กรมชลฯ แจ้งถอนรายงาน EHIA เขื่อนแม่วงก์

กรมชลฯ แจ้งถอนรายงาน EHIA เขื่อนแม่วงก์

กรมชลประทาน ทำหนังสือถึงสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขอถอนรายงาน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ออกจากการพิจารณาของ คชก. และได้ศึกษาทางเลือกการจัดการน้ำลุ่มน้ำสะแกกรังเพื่อแก้ไขปัญหาแทน

ภายหลังการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเขื่อนแม่วงก์ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านแหล่งน้ำ เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีมติไม่รับพิจารณารายงาน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ เนื่องจากข้อมูลข้อมูลยังขาดความสมบูรณ์

ล่าสุด เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งถึงสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอถอนรายงาน EHIA ฉบับดังกล่าว ออกจากการพิจารณาแล้ว

เนื้อหาในหนังสือฉบับดังกล่าว กรมชลประทาน ได้อ้างถึงมติคชก. เรื่องเขื่อนแม่วงก์ จากการเสนอรายงาน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ที่เห็นควรให้กรมชลประทานปรับปรุงแก้ไขและเสนอข้อมูลเพิ่มเติมในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ พร้อมชี้แจงรายละเอียดว่า ข้อคิดเห็นบางประเด็นนั้นเกินจากขอบเขตการศึกษาที่กรมชลประทานดำเนินการไว้

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ศึกษาความเป็นไปได้อื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่นอกเหนือจากการสร้างเขื่อน เช่น ข้อเสนอทางเลือกการจัดการของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มาพิจารณาดำเนินการจัดทำแนวทางเลือกในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและขาดแคลนน้ำลุ่มน้ำสะแกกรังในเขตพื้นที่อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์แทน โดยได้กำหนดแผนงานระยะเร่งด่วนไว้เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ทดแทน

ซึ่งในการแก้ไขปัญหานี้ อาจส่งผลต่อลักษณะหรือขนาดโครงการที่ได้ศึกษาไว้เดิม ทำให้ต้องมีการทบทวนลักษณะโครงการใหม่ที่สอดคล้องกับแนวทางการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ทั้งระบบ

เนื้อหาฉบับเต็ม

ตามที่ กรมชลประธานได้จัดส่งรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาและนำเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 5 ครั้ง ตามหนังสือที่อ้างถึง 1 – 5 โดยที่ประชุมมีมติเห็นควรให้กรมชลประทานปรับปรุงแก้ไขและเสนอข้อมูลเพิ่มเติมในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ของโครงการ ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

ในโครงการนี้ กรมชลประทาน ได้พิจารณาแล้วและขอเรียน ดังนี้

1. โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรัง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 – 2529) เนื่องจากสภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำและปัญหาความยากจนในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยคณะรัฐมนตรีมีความเห็น เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 ว่า เป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ จึงเห็นชอบในหลักการ การดำเนินงานโครงการและมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนครบถ้วน เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) พิจารณาตามขั้นตอนตามนัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2555 ต่อไป

2. กรมชลประทานได้เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ และชี้แจงรายงานตามข้อคิดเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านวิศวกรรม นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า เศรษฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และด้านสังคม ตามกรอบแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดไว้ รวมทั้งมีข้อคิดเห็นบางประเด็นที่ครอบคลุมในระดับการวิจัยหรือให้ศึกษาเพิ่มเติมในระดับลุ่มน้ำ ภูมิภาค หรือเปรียบเทียบกับผลการศึกษาระดับทั้งประเทศ ซึ่งเกินจากขอบเขตการศึกษาเดิมที่กรมชลประทานดำเนินการไว้

3. ระหว่างรอพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ กรมชลประทานได้ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ และข้อเสนอแนวทางจากหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มาพิจารณาดำเนินการจัดทำแนวทางเลือกในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและขาดแคลนน้ำลุ่มน้ำสะแกกรังในเขตพื้นที่อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้กรอบการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ (Area Base) เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ (ปี พ.ศ. 2558 – 2569) พร้อมกำหนดแผนการดำเนินงาน 3 ระยะ (ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว) เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยไม่เกิดประเด็นการต่อต้านคัดค้านและความขัดแย้งทางสังคม จึงดำเนินการตามแผนระยะเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ไปพลาง ซึ่งอาจส่งผลต่อลักษณะหรือโครงการที่ได้ศึกษาไว้เดิม ทำให้ต้องมีการทบทวนลักษณะโครงการใหม่ที่สอดคล้องกับแนวทางการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ทั้งระบบ

4. เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องชัดเจนตามหลักวิชาการ กรมชลประทาน จึงขอถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการฯ ดังกล่าว ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เพื่อดำเนินตามข้อ 2 และ ข้อ 3 ให้ครบถ้วน หากมีความจำเป็นต้องพิจารณาดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ตามแนวทางเลือกที่เหมาะสม กรมชลประทานจะนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้าสู่การพิจารณาตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ลงชื่อ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน วันที่ 3 ตุลาคม 2560