หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะเป็นเพียงเสือกระดาษ เมื่อวาระสิ่งแวดล้อมสวนทางกับความเป็นจริง

หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะเป็นเพียงเสือกระดาษ เมื่อวาระสิ่งแวดล้อมสวนทางกับความเป็นจริง

คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก แคมเปญที่ (ไม่) ใหม่ ถูกกลับมาพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อความเป็นจริงสวนทางกับวาระด้านสิ่งแวดล้อมที่ระบุในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่กลับทำไม่ได้จริง ทำให้ประชาชนหลายฝ่ายแสดงความกังวล และออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และพิจารณาการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ พร้อมให้เหตุผลว่าภาครัฐควรเน้นการจัดการขยะภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพ มากกว่าจะอ้าแขนรับซื้อขยะจากต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยการเติบโตบนคุณภาพชีวิต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือแผนและโรดแมป มรดกจากรัฐบาลคสช. ที่จัดเตรียมแผนพัฒนาประเทศ และวางกรอบแนวทางปฏิบัติงานให้กับรัฐบาลชุดต่อ ๆ ไป เข้ามาสานต่อ ให้สอดคล้องกับแผนที่คสช. ได้เขียนไว้ โดยมีการพูดถึง 6 ด้านหลัก ๆ ประกอบด้วย

  1. ด้านความมั่นคง เพื่อจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับและทุกมิติ
  2. ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เน้นการยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติ ควบคู่กับการขยายโอกาสของประเทศไทยในเวทีโลก
  3. ด้านพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ ทรัพยากรมนุษย์ คนไทยในอนาคตมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีทักษะภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 และมีคุณธรรม
  4. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ กระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มโอกาสในทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศในทุกระดับ
  5. ด้านการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงความยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์ต่อความยั่งยืน
  6. ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ การปรับเปลี่ยนภาครัฐยึดหลักภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวม

ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สาระสำคัญในแผนนี้ระบุเป้าหมาย 20 ปี คือ การอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้อย่างยั่งยืน เป้าหมายต่อมาคือการฟื้นฟูและสร้างฐานทรัพยากรใหม่ เพื่อลดผลกระทบทางลบจากการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติตามขีดความสามารถของระบบนิเวศ 

ตัวชี้วัดได้พูดถึงแบบองค์รวมคือ การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู ความสมดุลทางทะเล คุณภาพอากาศ การจัดการขยะต่าง ๆ ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนเรื่องของพื้นที่สีเขียว ก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการน้ำ มีการกำหนดอัตราร้อยละอย่างชัดเจน คือ พื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศลดลง อย่างน้อย ร้อยละ 20 จากกรณีปกติ การบริหารจัดการน้ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ความมั่นคงน้ำในทุกมิติเพิ่มขึ้นให้ได้ร้อยละ 80

เป้าหมายที่กล่าวแบบกว้าง ๆ กับตัวชี้วัดที่เป็นนามธรรม อาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาในอนาคต สฤณี อาชวานันทกุล – กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ แห่ง “ป่าสาละ” เคยออกมาพูดถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติใน the101.world ระบุว่า

น่าสังเกตว่าตัวชี้วัดข้างต้นส่วนใหญ่ (ไม่นับเป้าหมายพื้นที่สีเขียว และการลดก๊าซเรือนกระจก) ยังมีความเป็นนามธรรมสูง ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะใช้เป็น “ดัชนีชี้วัด” แต่อย่างใด

เนื้อหายุทธศาสตร์นี้ส่วนใหญ่พูดถึงการสนับสนุนส่งเสริมในด้านต่าง ๆ อย่างกว้าง ๆ โดยใช้กลไกเชิงบวกหรือ ‘โลกสวย’ อาทิ “ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน” หรือ  “มุ่งเป้าสู่การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและภาคเอกชน” โดยแทบไม่พูดถึงกลไกเชิงบังคับ เช่น การยกเลิกการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล การนำร่องใช้ภาษีคาร์บอน การตั้งเป้าเลิกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

เผยแพร่ครั้งแรก 28 พฤษภาคม 2560 บนเว็ปไซต์ the101.world ยุทธศาสตร์ชาติ หรือยุทธการขายฝัน? ข้อสังเกตบางประการต่อ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เสือกระดาษที่ใช้ได้ แต่ไม่จริง

หากย้อนดูโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก กรณีการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศพบว่า การประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ได้มีมติให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกภายใน 2 ปี โดยช่วงผ่อนผันมีการกำหนดโควตาการนำเข้าปีที่ 1 ได้ไม่เกิน 70,000 ตัน ในปีที่ 2 ให้นำเข้าได้ไม่เกิน 40,000 ตัน และปีที่ 3 ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ  (โดยใบอนุญาตนำเข้าตามโควตาดังกล่าวจะสิ้นสุดทั้งหมดในวันที่ 30 กันยายน 2563)

แต่จากข้อมูลการนำเข้าเศษพลาสติกของประเทศไทย พบว่า ในปี 2561 มีการนำเข้าเศษพลาสติกสูงถึง 552,912 ตัน ในปี 2562 มีการนำเข้าถึง 323,167 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งนำเข้าในปริมาณ 152,738 ตัน และมีการส่งออกพลาสติกไปยังต่างประเทศด้วย  และในปี 2563 (มกราคม-กรกฎาคม) ในช่วง 7 เดือนแรกของปีมีการนำเข้า 96,724 ตัน 

ส่วนการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2560 นำเข้าในปริมาณ 54,260 ตัน และในปี 2561 ในปริมาณ 38,404 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2559 ก่อนที่จะมีนโยบายห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ชั่วคราว มีปริมาณนำเข้า 1,986 ตัน 

จากแผนงานตามโรดแมป นอกจากไม่เป็นไปตามคาดการณ์แล้ว ยังพบการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกปนเปื้อนและขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกด้วยการกำหนดโควตาของภาครัฐ

ภาพ: มติชนสุดสัปดาห์

นอกจากปัญหาขยะพลาสติกแล้ว ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่สวนทางกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ระบุในตัวชี้วัดหนึ่งว่าด้วยสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมจะต้องได้รับการฟื้นฟู เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ารัฐบาลพยายามเดินหน้าโครงการเก่าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ภาพฝัน ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ พื้นที่อุตสาหกรรมครบวงจรขนาดยักษ์ โดยมีท่าเรือเป็นประตูทางน้ำด้านตะวันออกของไทย ซึ่งล่าสุดกรมเจ้าท่าได้ยุติการศึกษาทบทวน ผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA เรียบร้อยแล้ว เหมือนว่าชาวบ้านจะได้รับชัยชนะในครั้งนี้ แต่กลับมีโครงการอื่น ที่กรมเจ้าท่าพยายามเสนอทดแทนอย่างโครงการศึกษาและออกแบบพัฒนาท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้าบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ในพื้นที่ กระบี่ พังงา ตรัง สตูล) ในปี 2564 โดยให้เหตุผลว่าการขนส่งทางน้ำยังคงมีความจำเป็นต้องพัฒนา

โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง ในพื้นที่ จ.ราชบุรี มีพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีและซ้อนทับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี โดยมีพื้นที่รวมกว่า 2,000 ไร่ พื้นที่บางส่วนมีราษฎรชาวไทยภูเขา เชื้อสายกระเหรี่ยงอยู่อาศัยและทำกินกว่า 400 ไร่ การสร้างอ่างเก็บน้ำนอกจากจะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่แล้ว ยังจะส่งผลกระทบให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวต้องอพยพออกด้วย ซึ่งขณะนี้โครงการยังอยู่ขั้นตอนของการพิจารณาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการสำรวจผลกระทบเพิ่มเติม

ภาพฝันอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นแบบไหน ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งไม่มีใครยืนยันได้ว่า แผนนี้จะทำได้สำเร็จ หรือล้มเหลว ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดเราอาจจะเสียเวลาไป 20 ปี โดยที่ไม่สามารถรักษาอะไรไว้ได้เลย 

 


ที่มา
อนาคตไทย อนาคตเรา
ยุทธศาสตร์ชาติ หรือยุทธการขายฝัน? ข้อสังเกตบางประการต่อ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’
ย้อนปฐมบท! ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา (กันอีกสักครั้ง)
กก.วล. มีมติให้กรมชลประทานไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม กรณีโครงการ อ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง
บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง สุธาสินี นุกูลกิจ เจ้าหน้าออกแบบ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร