โฮโมเซเปียนส์ ทำผืนดินเสื่อมโทรมไปแล้ว 40%

โฮโมเซเปียนส์ ทำผืนดินเสื่อมโทรมไปแล้ว 40%

ปัจจุบัน ผืนแผ่นดินบนโลกใบนี้ถูกทำให้เสื่อมโทรมไปแล้ว 40 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุหลักเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เรา โดยเฉพาะการทำเกษตรเพื่อสนองตอบการบริโภคที่เกินพอดี

อาจมาจากกาแฟที่เรากินในร้านหรูยามเช้า หรืออาจเกิดจากมื้อสเต็กราคาหลักร้อยในตอนกลางวัน หรือ ฯลฯ

นี่คือบทสรุปล่าสุดจากรายงานของสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (รายงาน Global Land Outlook 2)

“ในโลกที่บริโภคนิยมอย่างฟุ่มเฟือย ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทรัพยากรที่ดิน – ดิน น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพของเรา – กำลังหมดลงอย่างรวดเร็ว ในฐานะที่เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด”

คำนำของรายงาน

เนื้อหาของรายงานฉบับนี้อธิบายเอาไว้ว่า มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของแผ่นดินโลกเปลี่ยนแปลงไปตามกิจกรรมของมนุษย์ ในจำนวนนั้น เกิดความเสื่อมโทรมไปแล้ว 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่ามีผลผลิตทางชีววิทยาหรือเศรษฐกิจจะลดน้อยลงในอนาคต

โดยความเสื่อมโทรมของที่ดินจะทำให้คนยากจนเพิ่มขึ้น เกษตรจะตกงาน เพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินเดิมได้อีกต่อไป

มลพิษจากสารเคมีในการทำเกษตรสมัยใหม่ที่สะสมอยู่ภายในจะทำให้ผู้คนเจ็บป่วยกันมากขึ้น

ความเสื่อมโทรมของที่เกิดจากการบุกรุกแผ้วถางผืนป่าเพื่อทำเกษตรยังเสี่ยงให้ผลกระทบจากภัยธรรมชาติมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะไร้ซึ่งสิ่งใดๆ มากำบัง

มิพักต้องพูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่หายไป – เมื่อแมลงหดหาย ความอุดมสมบูรณ์ก็ลดลง สัตว์ป่าไม่มีที่อยู่อาศัย สุดท้ายต้องออกมาหากินร่วมกับผู้คน จนเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน และไปลงเอยที่ความสูญเสีย ทั้งยังเสี่ยงต่อการสัมผัสกับแหล่งรังโรคโดยตรง

ตลอดจนกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการขาดแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญไป

สถานการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความเสื่อมโทรมของที่ดินเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสังคมอื่นๆ ที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ในรายงานอธิบายไว้ว่า เรามีทางเลือกว่าจะแก้ไขหรือไม่สนใจใยดี ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ 3 ทาง ที่สามารถเกิดขึ้นแน่ภายในปี 2050 ได้แก่

1. ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างเดิม – หากเรายังคงใช้รูปแบบการบริโภคและการผลิตในปัจจุบันต่อไป เราจะสูญเสียพื้นที่เพิ่มอีก 16 ล้านตารางกิโลเมตร ภายในปี 2050 – ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีขนาดเท่ากับอเมริกาใต้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและความเสื่อมโทรมของดินจะปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ อีก 69 กิกะตัน สู่ชั้นบรรยากาศ (กิกะตัน แสดงถึงค่าหนึ่งพันล้าน) การเติบโตของผลผลิตพืชผลจะลดลง และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจะดำเนินต่อไป

2. หากเราฟื้นฟูพื้นที่ให้ได้ 35 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ดินของโลก ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น เกษตรกรรมอนุรักษ์ วนเกษตร และการปรับปรุงพื้นที่เลี้ยงสัตว์ การทำเช่นนี้จะทำให้ปริมาณคาร์บอนสะสมเพิ่มขึ้นแค่ 17 กิกะตัน (จาก 69 กิกะตัน ถ้าไม่ทำอะไรเลย) และเพิ่มผลผลิตพืชผล 5-10 เปอร์เซ็นต์ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่

3. ในกรณีที่เราทำทั้งฟื้นฟูที่เสื่อมโทรมและปกป้องไม่ให้เกิดการทำลายล้างเพิ่มอีก เราจะสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ ได้ 83 กิกะตัน และลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจากที่คาดการณ์ไว้ได้หนึ่งในสาม

ภายใต้สถานการณ์ที่พอจะมีความเป็นได้ โอกาสเดียวต้องสร้างระบบบูรณาการอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน

ตามรายงานอธิบายไว้ว่า การฟื้นฟูสามารถทำได้มากมากมายหลายรูปแบบ บางอย่างอาจต้องเปลี่ยนวิธีการทำฟาร์ม ปล่อยให้ดินรกร้างหรือปลูกพืชคลุมดินบำรุง ปรับปรุงวิธีกักเก็บน้ำฝน หรือปลูกต้นไม้เพิ่มเติมเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน

ที่ผ่านมาเกษตรกรจำนวนมากล้มเหลวในการดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้ เนื่องจากแรงกดดันในการผลิต ขาดความรู้ ธรรมาภิบาลท้องถิ่นที่ย่ำแย่ ตลอดจนขาดการเข้าถึงทรัพยากรจากการบริหารที่ผิดพลาดหน่วยงานที่รับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม ในรายงานอ้างว่า ทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ใช้ไปกับการฟื้นฟู จะผลตอบแทนระหว่าง 7-30 ดอลลาร์ สำหรับการผลิตที่เพิ่มขึ้นและผลประโยชน์อื่นๆ

ปัจจุบัน ประมาณครึ่งหนึ่งของผลผลิตทางเศรษฐกิจประจำปีของโลก หรือประมาณ 44 ล้านดอลลาร์ต่อปี กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากความเสื่อมโทรมของที่ดิน แต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการฟื้นฟูที่ดินที่เสื่อมโทรมอาจมีมูลค่าระหว่าง 125-140 ล้านดอลลาร์ต่อปี


อ้างอิง
Up to 40% of the World’s Land Is Degraded by Humans, UN Report Warns
UN says up to 40% of world’s land now degraded
Photo : United Nations Council to Combat Desertification

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน