กวางผา ความหวังของสัตว์ป่าติดเกาะกลางผาสูง

กวางผา ความหวังของสัตว์ป่าติดเกาะกลางผาสูง

– 1 –

“วันนี้ บนยอดดอยแห่งนี้ยังมีกวางผา การทำความรู้จักกับชีวิตที่เอาตัวรอดมาได้ ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของภูเขาได้เช่นนี้ นับว่าเป็นเรื่องจำเป็น…”

ข้อความข้างต้นบันทึกไว้โดย ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพหนุ่ม ขณะติดตามและบันทึกเรื่องราวของกวางผาที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อประมาณปี 2534

“เป็นเพราะพี่สืบ (นาคะเสถียร) ได้ถ่ายทอดมาให้ผมเห็นว่าการไปที่นี่ทำให้เห็นอะไร แล้วผมก็ได้ไปเห็นอย่างที่พี่สืบเห็น ได้เห็นว่าทำไมคนต้องทุ่มเทเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าสัตว์ป่ากำลังเดือดร้อน ทำไมถึงต้องเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง ผมอยากบอกให้ผู้คนรู้ด้วยว่ากวางผากำลังอยู่ในสภาพแบบไหน” ม.ล.ปริญญากร ย้อนอดีตถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาสนใจติดตามบันทึกเรื่องราว ‘กวางผา’ สัตว์ปริศนาที่น้อยคนจะรู้จักในเวลานั้นลงบนแผ่นฟิล์ม

จากแรงบันดาลใจ สู่การค้นหา และเฝ้าติดตาม นานนับวันและแรมปี ในที่สุดเรื่องราวของกวางผาในสายตาและหัวใจของ ม.ล.ปริญญากร ก็ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างจากผลงานเรื่อง ‘ปริศนากวางผา “ม้าเทวดา” แห่งผาสูง’ ตีพิมพ์ขึ้นปกนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 136 มิถุนายน พ.ศ. 2539

‘ปริศนากวางผา “ม้าเทวดา” แห่งผาสูง’ เป็นงานเขียนที่เผยให้สาธารณชนได้เห็นภาพของกวางผาที่หาดูยากในเวลานั้น และให้เราได้รู้จักกับสัตว์ป่าอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทยที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะเจาะจงอยู่แค่ป่าผาสูงทางภาคเหนือของประเทศเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในท้ายบันทึกนั้น เจ้าของผลงานเขียนสรุปเรื่องราวไว้ด้วยความกังวลยิ่ง

“การเฝ้าติดตามชีวิตและพฤติกรรมของพวกเขาซึ่งยังเป็นปริศนาอยู่นั้นเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อรู้จักพวกเขาดีขึ้น เราอาจพบหนทางที่จะช่วยกวางผาได้บ้าง

“รัฐต้องให้ความสำคัญกับแผนการป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรของชาติมากกว่านี้ และให้มีการปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจังอย่างมีประสิทธิภาพ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ควรได้รับงบประมาณ กำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งวัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะอย่างครบถ้วน

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเร่งกระทำ

“เว้นเสียแต่ว่า เราจะปล่อยให้ชีวิตของกวางผาเป็นปริศนาแห่งผาสูงต่อไป จนกระทั่งถึงวันที่พวกเขา… “ม้าเทวดา” หมดสิ้นไปจากโลกนี้”

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ถูกบันทึกไว้เมื่อหลายปีก่อน

PHOTO : ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ / ดอยม่อนจอง

 

– 2 –

กวางผา ที่พบในประเทศไทย มีชื่อสามัญว่า Buemese Goral และชื่อวิทยาศาสตร์ Nemorhaedus evansi มีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวน หากมองผิวเผินอาจคิดว่าเป็นเลียงผา เพราะลักษณะโดยทั่วไปมีความคล้ายคลึงกัน และมีถิ่นที่อยู่อาศัยทับซ้อนกัน แต่กวางผานั้นมีขนาดเล็กกว่า

กวางผาจะมีขนสีน้ำตาลเทา (ส่วนเลียงผาที่โตเต็มไวจะมีสีดำ) บริเวณท้องมีสีจางกว่าลำตัว ขาหน้าทั้งสี่มีสีน้ำตาลแดง ขาท่อนล่างมีสีครีมคล้ายใส่ถุงเท้า บริเวณตา ริมฝีปาก คอ อก และโคนหางมีแต้มสีขาว เขาสั้นโค้งไปด้านหลัง หว่างเขาถึงหลังหูมีกระจุกขนเป็นยอดแหลมสีน้ำตาลเข้มชัดเจน และมีแผงขนสีน้ำตาลไหม้พาดผ่านจนถึงหาง หางสั้นและเป็นพุ่ม

ลักษณะนิสัยของกวางผาจะหากินบนที่ราบสูงที่เป็นภูเขาหรือหน้าผาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000–4,000 เมตร หากินทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ในช่วงที่อาหารสมบูรณ์มักเลือกกินเฉพาะยอดอ่อนของพืช ส่วนในฤดูแล้งที่น้ำมีจำกัดมันมักกินพืชที่มีลำต้นอวบน้ำมากกว่าปรกติ

เนื่องจากถิ่นที่หากินและถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผาคือบริเวณหน้าผาสูง ทำให้ในประเทศไทยสามารถพบเห็นกวางผาได้บนดอยทางภาคเหนือเท่านั้น เช่น อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ฯลฯ

ในเรื่องราวของความเชื่อ ชาวมูเซอเชื่อว่าม่อนจองเป็นดอยศักดิ์สิทธิ์ และกวางผาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเทวดา สามารถหายตัวได้ จากความแคล่วคล่องว่องไวกระโดดไปมาบนผาสูง กวางผา จึงถูกขนานนามว่า “ม้าเทวดา”

แต่กระนั้นในความเชื่อที่ดี ยังมีเรื่องที่ไม่ดีปะปน กวางผาต้องเผชิญกับการล่า เพราะมนุษย์อีกกลุ่มเชื่อว่า กระดูกสามารถนำไปทำยารักษาโรคได้

PHOTO : บารมี เต็มบุญเกียรติ / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว

 

– 3 –

งานรำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร (7-9 กันยายน 2561) เรื่องราวของกวางผาถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นของการเสวนาถึงสถานะปัจจุบันของสัตว์ผู้เป็นปริศนาแห่งอดีต

ข้อมูลจาก คุณมงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เปิดเผยว่า พบการกระจายประชากรของกวางผาอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ 9 แห่งทางภาคเหนือ และจากการนับจำนวนประชากร พบว่า มีกวางผาอยู่ประมาณ 288 ตัว พบมากที่สุดที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และอุทยานแห่งชาติอินทนนท์รองลงมา

การสำรวจจำนวนประชากรกวางผานั้นทำโดยการให้นักวิจัยไปประจำตามจุดต่างๆ เพื่อนับด้วยสายตา

“กวางผาเป็นสัตว์ที่หากินเป็นฝูง พื้นที่หากินก็จำเพาะ ในการนับจะใช้วิธีจำแนกเพศ และอายุ จะช่วยบอกได้ว่าในฝูงนี้เรานับซ้ำหรือเปล่า คนนับจะเป็นคนเดิมก็สังเกตได้”

“หากดูคร่าวๆ เราจะเห็นว่ากวางผามีหน้าตาเหมือนกัน แต่ถ้าเราจับตาดูอยู่ตลอดก็จะพบความแตกต่าง สามารถจำแนกได้ว่าเป็นคนละตัว ตรงนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ที่นับ แต่ก็ยอมรับว่าคงไม่ละเอียดมากนัก” คุณมงคลอธิบายวิธีการ

นอกจากจำนวนประชากรกวางผาในแหล่งหากินตามธรรมชาติแล้ว ประเทศไทยยังมีกวางผาอีกจำนวนหนึ่งอยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า คือ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจนสามารถปล่อยคืนป่าและเติบโตในธรรมชาติได้ ทั้งละอง ละมั่ง ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี หรือกรณีนกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์

กวางผาก็เป็นสัตว์ป่าอีกชนิดที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าแล้วปล่อยคืนกลับไปมีชีวิตในป่า

“เราปล่อยกวางผาคืนสู่ป่าไปแล้วทั้งหมด 56 ตัวครับ ทั้งที่อมก๋อย แม่เลา-แม่แสะ และที่อินทนนท์ครับ” คุณอดิสรณ์ กองเพิ่มพูล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย เล่าถึงผลงานที่ผ่านมา

ความสำคัญของการเพาะพันธุ์กวางผานั้น เนื่องจากกวางผาเปรียบเสมือนสัตว์ป่าที่กำลังติดอยู่บนเกาะ ในความเป็นเกาะตรงนี้ หมายถึงถิ่นที่อยู่อาศัยจำกัดอยู่ในวงแคบ มีหมู่บ้าน มีเหวล้อมรอบ มีโอกาสนำไปสู่การอินบรีด หรือผสมพันธุ์กันเองในระดับที่ใกล้ชิดมาก ทำให้กวางผารุ่นต่อๆ ไปอ่อนแอลง จึงจำเป็นต้องมีการขยายสายพันธุ์เพิ่มให้มากยิ่งขึ้น

“เราพยายามรวบรวมกวางผาแต่ละพื้นที่ที่สายเลือดต่างกัน เช่น จากอมก๋อย เชียงดาว แม่ปิง เอามาขยายพันธุ์ในพื้นที่เรา เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางสายพันธุ์ ป้องกันเรื่องการอินบรีด คิดว่าข้อมูลตรงนี้จะเป็นแนวทางให้พื้นที่ที่เคยมีแล้วตอนนี้มีน้อยหรือหมดไป ถ้าพื้นที่ยังมีศักยภาพให้กวางผาได้อยู่อาศัยเราก็จะไปทำการฟื้นฟูประชากรให้กลับมาอยู่ในพื้นที่อีกครั้ง” คุณอดิสรณ์ อธิบายเพิ่มเติมอย่างมีความหวัง

เวทีเสวนา กวางผา ตัวแทนสัตว์ป่าที่ติดเกาะ รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร 8 กันยายน 2561 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

– 4 –

ในคำบอกเล่าของคนทำงาน ชีวิตของกวางผาดูมีความหวังจากการร่วมแรงกันดูแลและฟื้นฟู

คุณมงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เล่าว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมีแผนทำโครงการสำรวจประชากร เพื่อส่งข้อมูลให้เพาะเลี้ยง เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเพาะพันธุ์ปล่อยคืนถิ่น และเพิ่มความหลากหลายทางสายพันธุ์ และต่อไปจะสำรวจมิติชีวิตของกวางผาให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงมาตรการจัดการบริหารพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เพิ่มเติมงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพให้เข้มข้นขึ้น เพื่อลดปัจจัยคุกคามต่างๆ ให้น้อยลง

ส่วนสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2563 สัตว์ป่าในกรงเลี้ยงจะต้องเพิ่มจำนวนสายพันธุ์ให้ไม่เกิดการอินบรีดได้สำเร็จ

แต่ในแง่ของชีวิตสัตว์ป่าสักตัว ดูเหมือนจะไม่ง่าย

จากข้อมูลที่นักสำรวจ นักวิจัย คนทำงานอนุรักษ์ ตลอดจนช่างภาพสัตว์ป่าที่ได้เข้าไปพบเห็นชีวิต ต่างเข้าใจว่าสิ่งที่คุกคามชีวิตของกวางผานั้นยังมี บางเรื่องเป็นสิ่งที่อาจเกิดจากความละเลยหรือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

ข้อมูลพื้นที่หากินของกวางผา ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา อธิบายเบื้องต้นได้ว่า กวางผาจะออกหากินและอยู่กันเป็นฝูง ใช้พื้นที่ประมาณรัศมี 200 เมตร แต่ละฝูงมีเส้นทางเดินประจำ นี่เป็นความเสี่ยงหนึ่งที่มาจากนิสัย

ขณะที่ศัตรูทางธรรมชาติของกวางผา ประกอบด้วย เสือไฟ เสือดาว หมาใน

ส่วนศัตรูที่ไม่ได้เป็นคู่อาฆาตทางธรรมชาติ คือ มนุษย์ ที่มากับการล่า และการท่องเที่ยว

น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์ อธิบายถึงความเสี่ยงที่อาจทำให้จำนวนประชากรกวางผาลดลงมาจากการปล่อยสัตว์เลี้ยงเข้าไปหากินในพื้นที่อนุรักษ์ หรือการทำปศุสัตว์

“มีข้อมูลว่าฝูงวัวบ้านเดินถึงยอดดอยอมก๋อย พบร่องรอยมูล กีบเท้าของวัวบ้านอยู่บนนั้น ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกวางผา”

“ในแว่นที่ผมเรียนมาเราเห็นเชื้อโรคที่สามารถแชร์กันได้ระหว่างสัตว์กีบคู่” น.สพ.ดร.บริพัตร อธิบายในสายตาของคนเป็นหมอรักษาสัตว์

หรือบางครั้งคนอาจเป็นพาหะนำเชื้อโรคจากชุมชนไปสู่ป่า

ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์ เล่าถึงความกังวลไว้ว่า ข้อมูลการเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยงหลายครั้งไม่ถูกส่งต่อไปยังปศุสัตว์จังหวัดทำให้นักวิจัยหรือสัตวแพทย์ไม่มีข้อมูลว่าในพื้นที่มีเชื้อโรคอะไรที่ต้องเฝ้าระวังอยู่บ้าง และที่สำคัญยังไม่มีการประเมินความเสี่ยงว่าการทำปศุสัตว์จะมีผลกระทบต่อกวางผาในด้านใดออกมาให้เห็น

กวางผา ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย / PHOTO : ธเนศ งามสม

 

– 5 –

ในงานรำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร นอกจากเวทีเสวนาเรื่องกวางผาแล้ว ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายชุด “ชีวิตเหนือภูผา” เพื่อฉายภาพชีวิตและถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผาให้สาธารณชนผู้เข้าร่วมชมงานได้เห็น

ผลงานที่จัดแสดงได้รับความอนุเคราะห์มาจากช่างภาพสัตว์ป่า ทั้งมืออาชีพมากประสบการณ์ มือสมัครเล่นที่รักการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกช่วงวันหยุด ไปจนถึงคนท้องถิ่นที่คาดหวังอยากให้ภาพกวางผาที่ตนบันทึกไว้ช่วยจุดประกายไฟแห่งการอนุรักษ์ให้สังคมได้หันมาเห็นถึงความสำคัญของกวางผา

ทำไมเราจึงต้องเอาเรื่องกวางผามาบอกเล่าสู่สาธารณชน ? ในมุมของช่าวงภาพสัตว์ป่าพวกเขามีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร ?

“เราจะปลุกกระแสอนุรักษ์อย่างไร ถ้ามีข้อมูลออกมา ก็มีนักวิจัยเข้าไปเก็บข้อมูล เราต้องเอาความรู้เข้าไปควบคุม การท่องเที่ยวทำให้บางคนไปรบกวนสัตว์ด้วยความไม่รู้ หน้าที่ของช่างภาพหรือนักสื่อความหมายต้องทำให้คนที่ไม่รู้ได้รู้ มันไม่ใช่เรื่องที่การอนุรักษ์ต้องปิดหรือบอกแค่บางคน เราต้องสร้างแนวร่วมและให้ความรู้แบบถูกวิธีเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน” คุณบารมี เต็มบุญเกียติ

“ผมเป็นคนในพื้นที่มือกะโด ก็นึกว่าจะทำอย่างไรให้กวางผาสามารถอยู่รอดในจุดใกล้ๆ บ้าน เลยตัดสินใจเข้าไปถ่ายภาพ และเอาภาพออกมาเผยแพร่ เพราะหวังว่าจะมีผู้ใหญ่เข้าไปดูแล” คุณพิพัฒพงษ์ มณฑนม

“กวางผามันติดอยู่ในเกาะ ผมพยายามบอกเรื่องนี้เพื่อบอกต่อว่า ปัญหาคือมันติดอยู่ในที่แคบๆ ผมคิดว่าเป็นปัญหาของสัตว์ป่าทั้งโลก เพราะที่อยู่อาศัยถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ”

“ที่ผมทำ และช่างภาพคนอื่นๆ นำเสนอในแง่มุมนี้ออกมาว่า มันกำลังเดือดร้อนยังไง หน้าที่ของผมคือบอกว่าสัตว์ป่าเป็นอย่างไร ส่วนหน้าที่ที่ลงมือทำโดยนักวิชาการก็ช่วยกันลงมือทำทุกคน”

“ผมคิดว่ากวางผาและสัตว์ป่าอื่นๆ ไม่ควรจะต้องสูญพันธุ์ก่อนแล้วค่อยมาฟื้นฟูทีหลัง” ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

นิทรรศการภาพถ่าย ชีวิตเหนือภูผา

 


เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ