ผลกระทบของโลกร้อนต่อสายพันธุ์ป่าเขตร้อน

ผลกระทบของโลกร้อนต่อสายพันธุ์ป่าเขตร้อน

นักนิเวศวิทยาป่าไม้ชื่อไมลส์ ซิลมัน พาผู้เขียนหนังสือเรื่องการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ไปดูแปลงเก็บข้อมูลตัวอย่างพันธุ์ไม้ในอุทยานแห่งชาติมานู ในประเทศเปรู ที่นี่เป็นป่าเขตร้อนที่เป็นต้นน้ำสาขาของแม่น้ำแอมะซอนบนเทือกเขาแอนดิส

ในจินตนาการของคนทั่วไปมักมองว่าสภาวะโลกร้อนเป็นภัยคุกคามต่อสายพันธุ์ในเขตหนาวเย็น เพราะว่าสัตว์ที่อยู่กับน้ำแข็งอย่างเช่นแมวน้ำบางชนิด หรือ หมีขั้วโลก หากน้ำแข็งละลายหมดพวกมันน่าจะได้รับผลกระทบทางตรง ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลเชิงประจักษ์อยู่แล้ว

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากจำนวนสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในเขตร้อนทั้งพืชและสัตว์ ก็จะได้รับผลกระทบมากเช่นเดียวกัน เพราะในพื้นที่เล็ก ๆ ของป่าเขตร้อนย่อมมีจำนวนสายพันธุ์มากกว่าในบริเวณเขตหนาวเป็นจำนวนมหาศาล โดยผู้เขียนได้ยกตัวอย่างความเข้าใจของตนเองที่ได้เรียนรู้กับนักนิเวศวิทยาป่าไม้ในข้อเท็จจริงที่ว่า

หากเริ่มเดินทางจากขั้วโลกเหนือลงมาทางกรีนแลนด์ซึ่งเป็นแผ่นน้ำแข็งขนาดมหึมาหลายร้อยไมล์ จะไม่มีสิ่งมีชีวิตเลย จนกระทั่งพอจะเจอต้นไม้ชนิดแรกเมื่อเริ่มพ้นพืดน้ำแข็งคือต้นหลิวอาร์กติกชนิดเดียว ซึ่งมันสูงไม่เกินตาตุ่มเป็นลานสีเขียวกว้างใหญ่นั่นแทบจะเป็นพืชชนิดเดียวที่จะพบตลอดระยะทางสองพันไมล์ลงมาตรง ๆ ถึงป่าใหญ่แคนาดา ซึ่งมีป่าปกคลุมเกือบพันล้านเอเคอร์ เป็นพื้นที่หนึ่งในสี่ของป่าไม้ที่ไม่เคยถูกแตะต้องเลยของโลก

แต่ทั้งหมดจะมีต้นไม้เพียงประมาณ 20 สายพันธุ์เท่านั้น นั่นคือพูดง่าย ๆ ว่ามีแต่ป่าสน เมื่อเข้าเขตสหรัฐอเมริกาจึงจะเริ่มพบความหลากหลายของต้นไม้โดยมีตัวอย่างของป่าผลัดใบที่มีสายพันธุ์พืช 50 – 200 สายพันธุ์ ในป่าที่ต่าง ๆ แต่เมื่อถึงอเมริกากลางจะเพิ่มจำนวนสายพันธุ์ต้นไม้ถึง 700 สายพันธุ์ ขณะที่เมื่อลงมาถึงเปรูในแปลงสำรวจของซิลมันที่มาสำรวจกันขนาดเท่าสวนสาธารณะจะนับสายพันธุ์ต้นไม้ได้เกิน 1,000 สายพันธุ์

Arctic Willow (Salix arctica) ต้นหลิวอาร์กติก

แน่นอนว่าสัตว์ชนิดต่าง ๆ ทวีจำนวนสายพันธุ์มากแปรผันตรงตามจำนวนสายพันธุ์ของพืช ที่เป็นเช่นนี้มีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่าในเขตร้อนอุณหภูมิค่อนข้างคงที่ สิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการในเขตนี้จะทนความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้น้อยกว่าเขตหนาว ความแตกต่างของสภาพภูมิอากาศเพียงแค่บนเนินเขาและในหุบเขาสามารถก่อให้เกิดแนวกั้นของสายพันธุ์หลายชนิดที่อยู่ได้เฉพาะพื้นที่นั้น ๆ เมื่อประชากรถูกแยกจากกันจึงเป็นไปได้ที่มักเกิดสายพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้วงจรชีวิตของพืชและสัตว์ในเขตร้อนจะออกลูกหลานได้เร็วหลายรุ่นกว่าในเขตหนาว ยิ่งจำนวนรุ่นมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสายพันธุ์ใหม่จากโอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์ตามหลักพันธุกรรม

มีข้อเท็จจริงที่โดดเด่นคือในเขตร้อนมีความต่อเนื่องของระบบนิเวศที่เก่าแก่ เช่น ในป่าแอมะซอนเป็นป่าฝนที่ดำรงอยู่แบบนี้มานับล้าน ๆ ปี จึงมีเวลาให้สะสมความหลากหลายทางชีวภาพจากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับป่าแคนาดา เมื่อสองหมื่นปีที่แล้วเกือบทั้งหมดถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งหนาหนึ่งไมล์ ซึ่งหมายความว่าต้นไม้ที่เราเห็นในปัจจุบันจึงเกิดขึ้นใหม่ อพยพมาใหม่เมื่อหนึ่งหมื่นปีที่แล้วเท่านั้นจึงตัดโอกาสการวิวัฒนาการและการเพิ่มสายพันธุ์ไป

ซิลมันพาโคลเบิร์ตไปศึกษาแปลงทดลองเปรียบเทียบแปลงทดลองทั้งสิบเจ็ดแปลง ซึ่งเริ่มตั้งแต่บริเวณยอดเขาลดระดับความสูงลงไป ซึ่งพบว่าเพียงแค่ความสูงต่างกันไม่มาก ในแต่ละแปลงก็พบความหลากหลายของสายพันธุ์ที่ต่างกันในแต่ละแปลงเพราะอุณหภูมิเฉลี่ยของแต่ละแปลงก็แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบสายพันธุ์เพียงบางสายพันธุ์ที่ปรับตัวไต่ระดับไปสู่แปลงที่สูงกว่าได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวได้ นั่นหมายความว่า ‘เมื่ออุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยร้อนขึ้นจะมีสายพันธุ์ในเขตร้อนจำนวนมากที่ปรับตัวไม่ได้ และน่าจะหายไป’

โดยในหนังสือการสูญพันธุ์ครั้งที่หกในบทนี้มีข้อมูลบ่งชี้ว่าถ้าชะลอภาวะโลกร้อนให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำสุด ก็จะมีสายพันธุ์ 22-31 เปอร์เซ็นต์ มุ่งสู่การสูญพันธุ์ ภายในปี 2050 แต่หากภาวะโลกร้อนอยู่ในเกณฑ์ที่คำนวณไว้โดยไม่ลดลงสายพันธุ์ประมาณ 38 – 52 เปอร์เซ็นต์ จะหายไป

พูดง่าย ๆ ว่า หากชะลอโลกร้อนในเกณฑ์ต่ำสุด เราก็ฆ่าเพียงหนึ่งในสี่ของสิ่งที่เรามองเห็น แต่ถ้าเป็นไปอย่างที่เห็นในปัจจุบันก็จะฆ่าสิ่งที่เราเห็นอยู่ไปครึ่งหนึ่ง


 

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)