แถลงการณ์ วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (2561)

แถลงการณ์ วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (2561)

ในวันที่ 31 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันที่เราทุกคนระลึกถึงผู้พิทักษ์ป่า ที่อุทิศตนทำงานอย่างเสียสละในการดูแล ปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า จนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตลง ขณะปฏิบัติหน้าที่

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอร่วมระลึกถึงการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าที่ปกป้องผืนป่า สัตว์ป่าให้กับคนไทยทุกคน 

ผู้พิทักษ์ป่า เป็นคนกลุ่มหลักที่ปฏิบัติหน้าที่อนุรักษ์ผืนป่าของประเทศไทย ทั้งตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ และพนักงานพิทักษ์ป่า นับจากก่อตั้งมูลนิธิ ตั้งแต่ปี 2533 หลังจากคุณสืบ นาคะเสถียร สละชีวิตตัวเองลง ภารกิจสำคัญคือการจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และให้การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ที่บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงการช่วยทุนการศึกษาบุตรของพิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ทุกเดือนจนจบมหาวิทยาลัย มาโดยตลอด

วันนี้ ผู้พิทักษ์ป่าปฏิบัติหน้าที่ จนเกิดเป็นรูปธรรม การดูแลผืนป่า ภัยคุกคามต่างๆ จนพื้นที่ถูกคุกคามน้อยลง สัตว์ป่ามีการฟื้นฟูประชากรขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผลของการทำงานทำให้สาธารณะชนรับรู้ถึงบทบาท และคุณค่าของผู้พิทักษ์ป่าที่ปกป้องป่าไม้และสัตว์ป่าให้คนไทยทุกคน จนเกิดพลังจากกลุ่ม องค์กร หน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ สนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า

สิ่งสำคัญคือ หน่วยงานต้นสังกัดให้ความสำคัญกับบุคคลเหล่านี้ จนจัดตั้งเป็นมูลนิธิผู้พิทักษ์ป่า เพื่อจะช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการพัฒนาสวัสดิการ สวัสดิภาพ ให้กับเจ้าหน้าที่เหล่านี้

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังคงมุ่งมั่นที่สนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ในรูปแบบต่างๆ และหวังว่าอนาคตผู้พิทักษ์ป่า จะได้รับการยกระดับความสำคัญ จนเป็นแรงจูงใจในการทำงานที่มีภาวะความเสี่ยงสูง และการทำงานอย่างทุ่มเท และลดความกังวลต่ออนาคตของตนเองและครอบครัว จึงมีข้อเสนอต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมป่าไม้ และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดังนี้

1. โปรดปรับปรุงสวัสดิการของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ให้มีมาตรฐานการดำเนินชีวิตและการทำงานอย่างเหมาะสม โดยดำเนินการในทันทีเพื่อเป็นขวัญ กำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก

2. การสร้างแรงจูง และความภาคภูมิใจ ให้ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติงาน ทั้งการปรับค่าตอบแทนตามมาตรฐาน ปรังปรุงระบบสวัสดิการ การเร่งทำประกันชีวิตสำหรับผู้ทำงานในภาวะเสี่ยง และการปรับโครงสร้างบุคลากร ที่เข้ามาทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าได้อย่างแท้จริง ในกรอบการปรับตำแหน่ง จากลูกจ้างประจำ ตำแหน่ง พนักงานพิทักษ์ป่า ระดับ ส.2 ไปเป็น ส.3 ควรเป็นไปอย่างเป็นธรรม และสรรหาผู้มีความสามารถอย่างแท้จริง เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ จะมาช่วยทำงานหน้าที่ระดับผู้ช่วยหัวหน้าพื้นที่คุ้มครอง มีบทบาทในการรับผิดชอบหน่วยพิทักษ์ป่า หรืองานบริหาร รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคคลเหล่านี้ให้สามารถทำหน้าที่สำคัญๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. ควรผลักดันให้ผู้พิทักษ์ป่ามีการจัดตั้ง กลุ่ม สมาคม หรือสมาพันธ์ เพื่อยกระดับอาชีพผู้ปฏิบัติงานพิทักษ์ป่าสู่สากล นั่นหมายถึงการทำงานอย่างมีมาตรฐาน การดูแลผู้พิทักษ์ป่าอย่างมีมาตรฐาน และเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกับผู้พิทักษ์ป่าพื้นที่อื่นๆทั่วโลก เนื่องจากงานอนุรักษ์ และงานป้องกันการค้าสัตว์ป่า พันธุ์พืช มีความเชื่อมโยงข้ามพรมแดนมากขึ้น ทั้งกลุ่มองค์กรที่ตั้งนี้ สามารถเชื่อมโยงการทำงานกับมูลนิธิผู้พิทักษ์ป่าได้ต่อไป

วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก จึงจะเป็นวันที่มีความหมายสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ อย่างแท้จริง ทั้งในวันนี้ และวันหน้า

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร