซึ่งความแตกต่างก็คือจำนวนผ้าในแต่ละแบบ ส่วนเรื่องของราคาก็ตามจำนวนผ้าที่ใช้เลยค่ะ จำนวนผ้าที่ต่างกันมันก็จะได้ดีไซน์ผ้าที่ต่างกันด้วย 

ตั้งแต่เปิดตัว กระแสเป็นอย่างไรบ้าง 

เรียกได้ว่าเร็วเกินตั้งตัวด้วยซ้ำ มันเป็นกระแสจริง ๆ จัง ๆ เลยก็คือเมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งเราเองก็พึ่งเปิดแบรนด์มาได้แค่ 1 เดือน มันเป็นกระแสที่ดีจนน่าตกใจเลยค่ะ 

จากกระแสตอบเราตรงนี้ทำให้เราเห็นว่าจริง ๆ แล้ว คนไทยมีใจในการลดขยะนะคะ แต่หลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องยุ่งยาก เรื่องไกลตัว อย่างที่บอกไปเราเข้ามาทำตรงนี้เราไม่ได้ทำอะไรให้มันยุ่งยากขึ้น ทุกคนก็ใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ ซื้อพวงหรีดกันปกติ แต่แค่เปลี่ยนร้านที่ซื้อเท่านั้นเอง

ตอนเริ่มทำมีความท้าทายอะไรบ้าง 

ความท้าทายอย่างแรกที่เจอเลยนะคะ คือเราจะทำพวงหรีดออกมายังไงดีให้มันสามารถแยกออกมาเป็นผืน ๆ ได้ โดยที่จะต้องไม่มีการตัดหรือเย็บ เพราะมันจะทำให้ผ้าใช้งานต่อไม่ได้ จากความท้าทายของเราตรงนั้น เราเลยได้ไอเดียในการใช้หมุดอย่างเดียว แค่ดึงหมุดออก ผ้าก็แยกจากกัน แล้วสามารถนำไปใช้หรือบริจาคต่อได้ทันที 

ซึ่งเราใช้เวลากว่า 3-4 เดือนเลย กว่าที่เราจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เพราะเราก็กังวลอีกว่า จะทำพวงหรีดออกมาเป็นแบบไหนดี ไม่ให้มันหนักเกินไป เบาเกินไป อีกอย่างต้องให้ดูสวย เอาไปวางคู่กับพวงหรีดอื่น ๆ ได้ 

จริง ๆ การทำพวงหรีดมันก็ยากนะ เพราะเราต้องคิดตลอดว่าเราจะตีตลาดยังไงดี ต้องเข้าใจว่าพวงหรีดไม่ใช่ของขายง่าย ๆ เหมือนครีมหรือขนมที่เห็นปุ๊ปก็ซื้อได้เลย เราต้องอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่า มันมีที่มาที่ไปอย่างไร หากคุณซื้อของเรามันจะความแตกต่างจากพวงหรีดอื่น ๆ อย่างไร  

แล้วในตอนนี้ล่ะ มีความท้าทายอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง 

ตอนนี้หลัก ๆ เลยคือ พอแบรนด์ของเราเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น ทำให้หลายคนเริ่มพยายามลอกเลียนแบบเรา ตอนนี้เราดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว เพราะเรากังวลใจมาก ๆ กับการคัดลอกผลงานค่ะ

แต่ถ้าพูดถึงกับชุมชนเล็ก ๆ ที่เขาทำอะไรแบบนี้ เราเองก็กำลังหาวิธีอยู่นะ ว่าในอนาคตเราจะสามารถเข้าไปช่วยเหลืออะไรกับเขาได้บ้าง 

ในฐานะนักธุรกิจ คุณเอิร์นมีมุมมองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง 

ถ้าพูดกันเรื่องสิ่งแวดล้อม ตัวเอิร์นเองค่อนข้างสนใจพอสมควรเลยค่ะ โดยเฉพาะในเรื่องของ ความยั่งยืน คือถ้าเอิร์นทำมันได้ เปลี่ยนแปลงมันได้ ตั้งแต่จุดเล็ก ๆ ไปจนถึงระดับบริษัทเลยค่ะ เราก็จะค่อย ๆ ทำกันไป 

แต่การที่เราจะหันมาทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อม เราก็ควรมองความเป็นจริงด้วยเช่นกัน ว่าตัวเราเองหรือตัวบริษัทเองมีกำลังหรือความสามารถในการทำมันได้หรือไม่ ได้มากน้อยแค่ไหน คือเอิร์นเคยเจอบริษัทที่ทำ green washing เยอะ แบบทำเป็นพูดว่าทำ แต่สุดท้ายเขาก็ทำเพื่อโปรโมทให้ตัวเอง มากกว่าทำเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมจริง ๆ เอิร์นว่ามันไม่โอเคเท่าไหร่ 

“จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องทำให้มันยิ่งใหญ่ แม้สิ่งที่เราทำมันจะเล็ก แต่ถ้าเราตั้งใจทำมันจริง ๆ เพื่อช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม มันก็ดีกว่า” 

เราจะทำในสิ่งเล็ก ๆ ที่เราช่วยทำได้ ถ้าอะไรที่เรายังทำไม่ได้ในจุดนี้ ไม่ว่าจะด้วยงบหรืออะไรก็ตาม เราก็จะยังไม่ทำค่ะ ตอนนี้เราก็ทำให้ดีที่สุด เอิร์นอยากให้หลายคนคิดแบบนี้มากกว่า

ช่วยให้คำนิยามคำว่า “ความยั่งยืน (sustainable)” สักนิดหนึ่งได้ไหม 

เอิร์นนิยามคำว่า “ยั่งยืน” เป็นสิ่งที่เราทำอะไรก็ตามให้มันกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ส่วนทรัพยากรที่ใช้ก็ต้องเป็นทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และก็ต้องใช้มันให้คุ้มค่าที่สุด 

แล้วจากการทำธุรกิจเกี่ยวกับผ้า มันมีส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบ้างหรือเปล่า

มีค่ะ อย่างตอนแรกที่ออกตัวต้นแบบพวงหรีด มีแต่คนถามว่าทำไมมันไม่ขาวไปเลย มันจะสวยและน่าใช้กว่าหรือเปล่า ดีกว่าเป็นสีขาวเหลืองแบบที่เป็นอยู่ 

ในมุมมองเอิร์น… เอิร์นมองว่าถ้าจะใช้ผ้าสีขาว เราก็ต้องเอาผ้าไปฟอก การเอาผ้าไปฟอกต้องใช้สารเคมีอีกมากมาย ซึ่งกระบวนการฟอกสี มันเหมือนกับที่เราฟอกสีผมค่ะ มันต้องใช้สารเคมีมากมายเพื่อที่จะฟอกให้มันขาว แท้จริงแล้วตัวฝ้ายมันไม่ได้เป็นสีขาวมาตั้งแต่แรก ถ้าเราเอาไปฟอกก็จะก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย อีกอย่างสีขาวเหลืองของผ้าดิบมันก็สวยในตัวของมันอยู่แล้ว โดยที่เราไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรมัน

ส่วนในอนาคตที่เรามีแพลนจะเคลือบผ้าดิบให้สามารถกันน้ำกันแบคทีเรียได้ เราก็จำเป็นต้องทำจริง ๆ ถึงแม้มันจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่มันก็มีเหตุผล มันช่วยคนให้ที่มีชีวิตอยู่ไม่ต้องสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างผู้เสียชีวิตโดยตรง อีกอย่างมันเป็นเหมือนการให้เกียรติผู้เสียชีวิตไปในตัวด้วย ถ้ามันสร้างผลกระทบบ้าง แต่มันช่วยเหลือคนได้ เอิร์นว่ามันก็ควรทำนะคะ หลังจากนั้นเราก็อาจไปช่วยเหลือสังคมหรือสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น ๆ เพื่อเป็นการทดแทนสิ่งที่เราทำไปแทน

พอจะทราบมาว่าคุณเอิร์นมีแคมเปญที่จะทำร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ช่วยเล่าให้ฟังคร่าว ๆ หน่อยได้ไหม 

อย่างที่บอกว่าเอิร์นเป็นคนชอบทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เอิร์นก็อยากให้ลูกค้าที่ซื้อพวงหรีดจากนิรันดร์ได้มากกว่าแค่ผ้าห่อศพ แต่สามารถช่วยสิ่งแวดล้อมโดยตรงได้ เพราะทางบริษัทก็ไม่สามารถลงไปทำได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว เราเลยเริ่มมองหาพาร์ทเนอร์ตรงนี้ โดยชื่อแรกที่นึกถึงเลยคือ คุณสืบ สืบนาคะเสถียร ซึ่งชื่อของคุณสืบก็ดังก้องและเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว เลยติดต่อทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรไป 

พูดกันตามตรงเลยนะคะ ตอนแรกเราก็ไม่รู้จะเข้าไปซัพพอร์ตยังไงดี เพราะเอิร์นเองก็อยากให้มันเป็นรูปธรรมมากกว่าแค่การบริจาคเงินให้ เอิร์นอยากให้ลูกค้าที่ซื้อของเราสามารถจับต้องสิ่งที่พวกเขาทำไปได้ ว่าการซื้อของเรานั้นมันทำประโยชน์จริง ๆ  และอยากให้พวกเขาภูมิใจว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน 

คุยไปคุยมาก็รู้ว่าทางมูลนิธิมีในส่วนของกองทุนผู้พิทักษ์ป่า ตรงนี้เอิร์นเคยได้ยินมาว่าผู้พิทักษ์ป่าเป็นตำแหน่งที่ได้ผลตอบแทนน้อย… มันน้อยจนน่าใจหาย แต่เมื่อพูดถึงความเสี่ยงที่ได้รับ กลับไม่คุ้มค่ากับเงินที่ได้ อีกทั้งทราบมาว่ายูนิฟอร์มของพวกเขาก็ต้องออกเงินตัดเอง ซึ่งเงินที่ตัดยูนิฟอร์มก็เสียไปกว่า 1 ใน 8 ส่วนของเงินเดือนทั้งหมดที่ได้รับ เราว่ามันไม่โอเคเลยค่ะ 

ด้วยเหตุนี้เราก็เลยดูในเรื่องของยูนิฟอร์มของผู้พิทักษ์ป่า แล้วก็อีกส่วนจะดูในเรื่องของทุนการศึกษาที่ให้แก่บุตรของผู้พิทักษ์ป่าด้วย ตรงนี้เราอาจจะขออนุญาตในการช่วยสมทบทุนในการช่วยเหลือ โดยเราจะบอกลูกค้าที่ซื้อไปเลยว่า พวงหรีด 1 พวง เราจะเอารายได้ออกไปช่วยเหลือตรงนี้กี่บาท สาเหตุที่เอิร์นเลือกที่จะช่วยในเรื่องของทุนการศึกษาก่อน เนื่องจากการจะช่วยในส่วนของยูนิฟอร์มไปเลยตรง ๆ จำเป็นต้องใช้กำลังทรัพย์ที่ค่อนข้างเยอะ แต่ตอนนี้เราเป็นแค่ start-up เล็ก ๆ เราจึงอยากทำในสิ่งที่เราทำได้ไปก่อน หลังจากนี้ถ้าผลตอบรับโอเค เราก็อาจเข้าไปช่วยเหลือกองทุนอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย อย่าง กองทุนเพื่อสัตว์ป่า เป็นต้นค่ะ

“เราอยากให้คนที่ซื้อนิรันดร์ สามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบวงจรจริง ๆ” 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ