‘เสบียงอาหาร’ ปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในงานตระเวนไพรของ ‘ผู้พิทักษ์ป่า’

‘เสบียงอาหาร’ ปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในงานตระเวนไพรของ ‘ผู้พิทักษ์ป่า’

ทรัพยากรทางธรรมชาติ ถือเป็นจุดกำเนิดของทุกสรรพสิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่นับวันยิ่งเติบโตไปตามยุคสมัยและการพัฒนาของสังคมเมือง แต่หากย้อนดูแล้วจุดกำเนิดของอากาศอันบริสุทธิ์ หรือทรัพยากรที่ถูกนำมาใช้สอยกันอย่างแพร่หลาย ล้วนมีที่มาจากจุดกำเนิดเดียวกันคือ ‘ธรรมชาติ’

นอกจากความร่มเย็น และทรัพยากรที่ถูกส่งต่อมาจากธรรมชาติแล้ว ‘สัตว์ป่า’ ยังถือเป็นปัจจัยชี้วัดสำคัญของความเจริญงอกงามและความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ยิ่งพบเห็นจำนวนสัตว์ป่าตามธรรมชาติมากเท่าไหร่ ก็สามารถตีความได้ว่า ผืนป่าแห่งนั้นมีความเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการปกปักษ์รักษา ‘ผืนป่า’ และ ‘สัตว์ป่า’ จึงเป็นหน้าที่ของ ‘ผู้พิทักษ์ป่า’

สุภาพบุรุษไพร ภายใต้ชุดเครื่องแบบลายพลาง (ลายป่าไม้) มีความสำคัญในงานป้องกันดูแลรักษาป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ และเขตพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ 

สำหรับ ‘ป่าตะวันตก’ อันเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ เปรียบเสมือนถูกถักโยงด้วยร่างแหเชื่อมรอยต่อติดกัน ถือเป็นเขตอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 12 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่คุ้มครอง 17 แห่ง ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร และตาก ประกอบไปด้วย 6 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และ 11 อุทยานแห่งชาติ

จากข้อมูลข้างต้นจึงเห็นได้ชัดว่า ผืนป่าตะวันตกมีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล การทำงานใน 17 พื้นที่คุ้มครองของผู้พิทักษ์ป่า จึงต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างในการสนับสนุนงานป้องกันดูแลรักษาป่า 

กองทัพต้องเดินด้วยท้อง

การลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า อาจใช้ ‘เท้า’ ซึ่งเป็นอวัยวะหลักในการย่างกรายเข้าตรวจตราพื้นที่อนุรักษ์ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พลังงานที่ผลักดันให้เกิดเรี่ยวแรงในการปฏิบัติหน้าที่ ล้วนมาจากการบริโภค ‘อาหาร’ 

รายงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้มีการระบุถึงจำนวนวันในการออกลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ในผืนป่า (โดยการประมาณ) โดยผู้พิทักษ์ป่าที่ปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวน ในอุทยานแห่งชาติ ต้องใช้ระยะเวลาในการลาดตระเวนประมาณ 14 วัน ต่อเดือน  ในขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องออกเดินลาดตระเวนถึง 20 วัน ต่อเดือน

จำนวนวันในการตระเวนไพรข้างต้น ถือเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงภาระงานที่ต้องใช้ความทรหดอดทนในการปฏิบัติหน้าที่ อาหาร หรือที่เรียกว่า ‘เสบียง’ จึงถือเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับผู้พิทักษ์ป่า

โครงการสะพานบุญเพื่อผู้พิทักษ์ป่า

การลาดตระเวนเพื่อป้องกันและดูแลรักษาป่า ถือเป็นการงานที่มีความเสี่ยงอันตรายเป็นอย่างมาก ทั้งจากผู้ที่ลักลอบกระทำผิดกฎหมาย ล่าสัตว์และรุกล้ำธรรมชาติ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าแทบทุกคนไม่มีสวัสดิการใด ๆ รวมไปถึงการขาดความพร้อมเรื่องเสบียงอาหาร ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงได้มีการจัดทำโครงการ ‘สะพานบุญเพื่อผู้พิทักษ์ป่า’ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเอกชน วัด และพื้นที่อนุรักษ์ โดยขอความอนุเคราะห์การสนับสนุนข้าวสาร อาหารแห้งจากวัดต่าง ๆ ที่ประชาชนได้มาทำบุญ ภายใต้แนวคิด นำสิ่งของที่ตกค้างของวัดต่าง ๆ นำมามอบให้ผู้พิทักษ์ป่า เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และเพิ่มศักยภาพในการทำงานต่อไป 

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 รถขนส่งที่บรรทุกพนักงานกว่า 5 ชีวิต พร้อมกับบรรดาเสบียงและของใช้จำเป็นที่ได้รับความอนุเคราะห์จากวัดต่าง ๆ ได้ขับมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งการส่งมอบเสบียงเพื่อผู้พิทักษ์ป่าในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของโครงการฯ

ความยากลำบากในการเดินทางในครั้งนี้ถูกบอกเล่าผ่านน้ำเสียงของ นายเทวฤทธิ์ ขันนาโพธิ์ ผู้จัดการฝ่ายบริการ บริษัท บาธรูม ดีไซน์ ไอ – สปา จำกัด

“ในวันที่คณะเดินทางนำสิ่งของไปมอบให้เขตฯ ห้วยขาแข้งนั้น ทุกคนต่างเห็นถึงความยากลำบากในการเดินทาง รวมถึงได้มองเห็นคุณค่าของผู้พิทักษ์ป่า ที่ทำหน้าที่ดูแลผืนป่าให้ดำรงไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ และดูแลปกป้องสัตว์ป่าจากการรุกรานของผู้ไม่หวังดี “

นายเทวฤทธิ์ เล่าต่อว่า หลังจากที่พนักงานขององค์กรได้ทราบถึงเรื่องราวของโครงการสะพานบุญเพื่อผู้พิทักษ์ป่า ทุกคนต่างให้ความร่วมมือ หลายคนดำเนินการติดต่อประสานงานกับวัดต่าง ๆ หลายคนอาสาเป็นผู้รับ – ส่งสิ่งของ รวมไปถึงขั้นตอนการคัดแยกแบ่งประเภทอาหาร ซึ่งต้องคอยดูด้วยว่าสิ่งที่ได้รับมาจากวัด มีอาหารและสิ่งของที่หมดอายุ และไม่สามารถใช้การได้หรือเปล่า

โดยเสบียงที่ได้ มาจากวัดต่าง ๆ ที่ประชาชนได้มาทำบุญ เบื้องต้นได้ประสานไปยังวัดนำร่องของโครงการฯ คือ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร วัดป่าห้าพระองค์ และวัดทับทิมแดง ซึ่งดำเนินการประสานงาน คัดแยกเสบียงอาหาร และส่งมอบโดยพนักงานของบริษัท  เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้ใช้ในการเดินลาดตระเวนป้องกันรักษาป่าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นขวัญกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงานในผืนป่า

“พอได้คุยกับเจ้าหน้าที่ เราจึงทราบได้โดยทันทีว่า จริง ๆ แล้วผู้พิทักษ์ป่าไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเดินลาดตระเวนเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยงานด้านต่าง ๆ ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ อย่างการทำแนวกันไฟ ดับไฟป่า ตลอดจนการเฝ้าระวังดูแลรักษาสัตว์ป่า ซึ่งเขามีหน้าที่รับผิดชอบเยอะมาก การที่เรานำของไปให้เขาก็ดีใจ บางคนบอกว่า สบู่นี่ใช้ยันปีหน้ายังไม่หมดเลย เราก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือพวกเขา แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม”

ผู้จัดการฝ่ายบริการ บริษัท บาธรูม ดีไซน์ ไอ-สปา จำกัด กล่าวทิ้งท้ายว่า สุดท้ายนี้แม้องค์กรจะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ที่เข้ามาให้การสนับสนุน แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าจะได้รับมากกว่าอาหาร หรือสิ่งของคือ ‘กำลังใจ’ ที่จะส่งผ่านจากผู้ให้สู่ผู้รับโดยตรง ทำให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้รับรู้ว่าเรื่องราวของพวกเขาว่าตนไม่ได้ถูกมองข้าม  

เสียงจาก (ผู้เฝ้า) ป่า

นายธานี วงศ์นาค หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หรือ ‘หัวหน้าถ่าน’ ได้อธิบายว่าเสบียงและของใช้ต่าง ๆ ล้วนจำเป็นอย่างมากสำหรับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากการได้รับสิ่งของและอาหารต่าง ๆ จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานลาดตระเวนของผู้พิทักษ์ป่า ดังนั้นการบริหารและจัดสรรสิ่งของประทังชีวิตขณะที่ดำเนินภารกิจอยู่จึงสำคัญมาก 

“เสบียงอาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า อย่างล่าสุดเรามีภารกิจเข้าตรวจตราพื้นที่ ซึ่งได้มีการจัดชุดเฉพาะกิจขึ้นมา เราก็ได้เสบียง – สิ่งของ ที่ได้รับมาจากโครงการฯ เข้าไปเสริม ซึ่งส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานมีระยะเวลาในการทำงานในพื้นที่ยาวนานมากขึ้น”

ประสบการณ์ทำงานในผืนป่ากว่า 20 ปี ของหัวหน้าถ่าน เป็นเครื่องการันตีถึงความรู้ความเข้าใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการทราบข้อเท็จจริงเรื่องความจำเป็นของเสบียงที่ต้องพร้อมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการเข้ามาให้การช่วยเหลือของโครงการสะพานบุญเพื่อผู้พิทักษ์ป่านั้น นอกจากจะทำให้ผู้พิทักษ์ป่ามีอาหารที่เพียงพอต่อการบริโภคแล้ว ก็ยังถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ด้วย  

“ถ้าดูกันจริง ๆ แล้ว เจ้าหน้าที่ของเราทำงานกันไม่ต่ำกว่า 48 ชั่วโมง ทั้งกลางวันและกลางคืน ในการลาดตระเวน มันไม่เหมือนงานปกติ เราต้องรับผิดชอบพื้นที่ตลอดไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นการใช้เสบียงมันจึงเกิดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการเข้ามาของเสบียงที่เกิดจากความอนุเคราะห์ของโครงการฯ มันก็ทำให้เรามีสต๊อกอาหารที่สามารถนำไปบริโภคได้ตลอดเวลา ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนมาก”

หัวหน้าถ่าน กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ‘ไม่ได้ลำบาก’ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทุกคนเข้าใจหน้าที่และบทบาทในการทำงานของตัวเอง เข้าใจลักษณะของภูมิประเทศที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดี ‘ความพร้อม’ ที่เกิดขึ้นจากการได้รับเสบียงและของสนับสนุนต่าง ๆ ที่คนภายนอกได้อนุเคราะห์บริจาคให้นั้น ถือเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนได้อิ่มท้อง และที่สุดคือ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคน มีกำลังใจมากขึ้นในการทำงานมากขึ้น

สำหรับโครงการสะพานบุญเพื่อผู้พิทักษ์ป่า จะดำเนินโครงการตลอดทั้งปี 2563 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเสบียงอาหารและของใช้ที่จำเป็นนำไปใช้ในการเดินลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วผืนป่าตะวันตก จำนวน 17 แห่ง

เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ อันจะส่งผลให้งานลาดตระเวนป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติเกิดประสิทธิภาพ

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรขอเชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งจากวัด ภาครัฐ ภาคเอกชน และสาธารณชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่า สัตว์ป่า ผ่านโครงการสะพานบุญผู้พิทักษ์ป่า เพื่อสนับสนุนด้านเสบียงอาหาร – ของใช้ที่จำเป็นให้กับคนดูแลป่า

ติดตามเรื่องราวของผู้พิทักษ์ป่าเพิ่มเติมได้ที่ www.seub.or.th/forestranger

 


บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ยิ่งบุญ จงสมชัย