ภารกิจ “ดักจับกวางผา” มาสวมปลอกคอ ความก้าวหน้าอีกขั้นของงานวิจัยกวางผาที่เชียงดาว

ภารกิจ “ดักจับกวางผา” มาสวมปลอกคอ ความก้าวหน้าอีกขั้นของงานวิจัยกวางผาที่เชียงดาว

ช่วงที่ผ่านมาโครงการฟื้นฟูประชากรกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวได้ทำการติดตามกวางผาจากปลอกคอสัญญาณดาวเทียมต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม

จากข้อมูลที่ได้ ทำให้เราทราบว่ากวางผา”จากการกรงเพาะเลี้ยงที่ถูกปล่อยสู่ป่า สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ในธรรมชาติได้เป็นอย่างดีและยังสามารถแข่งขันยึดครองพื้นที่หากินกับเจ้าถิ่นเดิมได้อย่างชัดเจน

ซึ่งหมายความถึงความแข็งแกร่ง และสัญญาณบวกของการดำรงชีวิต

และแม้จะเกิดการแย่งชิงพื้นที่กันกับกวางผาที่มีอยู่เดิม แต่กวางผาตัวที่แพ้ก็ไม่ได้เป็นอะไรมากนัก เพราะตามปกติ เมื่อกวางผาสองตัวมาชนกันเพื่อแย่งชิงพื้นที่ ตัวที่แพ้จะหนีไปหาพื้นที่เพื่อสร้างอาณาเขตและกลุ่มประชากรขึ้นมาใหม่

นอกจากนี้ จากการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมในทุกๆ 1 ชั่วโมง ทำให้เราทราบด้วยว่า ในหนึ่งวันกวางผาตัวนี้มีพฤติกรรมอย่างไรในถิ่นที่อยู่ ข้อมูลในส่วนนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีการเก็บและบันทึกอย่างละเอียดเหมือนคราวนี้มาก่อน (เดิมที มีแต่ข้อมูลพฤติกรรมในกรงเลี้ยง)

อย่างไรก็ตาม เพื่อเติมเต็มเรื่องราวงานศึกษาวิจัยกวางผาให้มีข้อมูลครบถ้วน ตอนนี้ทางทีมวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ได้ขยายขอบเขตการศึกษาไปสู่กวางผาในธรรมชาติจริงๆ (ที่ไม่ได้เกิดจากกรงเลี้ยง)

โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์มีนาคมที่ผ่านมา ทางทีมวิจัยจึงได้ดักจับกวางผามาใส่ปลอกคอสัญญาณดาวเทียมเรียบร้อยไปแล้ว  2 ตัว และเตรียมดำเนินการใส่ปลอกคอเพิ่มอีก 2 ตัว และมีเป้าหมายจับกวางผาที่อยู่ลึกเข้าไปใกล้บริเวณยอดดอยหลวงเชียงดาว

หลายคนอาจสงสัยว่า นักวิจัยมีวิธีการอย่างไรในการดักจับเจ้ากวางผาผู้ปราดเปรียว มาติดปลอกคอ วันนี้เราจึงนำภาพการทำงานของทีมสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวมาให้ได้ชมกัน

.

เจ้าหน้าที่ขนย้ายอุปกรณ์ในการทำกรงดักจับกวางผา เข้าไปยังจุดที่คัดเลือกไว้บริเวณทางขึ้นดอยหลวงเชียงดาว เป็นระยะทาง ประมาณ 5 กิโลเมตร
หลังจากสร้างกรงกับดักเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มลงมือในขั้นตอนที่สำคัญที่สุด นั่นคือการ ทำประตูกลไก นั่นเอง
ส่วนของที่จะอยู่ใกล้กับกวางผามากที่สุดก็เลือกใช้วัสดุในธรรมชาติ มาสร้างเป็นกลไก แล้วเอาใบไม้กลบทับด้านบนอีกที
สานไม้ไผ่เสร็จแล้ว ก็เตรียมวางไว้ในตำแหน่งที่คาดว่ากวางผาจะเดินมาเหยียบ หลังจากนั้นก็ต่อสายเชือกเข้ากับสลักที่ทำไว้อีกที
ระหว่างนี้ก็เตรียมคลุมตาข่ายให้ทั่วทั้งบริเวณด้านบนของกรง เพราะที่ผ่านมา กวางผาที่เข้ากรงกับดักแล้ว สามารถกระโดดหนีออกไปได้ แม้ว่ากรงจะสูงมากในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม
จัดการคลุมให้เรียบร้อย อย่าให้มีช่องโหว่
เตรียมติดกล้องดักถ่ายไว้ภายในกรง ในมุมที่สามารถเห็นพฤติกรรมของกวางผาได้อย่างชัดเจน
กวางผาที่ติดในกรงดัก จะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ เจ้าหน้าที่จะต้องตีวงล้อมแล้วใช้ตาข่ายไล่ต้อนกวางผาอีกที
เมื่อดักจับกวางผาได้สำเร็จแล้วก็ประสานงานกับสัตว์แพทย์ในพื้นที่ เพื่อทำการเก็บตัวอย่างเลือด ไปตรวจ
จัดการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมกับกวางผา โดยปรับระดับของสายให้พอเหมาะกับรอบคอกวางผา
ชั่งน้ำหนัก วัดความยาวของสัดส่วนเขา และความยาวของสัดส่วน ตัว หาง คอ ฯลฯ และบันทึกข้อมูลให้เรียบร้อย ก่อนปล่อยกวางผากลับคืนผืนป่า

.
เรื่องที่นำมาเล่าในหนนี้ เป็นเพียงภารกิจหนึ่งงานวิจัยและฟื้นฟูประชากรกวางผา ยังมีเรื่องราวอีกหลายภาคเกี่ยวกับการทำงานในพื้นที่ ที่จะนำมาเสนอให้ทราบในอนาคต

แต่หากอดใจรอไม่ไหว อ่านสปอยเนื้อเรื่องทั้งหมดได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้

แสงแห่งความหวังของ “กวางผา” บนดอยสูง

 

ผู้เขียน

+ posts

ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส