ไลฟ์สไตล์แบบนี้ ต้องมีโลกกี่ใบ ?

ไลฟ์สไตล์แบบนี้ ต้องมีโลกกี่ใบ ?

มีการศึกษาสรุปว่าหากทุกคนบนโลกบริโภคเท่ากับค่าเฉลี่ยของประชาชนอเมริกัน เราจำเป็นต้องใช้โลกสี่ใบเพื่ออยู่รอด แต่คำกล่าวอ้างนี้มาจากไหน และคำนวณอย่างไร ?

โลกปัจจุบันมีคนประมาณเจ็ดพันล้านคนและบริโภคทรัพยากรในปริมาณที่แตกต่างกัน เช่น หากเปรียบเทียบวิถีชีวิตของชาวนาต่างจังหวัดกับคนรวยชาวกรุงในประเทศพัฒนาแล้ว เราจำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมากเพื่อปลูกอาหาร ใช้ทรัพยากรจำนวนมากสร้างอาคารและที่ทำงาน รวมถึงใช้พลังงานสำหรับการเดินทางและระบบทำความอุ่นและความเย็น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อชาวกรุง

ค่อนข้างชัดเจนว่าชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยย่อมบริโภคมากกว่าประชาชนในประเทศพัฒนาแล้ว แต่การกล่าวอ้างว่าจำเป็นต้องใช้โลกถึง 4 ใบก็ยังดูค่อนข้างน่าตกใจ

ประเด็นดังกล่าวถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เมื่อ Tim De Chant นักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ ได้เผยแพร่ Infographic บอกเล่าข้อมูลว่าจะต้องใช้พื้นที่เท่าไร หากประชาชนบนโลกใช้ชีวิตแบบเดียวกับ 9 ประเทศที่เขาเลือกมาตั้งแต่บังคลาเทศ ไปจนถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

Tim De Chant ใช้ข้อมูลบางส่วนที่จัดทำโดย Global Footprint Network (GFN) ที่พยายามทำงานในประเด็นที่ค่อนข้างซับซ้อนอย่างการวัดผลกระทบของมนุษย์บนโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546

“รอยเท้านิเวศ” คือนิยามที่นักวิจัยใช้เรียก ปริมาณการใช้ที่ดิน ทะเล และทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการผลิตสินค้าให้มนุษย์บริโภค พวกเขากินมันฝรั่งกี่ลูก ดื่มนมกี่ลิตร ใช้ฝ้ายมากน้อยแค่ไหนเพื่อผลิตเสื้อผ้า ฯลฯ GFN ดำเนินการโดยใช้สถิติการบริโภค และการใช้ทรัพยากรที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ

“มันเหมือนกับการทำบัญชีสำหรับทรัพยากรธรรมชาติ” Mathis Wackernagel ผู้อำนวยการและผู้ร่วมก่อตั้ง GFN กล่าว

คำถามหลักของ GFN คือ “ถ้าหากเรามีโลกอยู่ใบเดียว คนแต่ละคนจะสามารถบริโภคได้มากน้อยขนาดไหน แล้วปัจจุบันเราบริโภคมากเกินไปหรือไม่”

คำตอบถูกคำนวณออกมาในหน่วยที่ค่อนข้างแปลกคือ เฮกตาร์โลก ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่มีทรัพยากรทางชีวภาพเพื่อการผลิตสินค้าได้ตามค่าเฉลี่ยโลก

ตัวอย่างเช่น ชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยจะใช้ 7 เฮกตาร์โลกต่อคน โดยสถิติเฉลี่ยของคนทั่วโลกอยู่ที่ 2.7 เฮกตาร์โลกต่อคน (อ้างอิงจากตัวเลขของ GFN ที่เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2555) และจากตัวเลขดังกล่าวที่ถูกนำไปใช้คำนวณว่า หากประชากรโลกอุปโภคบริโภคในระดับค่าเฉลี่ยชาวอเมริกัน ก็จะต้องใช้โลก 3.9 ใบ หรือประมาณ 4 ใบนั่นเอง

แต่อเมริกาไม่ใช่อันดับหนึ่ง แต่เป็นอันดับห้าของประเทศที่มีประชากรมากกว่าหนึ่งล้านคน โดยอันดับหนึ่งคือประเทศคูเวต ที่ค่าเฉลี่ยคือ 8.9 เฮกตาร์โลกต่อคน (ต้องใช้โลก 5.1 ใบ) ตามมาด้วยออสเตรเลีย (ต้องใช้โลก 4.8 ใบ) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ต้องใช้โลก 4.7 ใบ) กาตาร์ (ต้องใช้โลก 4.0 ใบ) ส่วนประเทศ 10 อันดับแรกที่เหลือคือแคนาดา สวีเดน บาห์เรน ทรินิแดด โทบาโก และสิงคโปร์ ส่วนประเทศอังกฤษอยู่ลำดับที่ 32 (ต้องใช้โลก 2.4 ใบ)

แต่ตัวเลขเหล่านี้เอาไปใช้อะไรได้

สิ่งที่น่าสนใจของ GFN คือผลรวมการใช้ทรัพยากรของประชากรในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ที่โลก 1 ใบ แต่คือโลก 1.5 ใบ

หากคำนึงถึงระดับการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบัน เราปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่มากกว่าโลกจะรับไหว โดยทีมงานของ Mathis Wackernagel ได้คำนวณว่าเราต้องใช้พื้นที่อีกเท่าไรเพื่อรองรับก๊าซเรือนกระจก และเขาประมาณการว่าเราจำเป็นต้องมีโลกอีกครึ่งใบ

หากเราดูตัวเลขของชาวอเมริกันโดยละเอียด ราว 2 ใน 3 มาจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นั่นหมายความว่า ตัวเลขโลกที่เราต้องการ 4 ใบเพื่อใช้ชีวิตแบบชาวอเมริกา ตัวเลขดังกล่าวราว 2 ใน 3 มีไว้เพื่อรองรับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น

การคำนวณดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

“มันดูประหลาดที่เราเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นบนชั้นบรรยากาศมาคำนวณว่าเราต้องใช้พื้นที่โลกเท่าไหร่ ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ถูกต้อง” Fred Pearce นักเขียนด้านสิ่งแวดล้อมนิตยสาร New Scientist โดย Mathis Wackernagel ตอบคำวิพากษ์ดังกล่าวว่า เราจำเป็นต้องรวมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเอาไว้ด้วย เนื่องจากการคำนวณดังกล่าวจะสามารถเห็นถึงผลกระทบในภาพรวมที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

อีกหนึ่งเสียงวิจารณ์ เช่น จาก Linus Blomqvist ผู้จัดการด้านการอนุรักษ์ ประจำสถาบัน Breakthrough ในแคลิฟอร์เนีย ที่ตั้งข้อสังเกตว่าข้อมูลที่นำมาใช้ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปขนาดรอยเท้านิเวศของทุกประเทศทั่วโลก โดยยังไม่มีการคำนึงถึงวิถีเกษตรกรรมที่ไม่ยั่งยืนที่อาจก่อให้เกิดภาวะดินเสื่อมสภาพ และการใช้ทรัพยากรแบบเกินกำลัง

“ตัวเลขนี้อาจจะดูทื่อเกินไป และแน่นอนว่าตัวเลขที่เราคำนวณออกมานั้นผิดแน่ๆ ผมเชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวนั้นต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะยังมีข้อมูลหลายอย่างที่ยังไม่ครบถ้วน นั่นหมายความว่าความต้องการใช้ธรรมชาติของเรานั้นมีมากกว่าที่ผมใช้ในการคำนวณ” Mathis กล่าว

ถึงแม้ว่าตัวเลขนี้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่รัฐบาลหลายประเทศก็มองเห็นและใช้ตัวเลขนี้ในการออกแบบนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

ตัวอยางเช่น สวิตเซอร์แลนด์ที่เผยแพร่รายงานรอยเท้านิเวศบนเว็บไซต์ของภาครัฐ ในอังกฤษก็มีกรตั้งคณะกรรมการทุนทางธรรมชาติ (Natural Capital Committee) เพื่อพิจารณาว่าประเทศมีการใช้ทรัพยากรอย่างไร และจะใช้ไปได้อีกนานเท่าไร


ถอดความจาก ‘How many Earths do we need?’ โดย Charlotte McDonald เข้าถึงได้ที่ http://www.bbc.com/news/magazine-33133712
ถอดความโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์