คัดค้านการผ่อนปรนการนำเข้าเศษพลาสติก หยุดการนำเข้าเศษพลาสติกอย่างเด็ดขาด

คัดค้านการผ่อนปรนการนำเข้าเศษพลาสติก หยุดการนำเข้าเศษพลาสติกอย่างเด็ดขาด

แถลงการณ์ คัดค้านการผ่อนปรนการนำเข้าเศษพลาสติก หยุดการนำเข้าเศษพลาสติกอย่างเด็ดขาด ภายในปี 2564
.

ความเดิม ปัญหาขยะพลาสติกเริ่มกลายเป็นประเด็นร้อน หลังจีนแบนการนำเข้าขยะจากต่างประเทศปี 2560 ปริมาณนำเข้าเศษพลาสติกเพิ่มขึ้นจนทะลุ 5 แสนกว่าตันในปี 2561 แถมยังมีการจับกุมการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติก โดยสำแดงเท็จว่าเป็น “เศษพลาสติก”

ทั้งๆ ที่มีมติให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกอย่างเด็ดขาดไปแล้ว…

“คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ” ซึ่งรัฐบาลแต่งตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีการประชุมเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ได้มีมติให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกภายใน 2 ปี (นั่นคือห้ามการนำเข้าเด็ดขาดภายในสิ้นเดือนกันยายน 2563)

และกำหนดช่วงผ่อนผันการนำเข้า 2 ปี คือ ระหว่างสิงหาคม 2561 ถึงสิงหาคม 2563 โดยได้กำหนดโควตาการนำเข้า ปีที่ 1 ให้นำเข้าได้ไม่เกิน 70,000 ตัน ปีที่ 2 ให้นำเข้าได้ไม่เกิน 40,000 ตัน ปีที่ 3 คือตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นต้นไป ใบอนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกตามโควตาเดิมจะหมดอายุลง และห้ามการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศโดยเด็ดขาด

ในช่วงเดือนกันยายน 2563 สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม รวม 65 องค์กร ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้ “คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์” รักษาคำมั่นที่จะยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกเด็ดขาดตามมติ คณะอนุกรรมการฯ ชุดเดิม โดยไม่ต่อโควตาการนำเข้าเศษพลาสติกอีกต่อไป

แต่กลับทำไม่ได้อย่างที่บอก

แต่ต่อมา กลุ่มโรงงานได้พยายามผลักดันกระทรวงอุตสาหกรรม คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงปรับเปลี่ยนนโยบาย ไม่ประกาศมาตรการ “ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกโดยเด็ดขาด” ตามมติคณะอนุกรรมการฯ เดิมปี 2561 แต่กลับมีมติใหม่ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 กำหนดแผนควบคุมการนำเข้าเศษพลาสติก ตั้งเป้าที่จะห้ามนำเข้าในอีก 5 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ระหว่างนี้ ให้นำเข้าได้แต่ต้องลดสัดส่วนลงทุกปี ปี 2564 นี้ ให้นำเข้าได้ไม่เกิน 250,000 ตัน

ทางเครือข่ายฯ ยังพบว่า ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมอ้างว่าไม่ได้ให้ใบอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกแล้ว แต่กลับพบการนำเข้าเศษพลาสติกอย่างต่อเนื่อง อีกประมาณ 1 แสนเศษตันต่อปี โดยเป็นการนำเข้าของโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี (Free Zone) ซึ่งมีกฎหมายควบคุมแยกต่างหาก ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่ใหญ่โตทางกฎหมาย และเป็นช่องว่างที่สนองตอบความพยายามของกลุ่มโรงงานที่เรียกร้องขอให้อนุญาตการนำเข้าเศษพลาสติกได้อย่างต่อเนื่อง

เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งได้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวดังกล่าว มีความผิดหวังกับมติคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 เป็นอย่างมาก และมีข้อสังเกตว่า การประชุมของคณะกรรมการฯ ในวันดังกล่าวเป็นไปอย่างเร่งรีบและไม่มีการเชิญให้ภาคประชาสังคมหรือแม้แต่สมาคมซาเล้งฯ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเข้าร่วมในการประชุมตามปกติด้วย

ทางเครือข่ายฯ เห็นว่า หากยังคงเปิดให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกจะส่งผลกระทบต่อราคารับซื้อเศษพลาสติกในประเทศ และกระทบต่อรายได้ของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า รวมถึงสวนทางกับนโยบายการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้นโยบาย BCG (Bio-economy, Circular Economy, Green Economy) ของประเทศโดยตรง

เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมฯ จึงมีข้อเสนอ ดังต่อไปนี้

1. ยกเลิกมติ 25 ม.ค. 64 และรีบจัดเวทีผู้ซื้อขายในประเทศ ขอให้ทบทวนและยกเลิกมติ “มาตรการกำกับการนำเข้าพลาสติก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564” ประกาศนโยบายที่จะห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2564 โดยเร็ว พร้อมกันนี้ขอให้กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดเวทีการพบกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเศษพลาสติก

2. แก้ไขกฎหมายในเขตประกอบการเสรี ให้มีการแก้ไขกฎหมายในเขตประกอบการเสรีและกฎหมายเขตปลอดอากร โดยห้ามการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ แต่ให้มีการใช้เศษพลาสติกในประเทศแทน

3. ออกประกาศกระทวงพาณิชย์ ให้กรมการค้าต่างประเทศ ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ภายในปี 2565

4. ต้องเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้า ให้กรมศุลกากรต้องทำพิกัดย่อยของพิกัด 39.15 สำหรับใช้กำกับการตรวจสอบการนำเข้าเศษพลาสติกและพลาสติกอื่นๆ เพื่อป้องกันการสำแดงเท็จ เพิ่มบทลงโทษผู้นำเข้าและผู้แทน (shipping) ที่สำแดงเท็จ และเมื่อพ้นช่วงผ่อนผันแล้ว ต้องห้ามนำเข้าเศษพลาสติกพิกัดศุลกากร 39.15 ทั้งหมด

5. นำเข้าเฉพาะ “เม็ดพลาสติก” สำเร็จรูป ในระหว่างที่ยังเปิดให้นำเข้าเศษพลาสติกได้ ให้นำเข้าได้เฉพาะที่เป็น “เม็ดพลาสติก” สำเร็จรูป พร้อมนำไปผลิตเป็นชิ้นงานเท่านั้น

6. ห้ามให้ไทยเป็นฐานการแปรรูปเศษวัสดุ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องไม่มีนโยบายรับการลงทุนอุตสาหกรรมรีไซเคิลจากต่างประเทศที่ใช้ไทยเป็นฐานการแปรรูปเศษวัสดุจากต่างประเทศแล้วส่งออก

7. ให้ประชาชนร่วมทำงานและตรวจสอบ ขอให้คณะอนุกรรมการฯ เพิ่มผู้แทนสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าและองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมเป็นกรรมการหรือคณะทำงานด้วยเพื่อสร้างความสมดุลของนโยบาย รวมทั้งให้ผู้แทนภาคประชาสังคมร่วมในการติดตามตรวจสอบการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วย