[ก้าวสู่ปีที่ 31] ป่าสงวนแห่งชาติ

[ก้าวสู่ปีที่ 31] ป่าสงวนแห่งชาติ

หลังจากประชุมเจ้าหน้าที่ภาคสนามป่าตะวันตก ประจำพื้นที่กาญจนบุรีเสร็จสิ้นลง นริศ บ้านเนิน เจ้าหน้าที่ภาคสนามประจำพื้นที่กาญจนบุรีด้านตะวันออก พาผมเดินทางบนเส้นทางจากอำเภอหนองปรือมายังเส้นทางไปสู่ถ้ำธารลอด ที่ต้องผ่านชุมชนและพื้นที่ไร่อ้อย บนทางเลียบเนินเขา ผ่านบ้านกะพร้อย บ้านวังยาง บ้านโป่งช้าง และผ่านหน่วยป้องกันรักษาป่าที่เขียนไว้ว่า กจ. เดาได้ว่าย่อจากชื่อจังหวัด กาญจนบุรี  พอเลยหน่วยไปหน่อยหนึ่ง นริศ ก็เริ่มอธิบายสภาพปัญหาของป่ากลางไร่สองฝั่งถนนให้ผมฟัง

ป่าแถวนี้กำลังแย่ครับพี่นริศเร่งเครื่องยนต์เพื่อขึ้นเนิน และเพิ่มเสียงพูดของตัวเองแข่งกับเสียงเครื่องยนต์

หน่วยป้องกันตรงนี้เอาไม่อยู่ครับ พื้นที่กว้าง มีหน่วยอยู่หน่วยเดียว ขอบเขตก็ไม่รู้อยู่ตรงไหน ใครรับผิดชอบบ้างมันก็ไม่ประกาศชัดเจนเหมือนอุทยานธารลอดตอนนี้ถางกันไปชนรั้วที่อุทยานเขามากันไว้เป็นพื้นที่เตรียมผนวกอุทยานแล้ว ภูเขาโดดๆ กลางไร่ฝั่งนี้นี่อีกหน่อยก็ไม่เหลือคำถามที่ลูกน้องผมโยนมาใส่หัวใจคือ

พี่เอาไงดี?” 

คำถามนี้ทำให้ผมนิ่งอึ้งไปกับภาพพื้นที่ที่มันใหญ่โตเกินเรี่ยวแรงและขอบเขตภารกิจขององค์กรเล็กๆ อย่างพวกเรา 

เมื่อนริศจอดรถ ผมเปิดรถแหวกอากาศร้อนและควันไฟป่า ลุยหญ้าไม้หนามแห้งกรอบออกไปดูพื้นที่ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะคิดอะไรเพิ่มเติมกับคำถามของเขา ที่ต้องเห็นปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ทุกวัน ต้องเจอกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอยู่บ่อยๆ และก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ผมเสียอีกที่เดี๋ยวก็กลับกรุงเทพ และก็ไม่เห็นภาพปัญหามันไปอีกหลายวัน จนกว่าจะมาเห็นอีก และก็คุยกันเรื่องเดิมๆ แบบนี้อีก

เดี๋ยวกลับไปคิดดูก่อนนะ พี่จะพยายามไปเร่งรัดกระบวนการที่เขาจะประกาศให้มีหัวหน้าป่าสงวน แบบที่เรามีหัวหน้าอุทยานที่ถ้ำธารลอด ผมให้ความเห็นนริศ ตามที่เคยได้ยินกรมป่าไม้เขาว่าๆ มา ทั้งที่ใจก็รู้ว่ามันไม่ค่อยมีหวังสักเท่าใด ผมประมาณเอาเองว่าอีกสิบปี เราคงไม่มีเหลือป่าที่ไม่ได้ประกาศเป็นป่าอนุรักษ์อีกแล้ว

วันนั้นถึงยังมีกรมป่าไม้อยู่ก็คงไม่จำเป็น เพราะไม่มีป่าสงวนเหลือให้จัดการ หรือดูแลรักษาอีกต่อไป 

ภาพไร่มันสำปะหลังค่อยๆ รุกขึ้นเขา สลับกับ อ้อย และสับปะรด ไฟจากไร่ลอยติดป่า เป็นจุดๆ ดินแห้งแล้งร้อนปรากฏเป็นภาพรอบตัว ไกลตาเทือกเขากำแพง ตระหง่านอยู่เหยียดยาว นั่นเป็นส่วนรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ หรือ ที่ชาวบ้านแถวนี้เรียกกันในชื่อเก่าว่าถ้ำธารลอด ด้านใต้ต่อเนื่องกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ด้านเหนือเกือบเชื่อมกับอุทยานแห่งชาติพุเตยในเขตสุพรรณ เหนือจากนั้นคือป่าห้วยขาแข้ง นี่คือปากทางเข้าป่าตะวันตกที่มีพื้นที่อนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อเนื่องกัน 17 พื้นที่ ไปถึงอุ้มผาง จังหวัดตาก 

ป่าแบบนี้อยู่ภายใต้ข้อกำกับดูแลโดยหมายอุทยานแห่งชาติอันเข้มงวด เจ้าหน้าที่อุทยานที่มีหน่วยพิทักษ์อุทยานหลายหน่วยใกล้ชิดชุมชนและมีพื้นที่ดูแลพอสมควร แต่ก็มีกำลังและปัจจัยทำงานเพียงพอที่จะดูแลได้ 

ที่สำคัญคือเมื่อมีปัญหา ก็มีโครงสร้างการทำงานเป็นหัวหน้าอุทยานที่มีอำนาจการตัดสินใจ อยู่ในพื้นที่และมีการตรวจสอบจับตาการทำงานจากส่วนกลาง สาธารณชน และหน่วงงานราชการพอที่จะทำให้มีความตั้งใจในการทำงานระดับหนึ่ง

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามากที่สุด เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าจะรักษาป่าไว้ได้ต้องประกาศเป็นป่าอนุรักษ์สองแบบที่ว่ามา แม้ว่าจริงๆ แล้วบางที่อาจจะไม่มีแหล่งท่องเที่ยวงดงามในมาตรฐานของอุทยานแห่งชาติ และมีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์อะไรนักหนาให้สมกับเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็ตาม 

หลังจากลงไปสัมผัสกับไร่รุกป่ากับฝุ่นควันแห้งแล้ง ผมกับนริศก็เดินทางเลียบป่าต่อซึ่งวันนี้รอบตัวผมมีป่ากลางไร่ ที่นับเวลานาทีจะถูกถางไถ ไฟเผาเพิ่มขึ้น พื้นที่ข้างนอกนี้เป็นพื้นที่รับผิดชอบของกรมป่าไม้ มีพื้นที่ขอบเขตดูแลเป็นพื้นที่ประกาศป่าสงวนแต่นมนานกาเลกว้างใหญ่ไพศาล ตีเสียว่าหน่วยป้องกันรักษาป่าสงวน มีพื้นที่ดูแลมากกว่าหน่วยพิทักษ์ป่าของอุทยานแห่งชาติ สองสามเท่า และป่าจริงๆ ในพื้นที่ก็ถูกบุกรุกกลายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยมานมนาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่นี่มีปัจจัยการทำงานน้อยกว่าอุทยานอย่างชัดเจนทั้งพาหนะ น้ำมันเชื้อเพลิง จำนวนเจ้าหน้าที่ ที่สำคัญคือ อำนาจหน้าที่ของหน่วยป้องกันที่ขาดความชัดเจนในการลาดตระเวนตรวจตา

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ วัฒนธรรมองค์กรดั้งเดิม ที่เป็นหน่วยงานอนุญาตให้สารพัดกิจกรรมมาขอใช้พื้นที่ป่าที่สงวนไว้ ตัดสัมปทานไม้ จัดสรรพื้นที่เป็นที่ดินการเกษตรรูปแบบต่างๆ เมื่อกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม เมื่อล่วงเลยมาถึงวันนี้เจ้าหน้าที่หลายคนก็น่าจะคงยังทำหน้าที่อนุญาตให้คนไม่กลัวกฎหมายได้รุกที่ ตัดไม้ และวิ่งเคลียร์ส่วนตัว ว่ากันว่าผลประโยชน์พวกนี้ต่างต้องส่งขึ้นไปเป็นทอดๆจนถึงการเมือง จริงเท็จอย่างไรก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้

แน่นอนว่าผมไม่มีคำตอบให้นริศว่าจะเอาไงดี  ตามที่เขาต้องการคำแนะนำจากผม

ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ใกล้ๆ อย่างอุทยานแห่งชาติก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเช่นนี้ แต่การที่ได้รับการจับตามากกว่า ดังนั้นอัตราการทำลายป่าจากกลไกต่างๆก็น้อยกว่ากันอย่างเทียบไม่ได้กับพื้นที่ป่าสงวน

แถวๆ นี้มีศัพท์ชาวบ้านที่ผมได้ยินมานาน คือการเก็บก๊อกที่ผมได้ยินชาวบ้านพูดกันว่าหากทำผิดกฏหมายเรื่องป่าไม้จะโดนเก็บก๊อก ผมก็เก็บความสงสัยนี้มานมนาน จนกระทั่งวันหนึ่งไปอ่านหนังสือพบว่าคำว่าก๊อกนี้ไม่น่าจะใช่ก๊อกน้ำตามที่เราคุ้นเคย แต่น่าจะเป็นรากมอญที่ยังเหลืออยู่ในพื้นที่เมืองกาญฯ ก๊อกในภาษามอญ แปลว่าภาษีแน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็มีชื่อเสียงเรื่อง รับเคลียร์ และเก็บก๊อก อย่างไม่รู้ว่าในความเป็นจริงแล้วทำกันอย่างไร และมีระบบกว้างขวางไปแค่ไหน 

แต่เป็นที่รู้กันว่าระบบนี้มันไม่ได้ขึ้นกับตัวบุคคลที่มาทำงานในหน่วยงานป้องกันรักษาป่า หรือหน่วยพิทักษ์ป่าในพื้นที่ แต่เป็นระบบผลประโยชน์ที่ลึกไปถึงระดับส่วนกลางต่อๆ กันไป ดังนั้นไม่ว่าใครมาทำหน้าที่ก็ไม่น่าที่จะเลี่ยงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกผลประโยชน์ได้

พี่นี่ถึงป่าเขาหินตั้ง ที่เรากับชาวบ้านขอขึ้นทะเบียนตามโครงการป่าชุมชนกับสำนักป่าชุมชนกรมป่าไม้แล้ว 

นริศชี้ให้ดูภูเขาที่เขาจอดรถ หยุดดูไร่ที่ถางมาสุดขอบภูเขาที่ยังมีสภาพป่าดีอยู่ลูกเดียวเลยออกไปก็เข้าเขตป่าเขาพุช้างหมอบชื่อป่าหลังที่เขาพูดถึงนั้นเป็นป่าที่ผมรู้จักดี เพราะมีพื้นที่ป่าชุมชนใหญ่กว่าอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์เสียอีก มีกำนันนักอนุรักษ์รวบรวมเครือข่ายผู้ใหญ่บ้านและแกนนำชุมชนเสนอโครงการป่าชุมชนและอาสาดูแลป่าผืนใหญ่ติดอุทยานเขื่อนศรีนครินทร์อย่างเข้มแข็ง มีการตั้งจุดสกัดสองแห่งเพื่อป้องปรามผู้กระทำผิดร่วมกับเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติ แต่ติดปัญหาคือ พื้นที่ที่ขออนุญาตดูแลนั้นใหญ่โตเกินไปและเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนก็ยังไม่อนุมัติโครงการป่าชุมชนเสียที ทั้งๆ ที่กรมป่าไม้เองก็ไม่มีกำลังที่จะมาดูแลป่าบริเวณนี้เนื่องจากติดปัญหาทางเทคนิคที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ดูแลรับผิดชอบอยู่ไกลออกไปอีกเกือบสองร้อยกิโลเมตรทางอำเภอไทรโยค เป็นอีกหน่วยไม่ขึ้นกับหน่วยใกล้ๆ นี้ เพราะป่าใหญ่ที่ผมว่ามาเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนที่ประกาศครอบคลุมมาจากทางโน้นตั้งแต่สมัยยังไม่มีทางรถรามาได้แบบทุกวันนี้ ส่วนหน่วยที่อยู่ใกล้ๆ นี้ก็ไม่มีหน้าที่มาดูแล เวลาอาสาสมัครชุมชนพบการกระทำผิดจะไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการก็ยังต้องไปทำงานกับหน่วยห่างไกล ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วแทบไม่มีทางเป็นไปได้

นี่คือสภาพตัวอย่างที่ผมกับนริศ นั่งรถปรับทุกข์กันมาในบ่ายวันนั้น

แล้วทำไม ป่าที่เราผ่านมาตรงที่เขาถางขึ้นไป นริศ ไม่ทำงานกับชาวบ้านให้เป็นป่าชุมชนเสียล่ะผมฉีกประเด็นกลับไปที่งานภาคสนามของเขา

“ก็ผู้นำชุมชนเขาไม่เอาป่านี่พี่เขาบอกว่าต้องการที่ทำกิน ไม่อยากมีป่าชุมชนแล้วก็ขายป่ากันให้นายทุนข้างนอก

ผมกลับออกจากพื้นที่ขอบป่าตะวันตก พร้อมกับปัญหาของนริศที่ว่า เอาไงดี ?”

 


เผยแพร่ครั้งแรก นิตยสารสารคดี 2557

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)